19 กุมภาพันธ์ 2562

เมื่อมีแนวคิดให้ varenicline เป็น OTC drug

ความคิดเห็นและมุมมองส่วนตัวนะครับ : เมื่อลุงหมอหาญกล้า งัดกับ JAMA

  เมื่อไม่นานมานี้มีความเห็นจาก Dr. Scott J Leischow จากมหาวิทยาลัยอริโซน่า สเตท ส่งมาลงพิมพ์ใน JAMA ว่าแม้ปัจจุบันการการสูบบุหรี่จะลดลงและโรคภัยจากบุหรี่จะลดลงมาก แต่ก็ยังถือว่าเป็นปัญหาสำคัญที่จะต้องดูแลต่อเนื่อง เขาเสนอการเลิกบุหรี่มาตรฐานคือเข้าคลินิก ได้ยาอดบุหรี่ควบคู่สารทดแทนนิโคติน และการทำพฤติกรรมบำบัด
  และอีกทางเลือกคือ ปรับให้ยาอดบุหรี่มาตรฐานทั้งสองตัว คือ varenicline และ bupropion SR มาเป็นยาที่ขายตามร้านได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ (OTC : Over The Counter) เหมือนสารทดแทนนิโคติน หวังผลจะให้คนได้เข้าถึงมากขึ้น เพราะจากตัวเลขคนติดบุหรี่สองในสามต้องการเลิก แต่มีเพียงหนึ่งในสามที่เข้าถึงกระบวนการเลิก โดยที่บอกว่าผลข้างเคียงของยาทั้งสองก็ไม่ได้ต่างจากการใช้สารทดแทนนิโคตินมากนักโดยอ้างอิงการศึกษา EAGLES

ลุงหมอจะมาวิเคราะห์บ้างแบบประเด็นต่อประเด็น

ข้อแรก : อันนี้เห็นด้วยเต็มที่ว่าจะใช้การเลิกมาตรฐานที่ปัจจุบันถือว่าทรงประสิทธิภาพที่สุด คือ ยาอด + สารทดแทน + พฤติกรรมบำบัด โดยมีผู้เชี่ยวชาญดูแล ผมคิดว่าทางที่ดีคือควรเพิ่มทรัพยากรและงบประมาณในการจัดตั้งคลินิกเลิกบุหรี่ให้เข้าถึงได้ง่าย ราคาไม่แพง และเป็นผู้ที่เป็นงานจริง ผ่านการอบรมจริง แม้ว่าจะใช้งบและเวลาพอสมควร แต่มันลงทุนครั้งเดียวแก้ไขปัญหาได้มากทั้งผู้สูบปัจจุบันและนักสูบหน้าใหม่ในอนาคต แต่ตอนนี้คลินิกเลิกบุหรี่ยังน้อยมาก แม้ในต่างประเทศก็ยังเข้าถึงยากเลย ก่อนจะใช้วิธีอื่นควรทำวิธีที่ดีที่สุด ที่ยังไม่ได้ทำ มากกว่าจะไปทำวิธีอื่น

ข้อสอง : นำยาทั้งสองมาเป็นยา OTC ในเนื้อหาวารสารเขาจะให้แต่ยา varenicline เพราะผลข้างเคียงไม่มาก ไม่มีข้อห้ามใช้ที่ชัดเจนเหมือน bupropion คือ ห้ามใช้ในคนโรคลมชัก  แต่ว่าจริง ๆ varenicline ก็ยังต้องควบคุมอยู่ดี ผลเสียที่ว่าไม่ต่างกับการใช้สารทดแทนอย่างเดียวนั้น มันเป็นผลเสียรุนแรงคือซึมเศร้าและเพิ่มโอกาสฆ่าตัวตาย และมักจะเกิดในผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตอยู่แล้ว หากไปจำหน่ายแบบไม่มีใบสั่งยา การคัดกรองดูแลเรื่องสุขภาพจิตก่อนใช้ หรืออาจมีสารเสพติดอื่น ๆ ที่บั่นทอนสุขภาพจิต จะทำอย่างไร ยิ่งซื้อเองกินเองใครจะติดตาม ขนาดในการศึกษายังเกิดพอควร ซื้อกินเองจะเป็นอย่างไร

ข้อสาม : อันนี้เป็น mindset เลยนะ จริงอยู่ว่าหากเปิดเสรีซื้อได้เอง คนอยากเลิกก็เข้าถึงยาได้ แต่ว่าถ้าแบบนั้นเราจะมองเรื่องของ "การใช้ยา" เป็นหลัก การเลิกบุหรี่มันต้องเริ่มจาก แรงจูงใจ แรงบันดาลใจ และการสนับสนุนจากรอบด้านที่ดีก่อน เมื่อแรงใจดีแล้วใช้ยาเป็นสายลมใต้ปีก จึงจะสำเร็จ หากคิดว่าอยากเลิกก็เดินไปซื้อยา ทำตามฉลากและวิธี มันจะไม่มีแรงจูงใจที่ดีพอ ไม่ได้รับการปรึกษาที่ดีพอ โอกาสล้มเหลวก็ยังสูงมาก พฤติกรรมบำบัดและการสร้างแรงจูงใจ ผมคิดว่ามีความสำคัญมากกว่าร้อยละ 80 ครับ ไม่ใช่เรื่องยา

ข้อสี่ : การเลิกบุหรี่นั้นครั้งแรกสำคัญมาก หากเลิกครั้งแรกแล้วล้มเหลวโอกาสเลิกครั้งต่อไปจะลดลง โอกาสครั้งต่อไปจะยากขึ้น และหากครั้งแรกใช้ยาอดบุหรี่แล้วล้มเหลวผู้อดบุหรี่จะมีประสบการณ์ที่ไม่ดีกับยาอดบุหรี่นั้น ทั้ง ๆ ที่ยามีประสิทธิภาพแต่อาจจะใช้ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพเพราะเทคนิควิธีไม่เต็มที่ไม่ดีพอ ผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่จะไม่ชอบสิ่งนั้นอีก เหมือนกับการใช้สารทดแทนนิโคติน หากล้มเหลวอันใด โอกาสจะกลับไปใช้วิธีนั้นอีกจะลดลง  การกำหนด varenicline เป็นยาที่ไม่ต้องใช้ใบสั่งและการควบคุมอาจทำให้เข้าถึงได้ดีก็จริง แต่ก็เพิ่มโอกาสการใช้ยาไม่ถูกต้องและล้มเหลว

ข้อห้า : อันนี้บอกก่อนว่าตัวผมเองก็สั่งจ่ายยา varenicline อยู่ประจำ ... จะมองว่าเป็นการตลาดและโฆษณาของบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายหรือไม่ ผมคิดว่าไม่ครับ เพราะคิดว่าหากมีการวางจำหน่ายแบบไม่ต้องใช้ใบสั่ง แม้ปริมาณการขายอาจจะเพิ่มขึ้นแต่โอกาสล้มเหลวมันสูงเช่นกัน ในเรื่องยานั้นชื่อเสียงของประสิทธิภาพมีความสำคัญไม่แพ้ยอดขาย หรืออาจจะสำคัญกว่าด้วยซ้ำ จึงไม่น่าจะเป็นเรื่องธุรกิจที่มาครอบงำ

ข้อสุดท้าย : อยากจะเปลี่ยนแนวคิดที่ไหน ๆ จะทำให้ยาอดบุหรี่และสารทดแทนนิโคตินให้ง่ายขึ้น ก็ควรกระจายคลินิกเลิกบุหรี่ไปพร้อมกันให้ง่ายพร้อมกันด้วย หากเรื่องยาทำได้ง่ายแต่เรื่องอื่นทำได้ยาก การอดบุหรี่จะยังไม่ขับเคลื่อน
แต่ถ้าหากทำด้วยวิธีง่าย+ง่าย+ง่าย ในทุก ๆ มิติและเพิ่มโอกาสการเข้าถึงทั้งมีหลายพื้นที่ หลายเวลา ราคาถูก ไม่แบ่งแยก คล้าย ๆ คลินิกนิรนาม จะช่วยลดปริมาณผู้สูบบุหรี่แบบถาวรได้มาก และเมื่อไรก็ตามทุกคนเห็นว่าการเลิกทำได้นะ มีจริงนะ ทุกคนก็จะหันมาเลิก รวมทั้งเป็นแรงผลักดันทางสังคมถึงนักสูบหน้าใหม่ ว่าไม่ควรเริ่มบุหรี่อีก เรารณรงค์เต็มที่

พอดีกว่า เขียนไปเขียนมาเหมือนกำลังทำนโยบายและหาเสียงเลย

อยากลืมเลือกผม พรรคชำระหนี้..555

https://jamanetwork.com/journals/jama/fullarticle/2722614?guestAccessKey=a3d04338-360d-4eb5-9653-7b16b2ed57a2&utm_source=fbpage&utm_medium=social_jama&utm_term=2131820159&utm_content=followers-article_engagement-image_stock-tfl&utm_campaign=article_alert&linkId=63556764

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม