09 สิงหาคม 2561

USPSTF no ECG screening for AF

ประกาศจากหน่วยงานป้องกันโรคของอเมริกา USPSTF ว่าไม่แนะนำการคัดกรองหัวใจเต้นผิดจังหวะ Atrial Fibrillation (AF)โดยใช้การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ในคนที่ปรกติไม่มีอาการใดๆ
Atrial Fibrillation โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะที่พบมากที่สุด และอาจพบมากกว่านี้เนื่องจากส่วนมากไม่มีอาการ ความสำคัญที่สุดของ AF นี้คือเพิ่มโอกาสการเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบมากกว่าคนที่ไม่เป็น AF ประมาณ 5 เท่าโรคนี้จะพบมากขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น
AF ยังมีความสำคัญอีกหลายอย่างโดยเฉพาะเรื่องหัวใจล้มเหลวหากปล่อยให้ AF ทำให้หัวใจเต้นเร็วไปนานๆ
ประเด็นสำคัญของ AF คือเพิ่มอัตราการเกิดหลอดเลือดสมองตีบ และหากเราสามารถจัดการคือให้ยากันเลือดแข็งในกลุ่มคนที่เสี่ยงจะเกิดหลอดเลือดอุดตัน จะสามารถลดอัตราการเกิดอัมพาตลงได้อย่างชัดเจน อัตราการเสียชีวิตลดลงชัดเจน โดยที่การเกิดเลือดออกเพิ่มขึ้นไม่มาก เรียกว่าประโยชน์มากกว่าโทษ
ยิ่งเป็นยายุคใหม่ ที่เรียกว่า Non-Vitamin K Oral Anticoagulant ไม่ใช่ยาเดิมคือ warfarin โอกาสเลือดออกยิ่งน้อยลงไปอีก
ถ้าอย่างนั้นเราอย่าไปรอเลย จัดการให้ทุกคนมาตรวจหา AF เอาไว้ก่อนดีไหมกันไว้ดีกว่าแก้ คำตอบตรงนี้ USPSTF อธิบายเอาไว้แล้ว
อัตราการเกิด AF จะเพิ่มขึ้นเมื่ออายุมาก ยิ่งหากอายุมากกว่า 85 โอกาสจะมากถึง 20% เลยทีเดียว ส่วนอายุเกิน 45 -50 โอกาสเกิดแค่ 2-3% เท่านั้น จากข้อมูลความชุกของโรคจะเห็นว่าการคัดกรองในคนอายุน้อยอาจไม่ตรงเป้า
และได้มีการรวบรวมการศึกษามากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสามการศึกษาที่มีผลมาก เป็นการศึกษาที่นำคนที่ไม่เป็น AF และไม่มีอาการใดๆเลย (ส่วนใหญ่อายุประมาณ 75) มาแบ่งกลุ่มดูว่าระหว่างจัดเวลาให้มาตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจคัดกรองกันเลย กับเมื่อเริ่มการศึกษาก็จับชีพจรทีนึงและหากผิดปกติก็ตามมาตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ พบว่า เมื่อทำแบบนี้โอกาสจะเจอ AF เพิ่มมากกว่าการไม่ทำอะไรเลย (มันก็แน่ล่ะ) แต่ว่าระหว่างสองวิธีนี้ ไม่ได้เพิ่มโอกาสการตรวจพบ AF ที่ต่างกัน ตรวจจับได้พอๆกัน
ปัจจุบันการวินิจฉัย AF คงต้องมีคลื่นไฟฟ้าหัวใจ แต่ว่าไม่ได้แนะนำให้คนที่ไม่มีอาการต้องมาตรวจมาคัดกรอง คนที่ไม่มีอาการแนะนำให้จับชีพจรเองที่บ้าน หากผิดจังหวะก็มาหาหมอ และในปัจจุบันก็มีอุปกรณ์ที่ได้รับรองว่าสามารถใช้ตรวจจับคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติได้มากขึ้น เช่น สมาร์ทวอชท์ ก็ใช้ได้ แต่...หากคุณไม่มีอาการหรือไม่สงสัยคุณคงไม่ใช้ จริงหรือไม่
แล้วถ้าไปทำไว้เฉยๆ จะเสียหายอะไรหรือไม่ ... อย่างแรกคือ เปลือง อย่างที่สองคือ อาจจะไปพบสิ่งอื่นๆที่ไม่เป็นโรค ก็จะเครียด หรือนำพาไปสู่การตรวจโดยไม่จำเป็นมากขึ้น อย่างที่สามคืออาจมีอันตรายจากการตรวจอันไม่จำเป็นนั้น อย่างสุดท้ายคือ ได้รับการวินิจฉัยผิด การศึกษาในสถานพยาบาลปฐมภูมิพบว่า การทำคลื่นไฟฟ้าหัวใจและอ่านที่สถานพยาบาลปฐมภูมิมีความไวแค่ 79% และมีความจำเพาะแค่ 91%
ส่วนการจับชีพจรเองที่บ้าน มีความไวในการวินิจฉัย AF 87% และมีความจำเพาะต่อโรค 77-84% ถ้าท่านอยากคัดกรองก็ใช้วิธีนี้ได้ครับ เรื่องการคลำชีพจรผมเคยเขียนในเรื่อง operation vital sign ตอน ชีพจร ไปแล้ว
ดังนั้นตามคำแนะนำนี้จึงสรุปว่า ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนพอ ทั้งประโยชน์และโทษในการใช้คลื่นไฟฟ้าหัวใจมา "คัดกรอง" หาภาวะ AF ในคนที่ไม่มีอาการครับ
สามารถอ่านฉบับเต็มได้ฟรีที่นี่ (ต้องลงทะเบียนสมาชิกก่อนนะครับ...ฟรี)
https://jamanetwork.com/journals/jama/fullarticle/2695678

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม