วันนี้นำเคล็ดลับทำสอบมาฝาก มาจากหนังสือ Short and OSCE Cases in Internal Medicine ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้กับทุกสาขาวิชาและอาชีพครับ ผมจะแทรกส่วนที่คิดว่าทุกสาขาวิชาก็นำไปใช้ได้ครับ
การสอบรายสั้นและการสอบ OSCE เป็นการสอบนักเรียนแพทย์แบบหนึ่ง การสอบรายสั้นโดยให้ตรวจร่างกายผู้ป่วยระบบใดระบบหนึ่งแล้วบอกโรคที่ผู้ป่วยเป็น แสดงทักษะการตรวจที่ครบถ้วนและถูกต้อง รวมทั้งนำเสนอต่อกรรมการสอบแบบกระชับและตอบการวินิจฉัยให้ถูก ภายในเวลาที่กำหนด ส่วนการสอบ OSCE เป็นการใช้ทักษะทางคลินิกมาแปลผล เช่นให้แปลผลกราฟคลื่นไฟฟ้าหัวใจ แปลผลเอ็กซเรย์ ตั้งกล้องจุลทรรศน์แล้วให้ดูและแปลผล แปลผลแล็บ ปีที่ผมสอบมีข้อสอบให้เปิดรหัสโรค ICD-10 ด้วยนะครับ
การเตรียมตัวสอบที่ดีจะช่วยเพิ่มความมั่นใจ ลดความตื่นเต้น และสามารถทำคะแนนได้ดี อาจสอบได้ที่หนึ่งเหมือนแอดมินบางเพจครับ
1. วางแผนแต่เนิ่น ๆ วางแผนให้พอ ยิ่งเรามีเวลามากก็ยิ่งดีมันก็จริงครับ แตชีวิตเรามีหลายอย่างให้ทำ ดังนั้น วางแผนให้พอครับ ต่อการสอบหนึ่งครั้งนี้ควรวางแผนประมาณ 6 เดือน เพื่อเพิ่มความมั่นใจ เวลาเตรียมตัวพร้อม คนให้คะแนนเขาดูออกนะครับ ตรงนี้ในทุกสาขาวิชาก้เหมือนกัน และเราไม่ได้เตรียมตัวแค่มีเวลามาก ๆ เท่านั้น เราต้องใส่รายละเอียดไปด้วย จึงจะบรรลุวัตถุประสงค์ ก็จะกล่าวในข้อถัดไป
2. เรียนรู้กรรมวิธีการสอบ กฎเกณฑ์ต่าง ๆ กติกาการให้คะแนน เรื่องพวกนี้จำเป็นครับ เพราะเราเก่งแค่ไหน หากทำไม่ได้วัตถุประสงค์การสอบในระยะเวลาอันสั้นนั้น เราก็ไม่ได้คะแนนครับ ไม่ว่าจะเป็นการสอบแพทย์หรือสอบวิชาใด กรรมการและหลักสูตรเขาจะแจ้งไว้เลยว่า สอบอะไร มีแบบใด มีเกณฑ์การให้คะแนนแบบไหน ผมว่ายุติธรรมดีครับ นอกจากจะระบุในคู่มือหลักสูตร ก็สามารถถามรุ่นพี่ได้ครับ
3. ให้เวลาในการฝึกประมาณสองชั่วโมงต่อวัน ทุกวันอย่างสม่ำเสมอ โดยอาจฝึกแยกต่างหากหรือทำเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนการปฏิบัติงานเลยก็ได้ และถ้าจะให้ดี ควรมีคนคอยให้ความเห็นว่าที่เราทำนั้น ถูกต้องเหมาะสมอย่างไร อะไรดี อะไรที่ควรแก้ไข ซึ่งถ้าสามารถมีกลุ่มที่เรียนด้วยกันก็จะเป็นประโยชน์มาก หรือจะเชิญอาจารย์มาช่วยก็ได้ครับ
3.1 ในข้อสามนี้ ถ้าจะให้ดีควรทำเป็นกลุ่ม
3.2 สามารถใช้ได้จริงเลยนะครับ เช่นหัดทำข้อสอบทุกวัน และตรวจสอบด้วยเฉลย ตอนผมเอ็นทรานซ์ผมก็ทำแบบนี้
3.3 นอกจากได้วิชา ยังฝึกการทำงานเป็นทีม การยอมรับและแก้ไขข้อผิดพลาดตัวเองอีกด้วย
4. เรียนเป็นกลุ่ม แน่นอนว่าดีกว่าเรียนคนเดียว ได้ช่วยกันอ่าน ช่วยกันติว ช่วยกันตรวจสอบ และยิ่งเป็นการสอบตรวจร่างกายแล้ว จะได้ผลัดกันตรวจครับ หาเพื่อนที่รู้ใจสักกลุ่มมาช่วยกันเรียน รับรองว่าประสิทธิผลสูงจริงครับ มันจะช่วยเพิ่มความกระตือรือร้นอีกด้วย
4.1 และทักษะสำคัญคือ การอยู่ร่วมกัน มารยาท ความเกรงใจ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ก็จะตามมาเช่นกันครับ
5. เชิญอาจารย์ที่ปรึกษาหรือรุ่นพี่มาช่วยให้คำแนะนำ เนื่องจากการตรวจร่างกายและการแปลผลทางคลินิก มันเป็นทักษะครับ คนที่ฝึกฝนมามากและมีชั่วโมงบินสูง จะสามารถให้คำแนะนำและ feedback ได้ดีครับ อาจจะเชิญมาที่กลุ่มเป้นบางครั้ง หรือเชิญส่วนตัวมาช่วยเป็นบางครั้งก็ได้ สำหรับน้อง ๆ ที่เรียนในสาขาวิชาใด ๆ ผมอยากบอกว่า อาจารยืที่ปรึกษาเขายินดีมาช่วยให้คำแนะนำเสมอครับ
5.1 ได้ฝึกทักษะการติดต่อกับผู้ใหญ่ การใช้คำพูด ความอ่อนน้อมถ่อมตน
6. ดูคนอื่นทำแล้วนำมาประยุกต์ใช้กับตัวเอง นอกจากการเรียนและฝึกฝนตัวเองแล้ว การได้ดูคนอื่นทำ การได้เห็นคนอื่นตรวจ จะช่วยปรับปรุงทักษะของเราได้ ถ้าเรียนเป็นกลุ่มอาจจะมีการผลัดกันวิจารณ์เพื่อปรับปรุงเพื่อน และตัวเราเองได้ข้อคิดด้วย
6.1 ฝึกยอมรับฟังคนอื่น และวิจารณ์คนอื่นอย่างสร้างสรรค์ เป็น soft skills ที่สำคัญมากในอนาคตครับ
7. อย่าขาดชั่วโมงเรียนการเรียนการสอนข้างเตียง อย่างที่บอก เรื่องนี้เป็นเรื่องของทักษะความเชี่ยวชาญ การฟังและดูผู้เชี่ยวชาญที่เขามาสอน เขาจะกลั่นเอาความรู้ ประสบการณ์ เทคนิคและข้อผิดพลาดมาบอกเรา ทำให้ย่นระยะเวลาการลองผิดลองถูกไปมาก หนังสือเขาให้ยกมือเป็นอาสาสมัครเวลาครูถาม "มีใครแสดงการตรวจให้ดูไหม" ด้วยนะครับ
7.1 การเรียนการสอนในห้องเรียนมีความสำคัญมากนะครับ แม้จะไม่ได้ข้อมูลความรู้ทั้งหมด แต่จะได้แก่นแห่งเนื้อหา ข้อสำคัญที่เอาไปใช้ได้จริง ที่ผู้สอนเตรียมมาให้
7.2 ฝึกความกล้าหาญครับ การยกมือแสดงความเห็นหรือเป็นตัวอย่าง ต้องมีความกล้าแสดงออกในสิ่งที่ดี
8. เพิ่มความรู้ด้วยการไปเรียนเพิ่ม ดูความรู้ทางสื่อต่าง ๆ สำหรับการเรียนแพทย์อาจจะเรียนเพิ่มจากสถาบันตัวเอง โดยการขอไปเรียนวิชาเลือก (elective) ที่สถาบันอื่น ผมเองเคยไปเรียนอีเล็กตีฟวิชาโรคต่อมไร้ท่อที่จุฬา ได้เห็นกรณีศึกษาและได้เห็นการตรวจที่มีเทคนิคต่างกันออกไป ทำให้เรา "คม" มากขึ้น ยิ่งปัจจุบันมีการเรียนออนไลน์เยอะมากและสะดวก สามารถหาความรู้เพิ่มเติมได้ง่ายมากครับ
8.1 น้อง ๆ ในสาขาวิชาใด อาจทำง่าย ๆ โดยไปอ่านตำราวิชาเดียวกันจากผู้เขียนคนอื่น แล้วนำมาเปรียบเทียบ เอาข้อดีข้อเก่งของแต่ละอันมาใช้ครับ
8.2 การฝึกเรียนรู้เพิ่มด้วยตัวเอง เป็นทักษะที่ได้และสำคัญมากเช่นกัน
9. เลือกตำราที่ดี เรื่องนี้อาจต้องดูรีวิว และขอคำแนะนำจากอาจารย์และรุ่นพี่ครับ จริงอยู่ว่าเราควรเรียนรู้เพื่อความเข้าใจจากตำรามาตรฐานและควรเรียนมากกว่าหนึ่งเล่มด้วย แต่ตำราเพื่อแนะนำวิธีสอบ หรือคู่มือสอบมันต่างออกไป จะเน้นที่ใช้ได้จริง จุดที่ผิดบ่อย มีคำย่อให้จดจำเตรียมสอบ (เพจ อ.ทัดดาว สอนนิวโร จะอุดมด้วยคำย่อครับ) สามารถไปเข้ากลุ่ม "รีวิวตำราแพทย์ ง่ายนิดเดียว" เพื่อศึกษาได้นะครับ อะแฮ่ม !!!
10. ฝึกฝนจนเป็นธรรมชาติ (practice makes perfect) คิดเสียว่าวันธรรมดาคือวันสอบ และวันสอบคือวันธรรมดา เตรียมตัวทุกขณะเวลาให้พร้อม ฝึกใช้วิธีและขั้นตอนที่ถูกต้องจนเคยชิน สุดท้ายทักษะจะเกิดกับน้องเองครับ
ขอให้น้อง ๆ ทุกคนประสบความสำเร็จในการเรียนการทำงานนะครับ
เรื่องเรียนไม่เคยหยุดพัก
เรื่องรักไม่เคยหยุดเพ้อ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น