ยาฉีดอินซูลินในยุคนี้มีมากมายหลายแบบ ทั้งชนิดออกฤทธิ์สม่ำเสมอยาวนาน หรือออกฤทธิ์เร็วในระยะเวลาสั้น ๆ หรือเป็นแบบผสมที่ทั้งออกฤทธิ์สั้นและยาวช่วยควบคุมตามกลไกการหลั่งอินซูลิน แต่ไม่ว่าจะเป็นอินซูลินแบบใด ปัญหาสำคัญของการถือศีลอดคือ การปรับยาให้เข้ากับรูปแบบการใช้พลังงานที่เปลี่ยนให้ได้ ไม่อย่างนั้นจะเกิดน้ำตาลต่ำ
ไม่ว่าจะใช้อินซูลินแบบใด ข้อสำคัญคือ ต้องเรียนรู้อาการน้ำตาลต่ำและแก้ไขได้ ต้องเรียนรู้การปรับยา ต้องมีทักษะการเจาะตรวจน้ำตาลด้วยตัวเองทุกวัน อย่างน้อย 2-3 ครั้งต่อวัน
อินซูลินกลุ่มออกฤทธิ์ยาวนานสม่ำเสมอ จะมีโอกาสเกิดน้ำตาลต่ำไม่มากนัก หากเทียบกับแบบผสม ที่น่าสนใจคือคนที่ใช้อินซูลินแบบปั๊มเข้าร่างกายตลอดเวลา กลับพบอุบัติการณ์น้ำตาลต่ำน้อยมากในช่วงเดือนรอมฎอน อาจเป็นเพราะมีคนกลุ่มนี้เข้าถือศีลอดไม่มากนัก หรือเขามีทักษะการดูแลตัวเองที่ดี
🚩สำหรับอินซูลินที่ออกฤทธิ์ยาว ฉีดวันละหนึ่งถึงสองครั้ง เป็นทางเลือกที่ดีในช่วงถือศีลอด
-ใช้ยาวันละครั้ง ... ลดขนาดลง 15-30% และให้ฉีดหลังมื้อ iftar
-ใช้ยาวันละสองครั้ง ... ในมื้อ suhoor ให้ลดขนาดยาลง 50% ส่วนมื้อ iftar ให้ใช้ยาในขนาดเดิม
🚩สำหรับอินซูลินที่ออกฤทธิ์สั้น ฉีดวันละหลายครั้ง
- งดมื้อกลางวัน (ที่ต้องอดอาหาร)
- ในมื้อ iftar ฉีดตามปรกติ ในมื้อ suhoor ลดขนาดลง 25-50%
- ต้องมีการตรวจติดตามระดับน้ำตาล และวางแผนทำตารางการปรับยาตามระดับน้ำตาลเสมอ (sliding scale)
🚩สำหรับอินซูลินแบบผสม มีทั้งแบบออกฤทธิ์สั้นและยาว (Premix insulin)
-ใช้ยาวันละครั้ง ให้ยาเท่าเดิม ฉีดตอนมื้อ iftar
-ใช้ยาวันละสองครั้ง ในมื้อ iftar ให้ยาเท่าเดิม ส่วนในมื้อ suhoor ให้ลดขนาดยาลง 25 -50%
-ใช้ยาวันละสามครั้ง ให้งดมื้อกลางวัน และไม่มีสูตรการปรับที่ใช้ได้ชัดเจน ให้มาทำการปรับยาก่อนเข้าศีลอด และต้องติดตามน้ำตาลเพื่อปรับยาตลอดเวลาศีลอด อย่างน้อยปรับยาทุกสามวัน
🚩อินซูลินปั๊ม
- คิดเหมือนเบาหวานชนิดที่หนึ่ง หลังจากเริ่มอดอาหารในตอนเช้าให้ลดขนาดลง 20-40%
-หลังจากสิ้นสุดการอดอาหารและรับประทานอาหารมื้อ iftar แล้วให้เพิ่มขนาดยาอีก 1-20%
จะสังเกตว่าขอบเขตการปรับยามีกว้างมาก ขึ้นอยู่กับ พลังงานที่แต่ละคนใช้ในระหว่างวัน สภาพโรคเดิม ความเสี่ยงการเกิดน้ำตาลต่ำ ความพร้อมในการรับมือการถือศีลอด ต้องเข้ารับการอบรม ฝึกทักษะ และติดตามปรับการรักษาตลอดการถือศีลอดครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น