ความจริงที่ซ่อนเร้นจากการคัดกรองมะเร็งปอด
มะเร็งปอดถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตหมายเลขหนึ่งของมะเร็งทั้งหมด การรักษาในระยะแรกนั้นมีประสิทธิภาพดีมาก แตกต่างจากการรักษาในระยะลุกลามอย่างชัดเจน การตรวจเพื่อคัดกรองหาผู้ป่วยระยะแรก ๆ จึงน่าสนใจอย่างยิ่ง
แต่เสียดายมากว่าแม้เทคโนโลยีเราจะก้าวหน้าไปเพียงใด เรายังตรวจคัดกรองได้น้อยและอัตราการเสียชีวิตไม่ลดลงเท่าไร ก่อนหน้านี้เรามีการศึกษาขนาดใหญ่ในอเมริกาชื่อ NSCT เพื่อคัดกรองมะเร็งปอด จนเป็นที่มาของคำแนะนำว่าคัดกรองในอายุ 55-80 ปี ในคนที่สูบบุหรี่มามากกว่า 30 ซองปี ที่ยังไม่เลิกหรือเลิกมาไม่เกิน 15 ปี ด้วยการทำเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ทรวงอกชนิด low dose CT คือไม่ได้ฉีดสารทึบรังสีและไม่ได้ใช้รังสีและการสแกนที่มากเท่าปรกติ ด้วยความถี่การทำปีละครั้ง
ฟากฝั่งยุโรปก็ได้ทำการศึกษาออกมาบ้างชื่อการศึกษา NELSON พิมพ์ใน NEJM วันที่ 27 มกราคม 2020ที่ผ่านมา การศึกษาทำในเนเธอร์แลนด์และเบลเยี่ยม โดยใช้การคัดกรองด้วย low dose CT เหมือนกัน และคราวนี้ติดตามอย่างน้อย 10 ปีเลย ในคนที่สูบบุหรี่จัด สูบมานาน อายุพอ ๆ กัน 55-70 ปี แต่ใช้พื้นฐานการคำนวณตรวจจับก้อนต่างกันเล็กน้อย (อันนี้คำนวณปริมาตร NCST จะคำนวณเส้นผ่านศูนย์กลาง) ในคนที่เข้าร่วมมีอัตราการติดตามสูงมาก ผลปรากฏว่าสามารถตรวจจับมะเร็งได้มากกว่ากลุ่มที่ไม่คัดกรอง และมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งน้อยลงกว่า 25%
ด้วยการศึกษานี้ทำให้แทบไม่มีข้อกังขาการคัดกรองมะเร็งปอดในคนอายุตั้งแต่ 55 ปีที่สูบบุหรี่จัดมาตลอด แต่หากใครอ่านดี ๆ ทั้งสองการศึกษาจะพบความจริงที่เร้นอยู่บ้างดังนี้ (จริง ๆ มีข้อที่เรารู้จากการศึกษานี้เยอะเลย)
- อัตราการเสียชีวิตที่ลดลงนี้ ต้องขึ้นอยู่กับว่า หากตรวจพบแล้วจะต้องเข้ารับการรักษาด้วย อย่างในการศึกษานี้ คนที่ตรวจพบได้รักษาและตรวจชิ้นเนื้อยืนยันต่อเนื่อง จึงแสดงผลลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งปอด ขนาดว่าการติดตามจากตรวจพบไปจนถึงรักษานั้นยังไม่สูงมากเท่าไร ก็ยังแสดงให้เห็นประโยชน์
- ส่วนหนึ่งที่ลดอัตราการเสียชีวิตได้เพราะตรวจพบมะเร็งระยะแรกได้เร็วกว่า มีการรักษาที่ประสิทธิภาพสูงกว่า ในเงื่อนไขที่ต้องเป็นกลุ่มที่ "ตรวจพบ" เท่านั้น มีจำนวน 204 รายจาก การคัดกรองทั้งสิ้น 6538 ราย
- แต่ว่าอีกเกือบส่วนหนึ่ง 141 รายจาก 6583 รายที่เข้ารับการคัดกรองแล้วตรวจแต่ "ไม่พบ" แล้วสุดท้ายเป็นมะเร็ง (คือผลลบปลอม) ที่ร้ายกว่าคือ ในบรรดาคนที่คัดกรองแต่ตรวจไม่พบนี้ เป็นมะเร็งระยะ 4 ถึง 51.8% นั่นคือวิธีที่ว่าดีที่สุดนี้ ก็ยังหลุดได้พอควร ไม่ว่าจะเป็นข้อจำกัดของการตรวจ หรือเป็นเพราะมะเร็งที่หลุดจากการตรวจมันก็ร้ายแรงจริง ขนาดตรวจถี่ยังโตเร็วกว่าที่จะตรวจได้
แสดงว่า เราต้องคิดก่อนว่าจะไปตรวจ หรือหมอจะส่งตรวจแล้ว จะต้องตรวจซ้ำไปอีกหากคนที่เข้าตรวจยังเสี่ยง ไม่ใช่ครั้งเดียวเลิกหรือนาน ๆ ปีค่อยตรวจ ไม่ตรงตามกำหนดอันนี้ก็จะสูญเปล่า หากตรวจแล้วไม่สามารถวางแผนรักษาได้ดีหากตรวจพบ ไม่ว่าการผ่าตัด ฉายแสง ให้ยา การตรวจก็ดูจะไม่เกิดประโยชน์เช่นกัน ที่สำคัญคืออย่าเข้าใจว่าพอเอ็กซเรย์ไม่พบแล้วจะสบายใจ กลับไปสูบบุหรี่รับความเสี่ยงตามเดิมได้ เพราะตรวจไม่เจอได้เหมือนกันนะ
และหากไปติดตามสาเหตุการเสียชีวิตจากกลุ่มที่ศึกษา สูบบุหรี่กันมาประมาณ 40 มวนปี ส่วนมากก็ยังสูบอยู่ สูบตั้งแต่วัยรุ่น เราคิดว่าคงตายเพราะมะเร็งปอดกันแน่ ๆ ใช่ไหมครับ ปรากฏว่าตายเพราะมะเร็งปอดแค่ 21.4% เท่านั้น !!!
- พบมะเร็งอื่นถึง 35%
- โรคหัวใจและหลอดเลือด 21.4% เท่ามะเร็งปอดเลย
และสาเหตุเกินครึ่งที่ไม่ได้เกิดจากมะเร็งปอดนี้ ก็ยังไม่มีวิธีใดคัดกรองได้เสียด้วย ดังนั้น วิธีที่ดีกว่าคือ การเลิกสูบบุหรี่ เป็นการลดความเสี่ยงที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดนั่นเอง !!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น