ห้าร้อยกว่าปีก่อน มหาบุรุษอุโฆษนามผู้หนึ่ง เลโอนาร์โด ดาวินชี ได้สังเกตอวัยวะหนึ่งของมนุษย์ในขณะที่เขาวาดภาพกายวิภาคจากศพ อวัยวะที่เป็นติ่งยาวต่องแต่งนี้ กลายเป็นที่ถกเถียงกันจนถึงปัจจุบัน วันนี้เราจะมาเล่าเรื่องยาวเกี่ยวกับ appendix หรือไส้ติ่งครับ
ก่อนจะไปสู่เรื่องราวในอดีต ความรู้เบื้องต้นของไส้ติ่งคือเป็นลำไส้สมบูรณ์ มีผิว มีกล้ามเนื้อ มีเนื้อเยื่อน้ำเหลือง มีหลอดเลือดดำแดงมาเลี้ยง เพียงแต่ขนาดเล็กมาก ยื่นออกมาจากลำไส้ใหญ่ส่วนต้นที่สุดที่เรียกว่า ซีกัม ในตำแหน่งรอยต่อกับลำไส้เล็กส่วนปลายที่เรียกว่า อีเลียม หากมองจากภาพภายนอกจะอยู่ตรงท้องน้อยด้านขวา เราลองเท้าเอว ไส้ติ่งจะอยู่ประมาณปลายนิ้วนางมือขวา
เมื่อห้าร้อยปีที่แล้ว ครั้งเมื่อดาวินชีสังเกตเห็นไส้ติ่งและบันทึกรูปภาพไว้ ดาวินชีเองก็ไม่รู้ว่ามีไว้เพื่ออะไรเช่นกันเพียงแต่ตั้งสมมุติฐานว่า "หู" ของลำไส้ใหญ่นี้น่าจะมีหน้าที่เป็นบริเวณรองรับแก๊สสำรองเวลามีแก๊สมากในลำไส้ ในอีกห้าสิบปีให้หลัง อังเดร เวอซาเลียส นักกายวิภาคอันยิ่งยงได้ตั้งชื่อ "หู" ของลำไส้ใหญ่นี้ว่า appendix ในช่วงศตวรรษที่สิบหกมีการค้นพบทางกายวิภาคมากมาย และเริ่มมีความคิดว่าไส้ติ่งน่าจะเป็นอวัยวะที่หลงเหลือจากการเจริญเติบโตในวัยทารก ตอนที่อยู่ในท้องใช้เก็บอุจจาระ เพราะในยุคนั้นเคยมีการผ่าศพคนที่ตายเพราะปวดท้องน้อยด้านขวา พบว่าไส้ติ่งบวมและมีก้อนอุจจาระแข็งอยู่ด้านใน
ปี 1735 ศัลยแพทย์ชื่อ Claudius Amyand ได้ทำการผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบและช่วยชีวิตสำเร็จ นับตั้งแต่นั้นศัลยแพทย์ในยุคปี 1800-1880 ได้พัฒนาการรักษาไส้ติ่งอักเสบด้วยการผ่าตัดมาอย่างต่อเนื่อง สามารถช่วยชีวิตคนได้มากมาย และมาถึงศัลยแพทย์ชื่อดัง Charles McBurney คิดค้นตำแหน่งการผ่าตัดในแบบปัจจุบันที่ตำแหน่ง McBurney's point ในปี 1893 แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่ทราบหน้าที่ของไส้ติ่งและไม่รู้ว่ามีไว้ทำไม
คนที่เสนอความคิดที่เริ่มใกล้เคียงกับการมีตัวตนของไส้ติ่งคือ Giovanni Domenico Santorini นักกายวิภาคศาสตร์ชาวอิตาเลียน ได้ตั้งทฤษฎีว่า ไส้ติ่งไม่ใช่ที่อยู่ของลมอย่างที่ดาวินชีคิดไว้ แต่เป็นที่อยู่ของพยาธิลำไส้ พยาธิต้องการที่สงบ ๆ ในลำไส้เพื่อพักผ่อน อ่านหนังสือ แต่งงานและมีลูก จึงต้องอาศัยที่นี่เพราะว่าทุกตำแหน่งอื่นของลำไส้มีการบีบตัวรุนแรงที่เรียกว่า peristalsis ทำให้พยาธิอยู่ไม่ได้ แนวคิดนี้น่าสนใจ เพราะว่าวันเวลาที่ผ่านไปในอดีต หากไส้ติ่งไม่ได้ทำหน้าที่ใด มันคงจะถูกวิวัฒนาการลบหายไปจากสมุดกายวิภาคแล้ว แต่เหตุใดจึงยังมีอยู่ หรือนี่เป็นหน้าที่ของมัน เป็นที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตอื่นในลำไส้ สิ่งมีชีวิตที่เราตรวจพบ สมัยนั้นคือ ..พยาธิและไข่พยาธิ
สมัยนั้น แบคทีเรียลำไส้ หรือ gut microbiota ยังไม่ได้พบความสำคัญมากเหมือนปัจจุบัน หรือสิ่งที่ Santorini ค้นพบคือ microbiota หาใช่พยาธิ (intestinal parasite) เขาเสมอทฤษฎีนี้เมื่อ 1724 ความคิดนี้ไม่ได้รับความสนใจเพราะเมื่อแพทย์ค้นพบว่ามันเป็นสาเหตุของการป่วยและตาย หากอักเสบเฉียบพลันรักษาไม่ทัน และในเมื่อมันรักษาได้โดยการผ่าตัด ไม่มีผลอะไรจากการตัดมันทิ้งไป (ยังกับตัดแฟน) ก็เลิกหาความสำคัญของมัน จนกระทั่งในปี 1871
นักวิทยาศาสตร์เจ้าของทฤษฎีวิวัฒนาการ ชาร์ลส์ ดาร์วิน ได้มาเฉลยความลับของไส้ติ่งว่า ... อย่าไปสนใจเลย ช่างมันเหอะ มันไม่มีอะไรต้องรู้ คือว่าคนและลิงสมัยก่อนกินใบหญ้า ลำไส้ซีกัมต้องใหญ่ ไว้ให้ย่อยสลายและให้แบคทีเรียมาจัดการ พอคนและลิงหันมากินผลไม้ที่พลังงานมากกว่า ไส้ส่วนซีกัมก็เล็กลง ไม่จำเป็น ไส้ติ่งก็วิวัฒนาการถอยลง อันเล็กลง เกะกะ ดาร์วินบอก ก็แค่เนี้ย สงสัยกันมาทำไมเป็นร้อย ๆ ปี
ดาร์วินพูดเช่นนั้น !!! แน่นอนว่าเชื่อกันมาเป็นร้อยกว่าปีเช่นกัน จนกระทั่งนักวิทยาศาสตร์กลุ่มใหม่ เริ่มเข้าใจที่มาของไส้ติ่ง ออกแนวคิดที่ค้านกับดาร์วินโดยสิ้นเชิงและน่าจะสนับสนุน Santorini ด้วยซ้ำ คือไส้ติ่งนี่แหละเป็นที่เพาะพันธุ์แบคทีเรียตัวที่มีประโยชน์กับลำไส้
นักวิจัยจาก Duke University และ University of Arizona สหรัฐอเมริกาได้เสนอแนวคิดใหม่ว่า ไส้ติ่ง ไม่ใช่ ของเหลือใช้และมันมีประโยชน์นะ งัดคานกับเจ้าพ่อทฤษฎีชาร์ลส์ ดาร์วินชัดเจน Willaim Parker และ Randolph Nesse ได้เสนอแนวคิดดังนี้
ไส้ติ่ง ไม่ได้เป็นของเหลือใช้อย่างที่ดาร์วินว่าไว้ การศึกษาหลังจากยุคดาร์วิน พบว่าไส้ติ่งแม้จะมีโตรงสร้างเหมือนลำไส้ส่วนซีกัม แต่มันไม่ได้หดลดรูปลงมา มันคือไส้ติ่งขนาดเท่านี้ที่ผ่านการวิวัฒนาการ ผ่านร้อนหนาวมากกว่า 30-40 ครั้ง นั่นคืออาจเป็นแสนเป็นล้านปี อวัยวะที่ผ่านการวิวัฒนาการมาขนาดนี้มันไร้ค่าจริงหรือ
ไส้ติ่งไม่ได้มีเฉพาะคนและลิง แต่ยังมีในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่น ๆ ที่ไม่ได้เปลี่ยนการกินใบไม้มาเป็นพืช ธัญพืช มันไม่จำเป็นต้องลดขนาดซีกัม ไม่ได้เป็นสาเหตุที่ต้องเกิดไส้ติ่ง แต่ทำไมมันมีไส้ติ่ง แสดงว่ามันต้องมีไว้ทำอะไรแน่
ปี 2007 ได้ออกทฤษฎีว่าไส้ติ่งคือ คลังชีวภาพเอาไว้เก็บแบคทีเรียลำไส้ (gut microbiota) เพื่อให้เป็นพิมพ์เขียวเวลาแบคทีเรียลำไส้ถูกทำลาย เมื่อมีแบคทีเรียอันอื่นรุกราน หรือเมื่อกินยาฆ่าเชื้อ ย่อมทำให้แบคทีเรียประจำถิ่นลดลง
ครั้นเมื่อหายดีแล้ว แบคทีเรียดั้งเดิม อันมีประโยชน์ในลำไส้ จะออกมาจากไส้ติ่งเพื่อมาสร้างถิ่นที่อยู่ถาวรในลำไส้ใหญ่ครั้งใหม่ เพราะว่าไส้ติ่งเป็นที่ปลอดภัย ไม่ค่อยถูกรบกวนจากการบีบตัวลำไส้ จากการติดเชื้ออื่น ๆ จากยาฆ่าเชื้อ พวกแบคทีเรียต้นแบบจึงถูกเก็บไว้ที่นี่
ไส้ติ่งมีเนื้อเยื่อน้ำเหลืองจำนวนมาก เนื้อเยื่อน้ำเหลือง (lymphatic system) ทำหน้าที่ฝึกสอนภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย เมื่อมารวมกับที่อยู่ของเชื้อโรคประจำถิ่น ทำให้ไส้ติ่งทำหน้าที่ในการฝึกสอนภูมิคุ้มกันให้ไม่ต้านตัวเองรวมทั้งไปต่อสู้เชื้อโรคอื่น ๆ
มีหลักฐานสนับสนุนเล็กน้อย โดย William Parker และทีมงานรวบรวมข้อมูลว่าคนที่ไม่มีไส้ติ่ง จะหายจากการติดเชื้อ C.difficle ได้ยากกว่ารวมทั้งเกิดซ้ำได้มากกว่า คนที่ยังมีไส้ติ่ง (หลักฐานระดับอ่อนมากและโน้มเอียงมาก) เพราะปัจจุบันเราทราบว่า การติดเชื้อ C.difficle เกิดจากเชื้อปรกติประจำถิ่นในลำไส้หายไป (World J Gastroenterol. 2013 Sep 14; 19(34): 5607–5614.) ดังนั้นการมีไส้ติ่งอยู่จะช่วยคืนสภาพแบคทีเรียสู่ลำไส้ได้ และในปัจจุบันเริ่มมีแนวคิดเรื่องการรักษาไส้ติ่งอักเสบแบบไม่รุนแรง ไม่มีภาวะแทรกซ้อน โดยการให้ยาฆ่าเชื้อเท่านั้น ผลการรักษาได้ผลดีหากไม่มีการอุดตันของก้อนอุจจาระ เพื่อรักษาความคงอยู่ของไส้ติ่ง ไม่ให้ถูกตัดโดยไม่จำเป็น
ใครสนใจอ่านได้ที่นี่ Huang L, Yin Y, Yang L, Wang C, Li Y, Zhou Z. Comparison of Antibiotic Therapy and Appendectomy for Acute Uncomplicated Appendicitis in Children: A Meta-analysis. JAMA Pediatr. 2017;171(5):426–434.
Parker ยังคงรวบรวมหลักฐานต่อไปว่าไส้ติ่ง ไม่ใช่แค่สิ่งหลงเหลือจากวิวัฒนาการ ไม่ใช่สิ่งไร้ค่า อวัยวะใดที่มีการพัฒนาต่อเนื่องมากว่าล้านปี ยังมีอยู่ในสัตว์มากกว่า 500 สปีชี่ส์ มันย่อมมีค่ามีประโยชน์ ในอนาคตอาจจะเปลี่ยนความคิดความเข้าใจของวงการแพทย์ จากที่ว่าแค่อักเสบก็ตัดทิ้ง เราอาจจะเห็นความสำคัญและห่วงใยไส้ติ่งเรามากกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ก็เป็นได้
สิ่งเล็ก ๆ แต่อาจจะควบคุมสิ่งยิ่งใหญ่ อย่างที่ใครก็คาดไม่ถึง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น