01 มีนาคม 2564

บาดเจ็บของเส้นประสาทมีเดียนในระดับสูงกว่าข้อศอก

 วิทยาศาสตร์แห่งการชูสามนิ้ว

การชูสามนิ้วมีหลายแบบ ใช้นิ้วชี้กลางนาง แสดงจำนวนนับสาม หรือใช้โป้งชี้กลางแทนการนับสามแบบเยอรมัน (ฉากไคลแม็กซ์จากเรื่อง inglorious bastard) หรือใช้กลางนางก้อย บอกว่าโอเค แต่ละคนใช้การชูสามนิ้วตามวัตถุประสงค์ของตน แต่บางคนชูสามนิ้วโดยบังคับไม่ได้

สำหรับการนับสามแบบเยอรมัน คือใช้ นิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง ทั้งสามนิ้วนี้ได้รับการควบคุมจากเส้นประสาทชื่อมีเดียน โดยควบคุมกล้ามเนื้อที่ใช้งอนิ้วมือชื่อ flexor digitorum profundus เส้นประสาทมีเดียนจะควบคุมการงอของข้อนิ้วข้อปลายของสองนิ้วที่ติดกับนิ้วหัวแม่มือ คือนิ้วชี้และนิ้วกลาง (ภาษากายวิภาคเรียก lateral half) ที่เหลือคุมด้วยเส้นประสาทอัลน่าร์

และกล้ามเนื้อที่ใช้งอนิ้วมือที่ชื่อ flexor digitorum superficialis ที่ทำหน้าที่งอนิ้วชี้ถึงนิ้วก้อย งอที่ข้อปลายนิ้วเป็นหลัก

เส้นประสาทมีเดียนยังควบคุมการงอของข้อนิ้วหัวแม่มือ โดยคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ flexor pollicis brevis อีกด้วย

หากมีการบาดเจ็บของเส้นประสาทมีเดียนในระดับสูงกว่าข้อศอก เช่นอุบัติเหตุ หรือข้อเคลื่อนจะทำให้การควบคุมการงอนิ้วชี้ นิ้วกลางและนิ้วหัวแม่มือบกพร่อง วิธีการทดสอบเรียกว่า Oschner's clasping test

คือให้ผู้ป่วยนั่งประสานมือประสานนิ้ว มาวางไว้บนโต๊ะ หากนิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ และนิ้วกลาง (นิ้วกลางอาจไม่กระทบเท่านิ้วอื่น) ชี้ออกมาเป็นการชูสามนิ้วแบบเยอรมัน แสดงว่างอไม่ได้ นั่นคือมีการบาดเจ็บของเส้นประสาทมีเดียน ระดับสูงกว่าศอกขึ้นไปนั่นเอง

ชื่อ Oschner มาจากศัลยแพทย์ชาวอเมริกันชื่อ Edward William Alton Ochsner ผู้คิดค้นการตรวจนี้ และสำหรับผมชื่อคุณหมอคนนี้คือคนสำคัญ เพราะท่านคือคุณหมอคนแรกที่ประกาศความสัมพันธ์ของการสูบบุหรี่กับการเกิดมะเร็งปอด ว่าเป็นเหตุเป็นผลกัน ไม่ใช่แค่สัมพันธ์กันเท่านั้น

ต่อไปผมจะชูสามนิ้วใส่พวกคุณล่ะนะ นิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้และนิ้วก้อย

อาจเป็นภาพระยะใกล้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม