23 สิงหาคม 2561

costovertebral angle

"ปวดหลัง กลัวเป็นโรคไต"
"ตอนที่กรวยไตอักเสบนะ ปวดหลังมาก"
ตกลงจะหลังหรือจะไต
หนึ่งในการตรวจร่างกายที่มักจะใช้บ่อย ๆ เวลาสงสัยการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะส่วนบนคือการเคาะหลัง หากเคาะเจ็บก็น่าจะเป็นการติดเชื้อที่กรวยไต เอาล่ะ..เรามาเข้าใจทีละขั้นตอน
เริ่มจากตำแหน่งก่อน ประมาณการตำแหน่งของไตตรงที่เคาะนั่นเอง เป็นจุดบรรจบของกระดูกซี่โครงแถวสุดท้ายลากมาบรรจบกับแนวกระดูกสันหลัง เรียกว่า costovertebral angle คำว่า costal คือ กระดูกซี่โครง vertebra คือ กระดูกสันหลัง
เวลาตรวจให้เคาะเบา ๆ ย้ำเลยเคาะเบา ๆ ด้วยสันมือ ห้ามทุบ ใครทุบจะสอบตก เพราะว่าเวลาที่มีการอักเสบบริเวณขั้วไต หรือที่เราเรียกว่ากรวยไต และเกิดการตึงดึงรั้งมาก แค่เคาะเบา ๆ หรือ กดเบา ๆ ก็สะดุ้งโหยง ...ต้องสะดุ้งโหยงนะครับถึงเรียกว่าผลการตรวจเป็นบวก หากเคาะแรง ๆ แล้วยังเจ็บเล็กน้อย หรือพอตึง ๆ แบบนี้ไม่ถือว่าผลการตรวจเป็นบวก
แต่ไม่ใช่ว่าผู้ที่ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะส่วนบนทุกรายจะต้องมีการอักเสบและตึงดึงรั้งที่ขั้วไต เมื่อทำการทดสอบนี้แล้วผลเป็นลบจึงไม่สามารถแปลผลได้ว่า ไม่มีการติดเชื้อหรือการอักเสบ แต่หากเคาะแล้วเจ็บ แสดงว่าที่เราคิดว่าน่าจะมีการอักเสบมันเริ่มเข้าเค้าแล้ว
"เคาะเจ็บช่วยในการวินิจฉัย เคาะไม่เจ็บก็ไม่ได้ตัดความเป็นไปได้ออกไป"
ต้องคิดร่วมกับประวัติอื่น ๆ ด้วยเช่นมีไข้มาสองวัน ไข้สูงหนาวสั่น ปัสสาวะบ่อย ขุ่น เวลาปัสสาวะแสบท่อปัสสาวะ ถ้าเราไปเคาะตำแหน่งนั้นแล้ว "สะดุ้งโหยง" ก็น่าจะสนับสนุนความคิดวินิจฉัยโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะส่วนบน
แต่ถ้ามีอาการปวดที่หลัง ไม่เห็นมีอาการปัสสาวะผิดปกติเลย แล้วทำการเคาะแล้วสะดุ้งโหยงเหมือนกันล่ะ อย่างนี้ก็ต้องคิดถีงโรคอื่นไว้ด้วย เช่นกล้ามเนื้ออักเสบ กระดูกอักเสบ หากดูตามรูปจะพบว่าตรงที่เคาะมีกล้ามเนื้อมากมายและขนาดใหญ่มาก ดังนั้นอาจจะเป็นโรคของกล้ามเนื้อก็ได้
หรือแม้แต่ไข้สูง ปวดหลัง เคาะเจ็บ ก็อาจเป็นโพรงหนองในกล้ามเนื้อบริเวณนั้น กระดูกสันหลังติดเชื้อก็ได้นะครับ
ยิ่งถ้าปวดหลังเป็น ๆ หาย ๆ มานานขยับแล้วปวด ก้มก็ปวด เคาะ ๆ ก็เจ็บ ยังโอกาสจะเป็นโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะน้อยลงมาก โรคที่พบได้บ่อยกว่าคือ โรคของกระดูกและกล้ามเนื้อหลัง
ส่วนคำอธิบายว่าโรคเป็นที่ไตทำไมมาปวดที่หลัง ...คำอธิบายนั้นคือ เส้นประสาทรับความรู้สึกของไต ได้เดินทางฝากไปกับเส้นประสาทไขสันหลังส่วนอกคู่ที่ 10-12 และส่วนเอวคู่ที่ 1 ซึ่งเส้นประสาทเหล่านี้จะนำพากระแสประสาทเจ็บปวดมาจากกล้ามเนื้อที่ใช้เส้นประสาทดังกล่าว ร่างกายจึงแปลผลว่าปวดหลังส่วนเอวด้วยนั่นเอง ภาษาทางการแพทย์เรียก referred pain
เหมือนหลอดเลือดหัวใจตีบ แล้วปวดร้าวมาที่กรามหรือที่แขนนั่นเอง
"เคาะที่หลังสะเทือนถึงไต เคาะหัวใจสะเทือนถึงเธอ"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม