06 มีนาคม 2564

กล้ามเนื้อรอบดวงตา เป็นแผ่นรูปวงกลมรอบดวงตาชื่อว่า orbicularis oculi

 กล้ามเนื้อรอบดวงตา เป็นแผ่นรูปวงกลมรอบดวงตาชื่อว่า orbicularis oculi เมื่อกล้ามเนื้อนี้ทำงานคือมีการบีบตัว รัดตัว รัดเข้าหาหัวตา ทำให้ช่องเปิดดวงตาเล็กลง (palpebral fissure) หรือพูดภาษาชาวบ้านว่า เมื่อกล้ามเนื้อนี้ทำงานคือการ หลับตา นั่นเอง

ในรายละเอียดเชิงกายวิภาคนั้น กล้ามเนื้อมัดเล็ก ๆ บาง ๆ นี้แบ่งออกได้เป็นสามส่วน แบ่งรับผิดชอบทั้งการหลับตาตามปฏิกิริยาธรรมชาติ เช่น กระพริบตา นอนหลับ ที่เป็นการควบคุมแบบอัตโนมัติ และการหลับตามโดยเราบังคับ เช่น ปิดตาเวลาดูหนังผี หรือ บีบไล่น้ำตา (การหลับตาจะขับน้ำตาออกจากพื้นที่ดวงตา ไปที่ท่อน้ำตา) รวมทั้งมีกล้ามเนื้อหัวคิ้ว กล้ามเนื้อหัวตามาช่วยปิดตาแน่นด้วย

เวลาที่คุณไปหาหมอ คุณหมออาจจะทดสอบการทำงานของกล้ามเนื้อมัดนี้โดยให้ลืมตา หลับตา หรือหลับตาแน่น ๆ ฝืนแรงพยายามเปิดตาของคุณหมอ เป็นการทดสอบเส้นประสาทที่มาควบคุมกล้ามเนื้อมัดนี้

เส้นประสาทที่ควบคุมการทำงานของ orbicularis oculi คือเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ชื่อว่า facial nerve เส้นประสาทเส้นยาวที่ควบคุมกล้ามเนื้อใบหน้าเกือบทั้งหมด หากเส้นประสาทนี้มีความผิดปกติเช่นถูกกดทับ หรือในกรณีที่เราพบบ่อยคือการอักเสบ จะทำให้การควบคุมกล้ามเนื้อจากเส้นประสาททำไม่ได้ ที่เราจะเห็นมุมปากยกไม่ขึ้น และหลับตาปิดตาไม่ได้ ในผู้ป่วยเส้นประสาทสมองอักเสบ Bell's palsy โดยมุมปากและหนังตาจะบกพร่องในด้านที่เส้นประสาทนั้นบกพร่อง

สำหรับใครที่สังเกตว่า ในผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกนั้น นอกจากแขนขาอ่อนแรงแล้ว ยังจะมีมุมปากยกไม่ขึ้นอีกด้วย นั่นเพราะศูนย์ควบคุมเซลล์ต้นกำเนิดเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 มันเสียหายไป เส้นประสาทสมองเองถึงปรกติแต่ก็ขาดการสั่งการ ภาพสุดท้ายออกมาคือมุมปากตกเหมือนกัน โดยอาจจะมีมุมปากตกในข้างเดียวกับแขนขาที่อ่อนแรงก็ได้ หรือคนละด้านก็ได้ ขึ้นกับตำแหน่งของหลอดเลือดที่ตีบตันที่เกิดโรค

แต่ทำไมผู้ป่วยอัมพาตจะยังปิดตาได้ดี ไหนว่าเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ขาดการควบคุม ก็เพราะเซลล์ที่ป็นต้นกำเนิดของเส้นประสาทสมองคู่ที่เจ็ด (ในส่วนการควบคุมการปิดตาและยักคิ้ว) ได้รับคำสั่งจากสมองทั้งสองข้าง ดังนั้นถึงสมองจะขาดเลือดไปซีกหนึ่ง การปิดตากระพริบตา จะยังมีสัญญาณการควบคุมบางส่วนมาจากสมองซีกที่ยังดีอยู่นั่นเองครับ

การตรวจร่างกายและแยกความเสียหายของเส้นประสาทสมองคู่ที่เจ็ดได้ ว่าเกิดที่ระดับใด (เส้นประสาทสมองคู่ที่เจ็ดที่ทางเดินยาวมาก) คุณหมอจะให้ยักคิ้ว มองด้านบน ปิดตาเปิดตา ปิดตาแน่น ยิ้ม เป่าลม เบะปาก เป็นการทดสอบ และบางครั้งจะทดสอบปฏิกิริยาการกระพริบตาโดยใช้สำลีสะอาดเขี่ยขอบตาดำ จะเกิดการกระพริบตาแบบอัตโนมัติ (corneal reflex)

ส่วนสาเหตุการอักเสบของเส้นประสาทสมองคู่ที่เจ็ดที่เราพบบ่อยหรือ Bell's palsy ยังไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนและหนักแน่นมากพอครับ บางครั้งเราจึงเรียกว่า idiopathic facial palsy ที่แปลว่าเกิดขึ้นเองครับ แต่ตอนนี้ก็มีหลักฐานว่าการปิดตาไม่สนิทนี้อาจจะเกิดจากการบาดเจ็บของหัวใจครับ หลักฐานนั้นคือ

"จะหลับตาลงไปได้อย่างไร หัวใจยังเจ็บ ไอ้หนุ่มกรุงเทพจะมาแย่งแฟน"

สวัสดีวันเสาร์ครับ

อาจเป็นภาพระยะใกล้ของ 1 คน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม