L-cysteine การศึกษาและยาใหม่ที่จะมาช่วยเลิกบุหรี่
วิธีหลักที่สำคัญในการเลิกบุหรี่ คือ เอาชนะนิโคติน ไม่ว่าจะเป็นการใช้จิตใจ ความร่วมมือทางพฤติกรรมบำบัด การใช้สารชดเชยนิโคติน หรือยาอดบุหรี่ที่ไปยับยั้งผลของนิโคติน ตอนนี้เรามีเพิ่มมาอีกหนึ่งวิธี
มีการศึกษาว่า acetaldehyde นอกจากจะเป็นสารก่อมะเร็งและอันตรายต่าง ๆ มากมายจากการสูบบุหรี่แล้ว เจ้าสาร Acetaldehyde ยังมีผลช่วยนิโคตินเพื่อทำให้เสพติดมากขึ้นอีก โดยจะเพิ่มการเสพนิโคตินและทำให้เราดื้อนิโคตินต่อไป (จึงต้องใส่นิโคตินมากขึ้น) และสารอะเซตัลดีไฮด์นี้จะมีมากตอนที่เราสูบบุหรี่ โดยเฉพาะในช่องปากของเรา
มีกลไกทางชีวเคมีอีกมากมายที่ขอไม่กล่าวถึง ตั้งแต่เกิดสารอะเซตัลดีไฮด์ ไปจับสารนู่นนี่นั่น จนสุดท้ายไปออกฤทธิ์ที่สมอง แต่ประเด็นอยู่ที่เจ้าสารนี้มักมีมากในช่องปากและน้ำลาย หากเราสามารถหยุดยั้งสารนี้ไม่ให้ทำงานได้ มันก็ไม่สามารถไปช่วยนิโคตินได้ แถมอาจจะมีอันตรายต่อร่างกายน้อยลงด้วย
มีการคิดค้นสาร slow-relaesed L-cysteine ในรูปแบบลูกอม ที่จะละลายช้า ๆ ในปาก เมื่ออมพร้อมสูบบุหรี่จะไปหยุดยั้งสารอะเซตัลดีไฮด์ได้ในระดับหนึ่ง สูบเมื่อไรก็อม การศึกษาในเชิงสารเคมีก็ลดอะเซตัลดีไฮด์ได้จริง การศึกษาในคนเทียบลูกอมจริงกับลูกอมหลอก ก็พบว่าช่วยเพิ่มความสำเร็จการเลิกบุหรี่ได้ การศึกษานี้ทั้งสองนี้ทำจากประเทศฟินแลนด์ โดยศาสตราจารย์ Kari Syrjanen (เหนือตัวเอมีจุดสองจุด) ลงตีพิมพ์ในวารสาร anticancer research ในปี 2016 และ 2017 แม้รายละเอียดจากการศึกษาจะยังมีข้อสังเกตอีกมากเกี่ยวกับ internal validity ของข้อมูล แต่ก็พอบอกได้ว่า L-Cysteine น่าจะมาเป็นตัวช่วยเลิกบุหรี่ที่มีประสิทธิภาพ ไม่มีผลข้างเคียง และใช้ง่าย
อีกหนึ่งประเด็นของการศึกษายานี้ เหมือนกับการศึกษาเรื่องเลิกบุหรี่โดยทั่วไปคือ คนที่ติดตามการศึกษาจนจบน้อยมาก ออกจากการศึกษาเยอะมาก จนต้องคิดผลการวิจัยแยกว่าระหว่างคนที่เข้ามาในการศึกษาทั้งหมด เหมารวมคนที่ออกกลางคัน กับคิดเฉพาะคนที่ติดตามการศึกษาจนสิ้นสุดจริง ๆ คือ ใจสู้ไม่ถอดใจ เราจะพบว่าประสิทธิภาพของยาตัวนี้จะสูงเฉพาะกลุ่มที่ติดตามการศึกษาและใช้ยาจนสิ้นสุดการศึกษาเท่านั้น หรือจะต้องเป็นคนที่มีพลังใจและตั้งใจสูงมากกับการเลิกบุหรี่ไม่ว่าจะมีอุปสรรคใด ๆ
*** ความตั้งใจเลิกบุหรี่ ยังคงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับกระบวนการเลิกบุหรี่ ***
และเราน่าจะมีอาวุธมาช่วยเลิกบุหรี่เพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งชนิด ก็น่าสนใจดีเหมือนกันครับ
Anticancer Research July 2017 vol. 37 no. 7 3639-3648
Anticancer Research May 2016 vol. 36 no. 5 2297-2306
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น