22 สิงหาคม 2561

เรื่องราวของยา DPP4 inhibitors และตุ่มน้ำผิวหนังแบบ Bullous Pemphigoid

ติดตามกันต่อเรื่องของยาเบาหวาน กับ โอกาสการเกิดถุงน้ำที่ผิวหนัง เรื่องราวของยา DPP4 inhibitors และตุ่มน้ำผิวหนังแบบ Bullous Pemphigoid
ยาเบาหวานกลุ่ม DPP4 (Dipeptidyl Peptidase-4) inhibitor เป็นยาที่มายับยั้งการทำลายฮอร์โมนลดน้ำตาลจากลำไส้ ทำให้ฮอร์โมนตัวนี้ออกฤทธิ์นานขึ้น น้ำตาลในเลือดลดลงโดยสมบัติพิเศษหนึ่งอย่างคือ หากน้ำตาลในเลือดสูงก็จะลดน้ำตาลลงมาก ถ้าน้ำตาลต่ำก็จะลดน้ำตาลลงน้อย และไม่ทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำเกินไป
ลดน้ำตาลได้พอควร น้ำหนักไม่ขึ้น เช่น sitagliptin, vildagliptin, linagliptin, saxagliptin และ alogliptin และมีข้อควรระวังการใช้ยาในผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลว สำหรับยา saxagliptin
องค์การอาหารและยาประกาศเตือนเรื่องการใช้ยากลุ่มนี้ว่าอาจทำให้เกิดผื่นถุงน้ำผิวหนังที่เรียกว่า bullous pemphigoid และถ้าหากพบตุ่มน้ำในคนที่ใช้ยานี้ก็ถือเป็นตัวกระตุ้นการเกิดตุ่มน้ำ จำต้องเปลี่ยนยา (ยกกลุ่ม)
ผื่นถุงน้ำ...คิดถึงเวลาเราโดนน้ำร้อนลวกหรือท่อไอเสียรถจักรยานยนต์และมีถุงน้ำเกิดขึ้น ทางการแพทย์เราเรียกลักษณะแบบนี้ว่า บูลเล (bullae หรือในรูปเอกพจน์คือ bulla) จริง ๆ แล้วโรคที่พบเป็นถุงน้ำแบบนี้พบหลายโรค แต่ที่พบบ่อยคือ pemphigus vulgaris และ bullous pemphigoid เป็นโรคแพ้ภูมิตัวเองที่ผิวหนังอาจจะเกิดเอง หรือเกิดจากมีปัจจัยกระตุ้นเช่น ยา DPP4i นี้
ที่สัมพันธ์กับยาคือ bullous pemphigoid แต่เราจะมาดูความแตกต่างของสองรอยโรคนี้กันนะครับ (อาจจะลงลึกนิดนึงสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ แต่บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลก็อ่านได้ครับ)
อายุ...bullous เกือบทั้งหมดจะพบในผู้สูงวัยโดยเฉพาะมากกว่า 80 ปี ... ส่วน pemphigus จะพบในกลุ่มอายุน้อยกว่า ประมาณ 40-60 ปี
รอยโรค...bullous มักจะมีผื่นแดง ๆ คัน ๆ นำมาก่อนแล้วตามด้วยตุ่มน้ำที่เต่งตึง แตกง่าย...ส่วน pemphigus จะออกไปทางเจ็บมาก ตุ่มน้ำก็ไม่ตึงมาก ดูจะเหี่ยว ๆ ยาน ๆ
ตำแหน่ง... bullous จะเกิดการแยกชั้นเป็นถุงน้ำในรอยต่อระหว่างหนังแท้กับหนังกำพร้า มีภูมิคุ้มกันแอนติบอดีที่เยื่อบุหนังกำพร้า (basement membrane)...สำหรับ pemphigus จะเกิดจากมีแอนติบอดีที่ข้อต่อยึดเซลล์หนังกำพร้า ข้อต่อจึงอ่อนแอ เกิดการแยกชั้นในชั้นหนังกำพร้าเอง
ลักษณะนี้ต้องตัดชื้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยาครับ และเป็นการวินิจฉัยที่ดีในการแยกสองโรคนี้รวมทั้งโรคที่มีตุ่มน้ำอื่น ๆ ออกจากกัน
โปรตีนที่เกิดปฏิกิริยากับแอนติบอดี ..ใน bullous คือโปรตีนที่เยื่อบุชั้นหนังกำพร้า (Basement Protein 180 และ 230) และแอนติบอดีที่เชื่อว่ามีส่วนในการเกิดโรคนี้อันเกี่ยวข้องกับยา DPP4i คือ anti-BP180NC16a นี่เอง...สำหรับ pemphigus นั้นจะเกิดปฏิกิริยากับโปรตีน desmoglein 1 และ 3
เราสามารถย้อมสีปฏิกิริยาระหว่างแอนติบอดีกับโปรตีนเหล่านี้เพื่อแยกโรคและศึกษาปฏิกิริยาที่เกิดได้
กลับมาที่รอยโรค หากเกิดขึ้นและสงสัยว่าจะเกิดจากยา ให้หยุดยานั้น ๆ และให้ยาสเตียรอยด์ในขนาดสูงในการรักษา ค่อยๆลดขนาดยาลงเมื่อรอยโรคดีขึ้น ระวังไม่ให้เกิดการติดเชื้อที่ตุ่มถุงน้ำที่แตกออก ไม่ควรไปเจาะ หรือหากแตกออกก็ยังไม่ต้องลอกหนังที่คลุมเนื้อด้านล่างออก ให้หนังนั้นช่วยป้องกันเชื้อโรค
อันตรายที่สำคัญของโรคนี้คือ การติดเชื้อที่ผิวหนังซ้ำซ้อนนี่เองซึ่งอัตราการเสียชีวิตจะสูงเพราะพื้นที่ติดเชื้อกว้างและส่วนมากเกิดโรคในผู้สูงวัยที่ภูมิคุ้มกันไม่ดีครับ
ส่วนการรักษาโดยการใช้ยากดภูมิคุ้มกันตัวอื่นๆ หลักฐานการศึกษายังไม่มากพอครับ
แล้วคำถามสุดท้ายว่า...ถึงกับต้องเลิกใช้ยากลุ่ม DPP4i เลยไหม.. คำตอบคือไม่ใช่ครับ เพราะโอกาสเกิดโรคแทรกแบบนี้ไม่มาก เพียงแค่ระวังในผู้สูงวัย และหากเกิดตุ่มน้ำก็ต้องคิดไว้ด้วยว่าเกิดจากยากลุ่มนี้ได้ ประโยชน์จากยายังมากกว่าโทษอยู่มากเลยครับ
เครดิตภาพ : diseaseslab.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม