18 มิถุนายน 2564

ข้ออักเสบรูมาตอยด์ ACR 2021

โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ นับว่าเป็นโรคที่มีการปรับปรุงแนวทางการรักษาบ่อยพอควร เนื่องจากมียาใหม่ ๆ จำพวกสารชีวภาพหรือยามุ่งเป้า แต่อย่างไรก็ดี ในการปรับปรุงคำแนะนำประจำปี 2021 ของวิทยาลัยโรคข้อของสหรัฐอเมริกา การรักษาพื้นฐานที่เราทำอยู่ก็ยังใช้ได้ดีมาก งั้นเรามาอ่านสรุปสิ่งที่น่ารู้ในแนวทางปรับปรุงอันใหม่นี้ (ACR 2021)

  1. การจัดการ การรักษา การใช้ยา จะแบ่งตามการกำเริบของโรคในขณะนั้น ดังนั้นการประเมิน disease activity ในทุกครั้งของการติดตามจึงสำคัญมาก เช่นการตรวจวัดค่า DAS-28 CRP  มีการตรวจข้อทุกข้อในแง่การบวมและเจ็บ คะแนนการเจ็บวัดระดับจาก 0-100 และการวัดค่าการอักเสบในเลือด  แล้วนำคะแนนมาแบ่งกลุ่ม โรคกำเริบมาก กำเริบปานกลาง และแทบไม่กำเริบ
  2. เน้นการใช้ยา DMARDs คือยาที่ไปแก้ไขพยาธิสภาพของโรคและป้องกันความพิการ ไม่เพียงแต่ลดปวดด้วยยาแก้ปวดต้านอักเสบ หรือใช้แต่ยาสเตียรอยด์ ในทุก ๆ ระยะของโรค การใช้ DMARDs มีความสำคัญมาก และ DMARDs ตัวที่สำคัญที่สุด ทรงประสิทธิภาพ มีการศึกษารองรับมากมาย ราคาถูก คือยา methotrexate นั่นเอง
  3. โดยเริ่มใช้ methotrexate ก่อนยา DMARDs ตัวอื่น ยาตัวอื่นจะใช้เพิ่มเข้าไป หรือใช้แทน methotrexate ในกรณีใช้ยานี้ไม่ได้ โดยเฉพาะในกลุ่มโรคตั้งแต่ปานกลางขึ้นไปและไม่เคยได้รับยา methotrexate มาก่อน ยิ่งต้องให้ความสำคัญกับยานี้ โดยเริ่มในขนาดสูงเลย 15 มิลลิกรัมต่อสัปดาห์ แล้วค่อยปรับยา 
  4. ในกรณีโรคไม่รุนแรง กำเริบน้อย จะเลือกใช้ยา hydroxychloroquine (มีผลแทรกซ้อนน้อยกว่า chloroquine แต่ถ้าที่ไหนไม่มีจะใช้ chloroquine แทนก็ได้)  หรือจะใช้ยา sulfasalazine แทน methotrexate หรือ leflunomide ก็ได้ เราต้องชั่งน้ำหนักผลดีผลเสียไงครับ ยา hydroxychloroquine และ sulfasalazine เป็นยา DMARDs ที่ประสิทธิภาพต่ำกว่า methotrexate แต่ผลเสียก็น้อยกว่าเช่นกัน
  5. ยาสเตียรอยด์ อาจจะใช้ในช่วงสั้น ๆ เริ่มรักษาหรือตอนที่โรคกำเริบ แต่ไม่แนะนำให้ใช้ระยะยาว ให้รีบลดขนาดและหยุด โดยให้เพิ่มยา DMARDs เข้าไปแทน ... ประเด็นนี้สำคัญมากนะครับ สเตียรอยด์ไม่ช่วยลดความพิการและความรุนแรง การกำเริบในระยะยาว แต่จะใช้เพียงคั่นเวลารอยา DMARDs ทำงานเต็มที่
  6. ในกรณี ไม่สามารถควบคุมโรคให้สงบหรือเข้าสู่ low disease activity ด้วยยา DMARDs ที่เราใช้กันมานาน ในขนาดที่เหมาะสมแล้ว แนะนำให้เริ่มยากลุ่มใหม่คือ สารชีวภาพ หรือ ยามุ่งเป้า แทนที่จะให้ยากลุ่มเดิมเพิ่มชนิดเข้าไป หรือรอนานเกินไป การควบคุมโรคให้สงบตามเป้าโดยเร็ว เป็นสิ่งสำคัญในการรักษา (treatment - to - target)
  7. เมื่อรักษาถึงเป้าหมายและคงที่ อย่างน้อยหกเดือน จึงจะเริ่มลดขนาดยาให้ต่ำที่สุด จนถึง DMARDs เพียงตัวเดียวในขนาดที่ควบคุมโรคได้ แน่นอนว่าให้เก็บ methotreaxate เอาไว้ดีที่สุด และหากในกรณีใช้สารชีวภาพหรือยามุ่งเป้า ก็แนะนำให้เหลือยากลุ่มนี้ไว้มากกว่า methotrexate

อ่านมาถึงตรงนี้ อย่าลืมว่านี่คือแนวทางเท่านั้น จะเลือกแบบใดต่างจากนี้ก็ได้ขึ้นกับ การตกลงของหมอและคนไข้ ทรัพยากรการรักษาที่มี และอย่าลืมว่ายามุ่งเป้าและสารชีวภาพ ราคาแพงมากและอาจมีผลข้างเคียงในระยะยาวได้ 

สำหรับการรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ในเงื่อนไขต่าง ๆ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของ American Colleges of Rheumatology  เช่น ในผู้ป่วยโรคปอด แม้ว่า methotraxate จะมีโอกาสเกิดพังผืดที่เนื้อปอด แต่สุดท้ายประโยชน์ยังมีมากกว่าโทษหลายเท่า  การตรวจและรักษาไวรัสตับอักเสบบีทั้งก่อนและขณะให้ยา DMARDs 

สรุปโดยรวมก็คือ พยายามให้ DMARDs ให้เร็วที่สุดและต่อเนื่องยาวนานที่สุด  และยาที่เป็นพระเอกตลอดกาลของโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์คือ metrotrexate เจ้าเก่าคนเดิมครับ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม