เพื่อความเข้าใจเรื่อง แอนติบอดี ตอนที่สอง : ภูมิที่ชอบมาสาย
จากตอนที่แล้วเราเริ่มเข้าใจแอนติบอดีมาพอสมควร ใครไม่เข้าใจผมจะตีรวมว่าเข้าใจแล้วนะครับ (เฮ้ นี่ลุงตู่หรือลุงหมอเนี่ย ชอบเหมารวม) ว่าแอนติบอดีจะบ่งบอกว่าร่างกายเคยเจอสิ่งแปลกปลอมใดแบบเฉพาะเจาะจง โดยเฉพาะเราเคยสัมผัสโรคมาหรือไม่ ส่วนจะปกป้องได้ไหม มันอีกเรื่องหนึ่ง
แต่การตรวจพบแอนติบอดี มันไม่ได้เร็วอย่างที่เราคิดกัน กระบวนการสร้างแอนติบอดีมันต้องใช้เวลา เพราะกว่าจะจับเชื้อโรค กว่าจะวิเคราะห์ กว่าจะส่งข้อมูล สังเคราะห์ข้อมูลและสร้างแอนติบอดี มันต้องใช้เวลา (ร่างกายจึงต้องมีภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปเอาไว้ใช้ป้องกันด่านหน้าอีกชุด) สิ่งนี้บอกอะไรเราบ้าง
1. บอกว่าการจะตรวจแอนติบอดีต้องวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลที่สำคัญมากอันหนึ่ง คือ ระยะเวลาและอัตราการเปลี่ยนแปลงของระดับแอนติบอดี ถ้าเราตรวจเร็วไป แอนติบอดียังไม่สร้างหรือยังสร้างไม่ทัน ไม่เพียงพอจะตรวจจับ สิ่งที่พบคือ เรายังไม่พบแอนติบอดี ซึ่งอาจจะแปลว่า ไม่มีการสัมผัสสิ่งแปลกปลอมนั้นเกิดขึ้น หรือสัมผัสแต่ยังไม่ขึ้น นำมาสู่สิ่งที่เรียกว่า "ผลลบปลอม"
2. นอกจากผลลบปลอมแล้ว ยังสามารถมี "ผลบวกปลอม" ได้ด้วย เพราะเซลล์ที่สร้างภูมิคุ้มกันมันก็ไม่เก่งพอกันทุกคน มันอาจสร้างแอนติบอดีผิดพลาด ทำให้เราสัมผัสสิ่งหนึ่งแล้วไปตรวจพบอีกสิ่งหนึ่งได้ หรือแม้แต่สิ่งแปลกปลอมบางอย่างก็มีความคล้ายกับสิ่งอื่น แอนติบอดีที่ออกมาจึงอาจไปซ้ำกับสิ่งอื่น หมดความเฉพาะเจาะจง แปลผลยากขึ้นอีก
จากข้อจำกัดสองข้อที่ว่ามานี้ การแปลผลแอนติบอดีจะต้องร่วมกับประวัติการสัมผัสสิ่งแปลกปลอม ไล่เรียงลำดับเวลา และต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการสร้างแอนติบอดีที่ดีพอ ไม่สามารถดูแล้วแปลได้ทันที
ด้วยความที่มันต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร จึงอาจใช้เพื่อคัดกรองโรคในระยะแรกได้น้อยมาก ข้อใช้หลักคือ ใช้เพื่อวินิจฉัยโรค ใช้เพื่อตรวจสอบว่าเคยสัมผัสโรคมาก่อนหรือไม่ และการวินิจฉัยที่เป็นที่ยอมรับมากที่สุดคือ การติดตามการเปลี่ยนแปลงของแอนติบอดีว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรในช่วงสองถึงสามสัปดาห์ โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นอย่างน้อยสี่เท่าในช่วงเวลาประมาณสองสัปดาห์ (four fold rising)
และข้อผิดพลาดที่น่ากลัวที่สุด คือ ช่วงที่แอนติบอดียังไม่สามารถตรวจพบได้ที่เรียกว่า window period แล้วจะได้รับการแปลผลว่า ไม่เคยสัมผัส ปลอดภัย ไม่ติดเชื้อ อันนี้จะผิดมาก อีกอย่างคือระดับแอนติบอดีเมื่อสร้างไปนาน ๆ แล้ว หากไม่ได้รับการกระตุ้นหรือสิ่งแปลกปลอมนั้นหายไปแล้ว การสร้างลดลง ระดับแอนติบอดีจะลดลงจนไม่สามารถตรวจจับได้ อาจจะแปลผลว่าไม่เคยติดได้เช่นกัน ตัวอย่างที่ชัดคือ แอนติบอดีต่อไข้เลือดออก
อันนี้คือข้อจำกัดที่ต้องทราบ ในการใช้แอนติบอดีมาใช้เพื่อวินิจฉัยโรค
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น