18 พฤศจิกายน 2562

ยุคแห่งความเร็ว digital disruption มากระทบทางการแพทย์

ยุคแห่งความเร็ว ปลาเร็วกินปลาช้าและ digital disruption มากระทบทางการแพทย์เช่นกัน
ขณะนี้มีข่าวสารมากมายหลั่งไหลออกมาจากงานประชุมสมาคมแพทย์โรคหัวใจอเมริกา ทุกช่องทางข่าวสารทางการแพทย์เต็มไปด้วยข่าวสารจากงานนี้ ไม่ใช่เพียงงานนี้เท่านั้น
เกือบทุกเดือน เกือบทุกสัปดาห์จะมีงานประชุมวิชาการทางการแพทย์ในระดับนานาชาติ วนเวียนไปในทุกสาขาการแพทย์ และะในทุกครั้งจะมีข่าวการศึกษาใหม่ ๆ ของการวินิจฉัย การรักษา ตัวยาและการคิดค้นใหม่ ๆ เรียกว่าเป็นที่ฮือฮา ผู้คนให้ความสนใจ ผมอยากฝากข้อคิดไว้สองด้าน
😀😀 ด้านแรก ประโยชน์
แน่นอนว่าในเวลาที่เรื่องราวยังอยู่ในกระแสและ "ร้อนฉ่า" ย่อมมีคนสนใจ พูดถึงประเด็นนี้พร้อม ๆ กัน เป็นการกระตุ้นการเรียนรู้และพัฒนาที่ดี ผู้เชี่ยวชาญหลายคนออกมาวิจารณ์ทำให้เราได้มุมมองใหม่ ๆ
วารสารต่าง ๆ ก็ออกหัวเรื่องที่อยู่ในงานประชุมเพื่อดึงดูดผู้อ่าน สามารถกระตุ้นยอดเข้าชมหรือยอดทางธุรกิจ หรือแม้แต่บริษัทเวชภัณฑ์ต่าง ๆ ก็มักจะประกาศตัวผลิตภัณฑ์หรือข้อบ่งชี้ใหม่ ๆ พร้อม ๆ กับงานประชุม เป็นการโฆษณาที่ทรงประสิทธิภาพ
แหล่งข่าวต่าง ๆ จะพาดหัวให้เร้าใจ น่าอ่าน เพราะโลกยุคนี้มันเร็วและอยู่ที่ปลายนิ้ว หากข่าวสารไม่เร้าใจจะถูกผ่านไปอย่างง่ายดาย โอกาสจะกลับมาอ่านใหม่น้อยมาก หากไม่สนใจจริง เพราะทะเลแห่งข้อมูลมันมากมายมหาศาล ข่าวสารที่เข้มข้นน่าสนใจหนึ่งหยด จะแทบจางหายไปทันทีในมหาสมุทรข้อมูล
ผมเองก็มักใช้โอกาสนี้สื่อสารกับผู้อ่านบ่อยครั้ง ใช้โอกาสนี้เก็บเกี่ยวข่าวสารที่มากมาย ใช้โอกาสนี้เก็บเกี่ยวประโยชน์ทั้งฟังฟรี วารสารฟรี บ่อยครั้งมาก
😟😟 อีกด้านหนึ่ง ผลเสีย
ด้วยความที่มันเร็วมากและต้องแข่งกับข้อมูลอื่น ๆ ทำให้เนื้อหาหรือพาดหัวอาจจะไม่ครบถ้วน ถ้าสนใจต้องไปศึกษาเองหรือตั้งคำถามเอง หากผู้เสพเอาแต่หยิบชิ้นปลามันที่สวย ๆ มาเป็นความรู้สำเร็จ หรือนำไปต่อยอด นำไปใช้โดยที่ไม่มองให้ครอบคลุม อาจจะพลาดในบางประเด็นสำคัญได้
ข้อมูลที่ออกมาถือว่าสดใหม่ น่าตื่นเต้น บางอย่างยังไม่ได้กรองหรือยังไม่ได้รับการวิจารณ์ดูในทุก ๆ มุมมองทุกมิติ หรือตัดส่วนได้ส่วนเสียในเชิงประโยชน์ทับซ้อนออกไป
😲😲 แล้วใครล่ะที่จะมาช่วยเรา ... มันก็ตัวเราเองนี่แหละ
เราจะต้องมีความรู้ทักษะ ในการวิเคราะห์ข้อมูลสูงมาก ต้องหูไวตาไว รู้เท่ารู้ทัน การศึกษาที่ออกมา รู้จักข้อดีข้อจำกัด รู้จักอ่านละเอียด ตื่นเต้นกับข้อมูลได้แต่อย่าไปตื่นตูมหรือตกใจ ทักษะสำคัญสำหรับทุกคนคือ ตรวจสอบข้อมูลและรู้จักสกัดข้อมูลที่เป็น essential fact ออกมาจากข้อมูลดิบทั้งหลาย ใช้หลักกาลามสูตร อย่าเพิ่งเชื่อเพราะเป็นวารสารดัง สำนักข่าวใหญ่ เราต้องใช้หลัก คิด วิเคราะห์ แยกแยะเสมอ
ตัวอย่างเช่น แนวทางการจัดการโรคอันใหม่ออกมา ก่อนที่เราจะใช้มัน เราต้องมาดูว่าที่มามันเป็นอย่างไร มันเข้ากับคนไข้ของเราหรือไม่ แล้วจะรู้อย่างไร เราก็ต้องไปดูที่มาว่ามาจากงานวิจัยต้นฉบับใด มันเอามาใช้กับคนไข้เราตามบริบทจริงและตามข้อกำหนดงานวิจัยได้หรือไม่ ห้ามอ่านตารางสรุปแล้วหยิบไปใช้เลยโดยไม่เข้าใจ
สิ่งต่าง ๆ ที่เร็วขึ้น สะดวกสบายขึ้น มันมีข้อดีและข้อจำกัด ถ้าเราใช้เป็นและรู้เท่าทันจะเป็นประโยชน์มหาศาล เปรียบดั่งพญาหงส์ที่ติดปีกอยู่แล้ว ใส่เทอร์โบมาเน่เข้าไป ต่อให้เรือใบและย่าสวย เข้มแข็งปานใด ก็หาอยู่ในสายตาไม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม