15 พฤศจิกายน 2561

ยาเบาหวาน หรือ ยาหัวใจ

หวังว่าทุกท่านยังคงจำลุงหมอนายก ฯ ได้นะครับ คราวนี้เราจะมาพิจารณาของจริงกัน

  ยาเบาหวานยุคใหม่ ๆ ที่มีการศึกษาว่านอกจากไม่ทำให้โรคหัวใจแย่ลงแล้ว ยังมีผลออกมาว่าช่วยลดโอกาสการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วย

  ยาที่เพิ่งประกาศออกมาคือ ยา dapagliflozin การศึกษาชื่อ DECLARE ซึ่งก่อนหน้านี้ยากลุ่มเดียวกันที่ชื่อกลุ่ม SGLT2 inhibitor ยังยั้งการดูดน้ำตาลกลับร่างกายที่ท่อไตทั้งสองชนิดคือ empagliflozin และ canagloflozin ได้มีการศึกษาและแสดงผลเช่นเดียวกัน กลุ่มผู้ป่วยเบาหวานที่ได้ประโยชน์จากยามากที่สุดคือกลุ่มที่มีความเสี่ยงโรคหัวใจสูง หรือเป็นโรคหัวในและหลอดเลือดเรียบร้อยแล้ว 
  ส่งผลให้แนวทางการรักษาเบาหวานทั้งยุโรปและอเมริกา ได้ยกระดับยา SGLT2 เป็นยาลำดับต่อมาที่ควรได้รับต่อจากยา metformin ในผู้ป่วยที่เสี่ยงโรคหัวใจ หรือโรคไต ทั้งการลดน้ำตาลก็ทำได้ดีเช่นกัน
   สำหรับประเทศไทยแล้วถือเป็นยาหนึ่งที่เลือกใช้ได้ เพราะยายังมีราคาแพง และเราก็ยังมียาอื่นที่สามารถลดน้ำตาลได้ดี ราคาไม่แพง เหมาะกับประเทศเรา

  ยาตัวที่มีการศึกษาออกมาก่อนหน้า DECLARE ไม่นานคือยา linagliptin กับการศึกษาชื่อ CAMERLINA ว่าไม่เพิ่มการเกิดโรคหัวใจและไม่ได้มีหัวใจวายมากขึ้นเหมือนกับการศึกษายากลุ่มนี้ก่อนหน้านี้ กลุ่ม DPP4 inhibitor ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกการใช้ยาเบาหวานที่ปลอดภัยต่อโรคหัวใจ แม้ประสิทธิภาพการลดน้ำตาลจะเพียงปานกลาง  แต่ยังใช้ยาได้แม้ไตเสื่อมและไม่ต้องปรับยา
   แนวทางการรักษาให้เป็นยาทางเลือกอันดับสองต่อจากยา metformin ทั้งแนวทางอเมริกาและยุโรปและไทย  เป็นทางเลือกที่ดีหากจะใช้ยาที่ไม่ทำให้เกิดน้ำตาลต่ำ เช่นกัน หากเทียบกับยากลุ่มเดิม ราคาก็ยังสูงเช่นกัน

  ยาตัวที่สามเป็นยาฉีดที่เพจเราเคยกล่าวไปหลายครั้ง คือยากลุ่ม GLP-1 agonist คือยา liraglutide, dulaglutide , exenatide ที่นอกจากลดน้ำตาลได้ดีและไม่เกิดน้ำตาลต่ำ ยังช่วยลดอัตราการเกิดโรคหัวใจและโรคไตจากเบาหวานอีกด้วย ด้วยประเด็นที่ลดโอกาสเกิดโรคหัวใจ ทำให้แนวทางอเมริกาและยุโรปก็ยกระดับยาตัวนี้เป็นทางเลือกลำดับสองต่อจาก metformin ในระดับเดียวกันกับ SGLT2 inhibitor สำหรับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงโรคไตและโรคหัวใจ
  มีผลทำให้น้ำหนักตัว ความดันโลหิตลดลงอีกด้วย เช่นกันราคายังสูงมาก

   เดิมทีนั้นเราสามารถใช้ยาทุกตัวเป็นยาลำดับสองต่อจาก metformin ได้ แต่ตอนนี้มีการเลือกใช้ยาให้เหมาะตามความเสี่ยงของคนไข้เบาหวาน ตามการศึกษาตามการทดลองที่มากขึ้น เห็นชัดประจักษ์ตามากขึ้น เป็นรูปแบบการรักษาที่ใช้ความเสี่ยงการเกิดโรคมาออกแบบการรักษาเพื่อลดความเสี่ยงในอนาคต เหมือนการรักษาความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง หรือแม้แต่แนวทางการรักษาถุงลมโป่งพอง GOLD 2019 ที่เพิ่งออกฉบับปรับปรุงออกมา

   แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะใช้ยาเดิม sulfonylurea, glitazone, insulin ไม่ได้นะครับ ยังใช้ได้และใช้ได้ดีด้วย ราคาไม่แพง หากเราสามารถเลือกใช้และจัดการให้ดี ก็รักษาได้ไม่ต่างจากการใช้ยาใหม่ราคาแพง แม้การศึกษาจะบอกว่ายาใหม่ลดอัตราต่าง ๆ ได้มากกว่า แต่ถ้าเราชำเลืองมองฝั่งการรักษามาตรฐานที่เป็นตัวเปรียบเทียบ ก็ทำได้ดีไม่แพ้กัน

“ศาสตร์แห่งวิชาการของยาและการรักษาจะไร้ความหมายหากไร้ซึ่งศิลปะการเลือกยาและการรักษาให้เหมาะกับคนไข้”  ลุงหมอกล่าวไว้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม