21 มีนาคม 2563

มุมมองของลุงหมอ เรื่องไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ตอนที่หนึ่ง : ชุดข้อมูลความรู้

มุมมองของลุงหมอ เรื่องไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ตอนที่หนึ่ง : ชุดข้อมูลความรู้

ต้องยอมรับว่าเรารู้จักโรคนี้มาไม่นาน เอาจริง ๆ คือไม่เกินห้าเดือน และข้อมูลต่าง ๆ ที่หลั่งไหลออกมาตอนนี้ก็เพราะว่าประเทศจีน แหล่งระบาดของโรคที่สำคัญที่สุด จำนวนผู้เจ็บป่วยมากสุด ได้ทำงานวิจัยสมบูรณ์ออกมาแล้ว 

ก่อนหน้านี้จะมีแต่รายงานเบื้องต้น ที่เรียกว่า preliminary report ที่แปรเปลี่ยนตามสถานการณ์ จะเห็นได้ว่าตัวเลขอัตราการเสียชีวิต (case fatality) จากสี่เปอร์เซนต์กว่า ๆ ลดมาเป็น 3.8 มาเป็น 3.2 มาเป็น 1.4 และล่าสุดที่ 0.8% 

แต่งานวิจัยตอนนี้เรียกว่า complete และ peer-review เรียบร้อยเลย เราได้เรียนรู้ว่าโรคมันไม่ได้รุนแรงมากนัก แม้จะแพร่กระจายเร็วก็ตาม เรารู้ถึงวิธีการต่อสู้ การควบคุมพื้นที่ระบาด การป้องกันตัวเอง การใช้ยา ข้อมูลทั้งหมดเป็น case series ทั้งสิ้น แต่ก็เป็นข้อมูลที่ดีที่สุดเท่าที่เรามี น่าเชื่อที่สุด ก็พอสรุปได้ว่า โรคโควิดนี้ มันมีความคล้ายคลึงโรคหวัดผสมโรคซารส์ การติดต่อเรียกว่าติดง่ายเท่า ๆ โรคหวัด หรือไข้หวัดใหญ่ โดยทางละอองไม่ฝอย ไม่ลอยในอากาศ ก่อโรคได้รุนแรงกว่าหวัด แต่ไม่ได้แรงเท่าซารส์ 

จึงเกิดปรากฏการณ์ติดง่ายหายเร็วเกิดขึ้น พวกที่รุนแรง ไม่ได้มากไปกว่าตัวเลขความรุนแรงจากโรคอื่น ๆ เลย อันนี้คือ fact จากงานวิจัยของจีน 

อีกไม่นานคงจะมี fact จากญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี อิตาลี อิหร่าน ออกมาอีก ซึ่งชุดความจริงเหล่านี้ก็จะเปลี่ยนแปลงตามรายละเอียดแต่ละประเทศ ด้วยเหตุต่าง ๆ ดังนี้

1. host คือ ตัวคน เรายังไม่รู้เลยว่า genetic susceptibility ของแต่ละเชื้อชาติ ต่อโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เป็นอย่างไร บางทีเชื้อชาติเอเชียตะวันออกอาจจะติดมากกว่า มีพันธุกรรมบางอย่างก็ได้ 

เรารู้ว่าเด็กติดน้อยกว่า ความรุนแรงน้อยกว่า เรารู้ว่าคนที่ไม่แข็งแรงมีโอกาสเกิดผลแทรกซ้อนได้มากกว่า ซึ่งแทบจะไม่ต่างจากสิ่งที่รู้มาเดิมสักเท่าไร 

2. organism คือเชื้อ SARs-CoV2 แน่นอนว่าจะต้องมีการกลายพันธุ์ การปรับตัวแน่นอน เชิ้อตัวแรก กับเชื้อตัวนี้อาจจะมีความรุนแรงและความสามารถในการแพร่เชื้อที่ต่างกัน มันจะเอามาเทียบกันได้ยาก เหมือนวัณโรคปรกติกับวัณโรคดื้อยา ย่อมมาเทียบกันและใช้วิธีการจัดการเหมือนกันไม่ได้ 

3.environment อัตราการแพร่เชื้อ อัตราการป่วย อัตราการตาย คงขึ้นกับนโยบายการรับมือของแต่ละประเทศ ที่มีบริบทสังคม เศรษฐกิจ ความเชื่อ ที่ต่างกัน เป็นตัวแปรที่ทำให้อัตราของแต่ละชาติไม่เหมือนกัน อย่าเอามาเทียบกัน

สภาพอากาศ ภูมิประเทศ การคมนาคม การย้ายที่อยู่ ก็ทำให้การแพร่กระจายต่างกันอีก

จะเห็นว่าชุดความรู้จะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ นะครับ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม