ตรินิตี้ คอลเลจ หนึ่งในคอลเลจของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ สร้างคนที่มีชื่อเสียงมากมาย เช่น เซอร์ไอแซค นิวตัน นักฟิสิกส์และคณิตศาสตร์สุดยอดของโลก สองนักเคมีชื่อดัง เออเนสต์ รัทเธอร์ฟอร์ด และนีลส์ โบร์ นักคิดและปราชญ์ชื่อดัง ฟรานซิส เบคอน นักคณิตศาสตร์ตำนานของอินเดีย รามานุจัน
และที่นี่ได้สร้างนักดนตรีชื่อเสียงโด่งดังมากมาย หนึ่งในนั้นคือ ราล์ฟ วาห์น วิลเลี่ยม ผู้แต่งเพลงคลาสสิกยุคใหม่ของอังกฤษ มีชื่อเสียงโด่งดังมาก และ....
หยุดก่อน ไม่ใช่แล้ว เรามาผิดทาง นี่ไม่ใช่วาห์น วิลเลี่ยมที่ผมค้นหา ...
เพราะคนที่ผมค้นหาคือ Miles Vaughan Williams ต่างหาก ปรากฏว่าพ่อของ ไมล์ วาห์น วิลเลี่ยม เขาเป็นญาติกับ ราล์ฟ วาห์น วิลเลี่ยม เขาคนนั้นคือ อาร์เธอร์ วาห์น วิลเลี่ยม วิศวกรเครื่องจักรอันเป็นผลผลิตในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมของอังกฤษ (สายเกม กรุณาไปเล่น Assassin's Creed Unity) ยุคที่การผลิตทำเพื่อจำหน่าย ต้องการทรัพยากรต้นทุนการผลิตและตลาดรองรับสินค้า เพื่อความมั่งคั่งของประเทศเจ้าของอุตสาหกรรม อังกฤษจึงต้องทำการ "ล่าอาณานิคม"
หนึ่งในอาณานิคมของอังกฤษ คือ อินเดีย ดินแดนกว้างใหญ่ไพศาล อุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่อังกฤษมาจัดสรรอยู่นานหลายสิบปี จนเมื่อมหาตมะ คานธี ลุกขึ้นประท้วงอย่างสันติ ที่เราเรียกว่า อหิงสา จนสามารถเรียกร้องเอกราชต่ออังกฤษได้ (จริง ๆ แล้วเดินเกมกดดันทางการเมืองและเศรษฐกิจอีกมากมาย ฮ่าๆ)
อ้าว ไปไกลแล้ว กลับมา ๆ
กลับมาที่วิศวกรเครื่องจักรไอน้ำ อาร์เธอร์ วาห์น วิลเลี่ยม เขาเดินทางมาทำงานที่เมืองบังกาลอร์ เมืองหลวงของรัฐกรณาฏกะ ที่ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น บังกาลูรู ไปเรียบร้อย นับเป็นอีกหนึ่งเมืองของอินเดียที่เป็นโมเดิร์นอินเดีย มีการปรับเมือง พัฒนาให้น่าอยู่ เป็นอินเดีย สมัยใหม่ และเปลี่ยนชื่อเสียเลย อาร์เธอร์ของเราทำงานที่เมืองนี้ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และในเวลาหลังสงครามเขาก็มีบุตรชายคนหนึ่งกับ สเตลล่า ภรรยาของเขา และตั้งชื่อว่า ไมล์ วาห์น วิลเลี่ยม
หนูน้อยไมล์ เกิดที่บังกาลอร์ก็จริง แต่บิดาของเขาส่งเขากลับไปเรียนที่อังกฤษตั้งแต่อายุ 6 ปี ด้วยเหตุที่โรงเรียนในอินเดียตอนนั้นยังไม่ก้าวหน้าเท่าไร และเป็นยุคสมัยที่ใคร ๆ ก็ไปเรียนยุโรป ที่เป็นดังตักศิลาของโลก อดีตผู้ปกครองบ้านเมืองของเราก็จบมาจากยุโรปทั้งสิ้น เช่น พระยาพหลพลพยุหเสนา, ปรีดี พนมยงค์, จอมพล ป. พิบูลสงคราม, สองพี่น้อง เสนีย์และคึกฤทธิ์ ปราโมช
กลับมาเสียที นอกเรื่องอีกแล้ว
เด็กชายไมล์ เข้าเรียนประถม มัธยม ที่อังกฤษและเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยที่ออกซฟอร์ด อีกหนึ่งหมาวิทยาลัยชื่อดังเก่าแก่ มีระบบ "บ้าน" หรือ คอลเลจ เหมือนเคมบริดจ์ ก็แน่นอนเพราะเคมบริดจ์แยกตัวออกมาจากออกซฟอร์ด ระบบบ้านให้คิดเหมือนภาพยนตร์เรื่องแฮรรี่ พ็อตเตอร์นั่นแหละครับ ที่ออกซฟอร์ดนี้ ก็มีอดีตผู้มีชื่อเสียงของไทยเราเรียนมากมาย เช่น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
หนุ่มน้อยไมล์เข้าเรียนที่ Wadhem college ของออกซฟอร์ด ที่เดียวกับ นักเคมีโรเบิร์ต บอยล์ และนักกายวิภาคชื่อดัง โทมัส วิลลีส ผู้ค้นพบหลอดเลือดวงเวียนในสมอง circle of Willis
ที่นี่หนุ่มน้อยไมล์เข้าเรียนวิชาวรรณกรรมคลาสสิก และภาษาศาสตร์ Literae humaniores เรียนทั้งอังกฤษ ละติน โรมัน กรีก แต่เรียนไม่จบครับ เพราะดันเกิดสงครามโลกครั้งที่สองเสียก่อน ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองนี้ หนุ่มน้อยไมล์ต้องออกมาทำหน้าที่ประจำรถพยาบาลในอังกฤษ
คือในช่วงสงครามโลก นักเรียนออกซฟอร์ดหลายคน ก็อยากมีส่วนร่วมเพื่อประเทศ กลุ่มคนนี้เขาก็ไปเรียนวิชาปฐมพยาบาลและการช่วยชีวิต เพื่อมาทำการรักษาทหารที่บาดเจ็บ แน่นอนหนึ่งในนั้นคือหนุ่มน้อยไมล์ของเรานี่เอง อิทธิพลของการเรียนและประสบการณ์ชีวิตช่วงนี้ ทำให้หลังสงคราม หนุ่มน้อยไมล์ก็หักเหชีวิต เขาขอไปเรียนแพทย์และต่อยอดไปทางด้านเภสัชวิทยา พลิกชีวิตเลยนะ
คุณไมล์เรียนจบผู้เชี่ยวชาญด้านเภสัชวิทยา และเข้าทำงานที่ Hertford college (น่าจะอ่านว่า เฮิด-เฟิด-คอล-เลจ) ก็ที่ออกซฟอร์ดที่เดิม ต่างจาก ราล์ฟ วาห์น วิลเลี่ยม ที่มาทางสายเคมบริดจ์ และที่นี่คุณไมล์ได้ทำการศึกษายาตัวหนึ่งที่เป็นที่มาของการจัดกลุ่มยาที่มีชื่อเสียงมาตั้งแต่ปี 1970 และทุกวันนี้ก็ใช้อยู่ คือ Singh-Vaughan Williams Classification
คุณไมล์เขาถนัดการศึกษายาที่ชื่อว่า เบต้าบล็อกเกอร์ ยาต้านเบต้า จนลงลึกถึงกลไกการออกฤทธิ์ จนลงลึกไปถึงการทำงานของเซลล์กำเนิดและส่งต่อไฟฟ้าหัวใจ จนลงลึกไปถึงว่า มี "ช่อง" ของเซลล์ที่ทำให้อนุภาคไฟฟ้าและอิเล็กโทรไลต์ ไหลเข้าออกผ่านเซลล์มากมาย และมีผลต่อไฟฟ้าหัวใจไม่เหมือนกัน สามารถจัดกลุ่มการออกฤทธิ์ได้แบบต่าง ๆ ดังนี้
Class I ยับยั้ง ประตูโซเดียม เช่น quinidine, procainamide, lidocaine, propafenone
Class II ยับยั้ง ระบบประสาทซิมพาเธติก ผ่านเบต้ารีเซฟเตอร์ เช่น propranolol, atenolol
Class III ยับยั้ง ประตูโปตัสเซียม เช่น amiodarone, sotalol, vernakalent
Class IV ยับยั้ง ประตูแคลเซียม เช่น verapramil, diltiazem
Other class เช่น adenosine, digoxin, magnesium sulphate
แต่ในตอนที่คุณไมล์เขาคิดค้นวิธีการแบ่งยา เขาไม่ได้จัดเป็นกลุ่ม 1,2,3,4 แบบนี้นะครับ เขายังศึกษายากลุ่ม 3 ไม่มากนัก และชื่อการจัดแบ่งก็เรียกตามการออกฤทธิ์ เช่น กลุ่มยาที่ทำให้ resting phase ยาวนานขึ้น ทำนองนี้ ยังไม่ได้จัดตาม "ประตู" จนมาถึงการปรากฏตัวของ Bramah N. Singh แพทย์หนุ่มชาวฟิจิ ร่ำเรียนวิชาแพทย์จากนิวซีแลนด์ ข้ามน้ำข้ามทะเลมาเรียนต่อที่ Hertford colleges แห่งนี้ ได้ศึกษากับอาจารย์ไมล์ และะทำงานร่วมกัน คุณหมอซิงห์ ได้ศึกษาเภสัชวิทยาของ amiodarone จนทราบถึงการทำงานและจัดอยู่ในกลุ่มสาม ... ใช่แล้ว การจัดกลุ่มตามประตูเกิดขึ้นตอนนี้ ผลงานร่วมของอาจารย์ไมล์และลูกศิษย์ซิงห์ จึงได้มีชื่อร่วมกันว่า ซิงห์ วาห์น วิลเลี่ยม (Singh-Vaughan Willaims Classification) นั่นเอง
คุณราล์ฟ วาห์น วิลเลี่ยม สร้างชื่อให้ตรินิตี้พอสมควร และสร้างชื่อให้ราชวิทยาลัยดนตรีของอังกฤษ คำว่า ราชวิทยาลัย (Royal Colleges) คือในอุปถัมภ์ของกษัตริย์ เพราะสมัยก่อนกลุ่มนักปราชญ์จะมาทำงานให้กษัตริย์อังกฤษ ทำนองที่ปรึกษา ทางราชสำนักก็ให้การสนับสนุน จึงได้ชื่อ ราชวิทยาลัย ในประเทศไทยนั้น ศาสตราจารย์นายแพทย์ วีกิจ วีรานุวัตต์ ได้ก่อตั้งวิทยาลัยอายุรแพทย์ และได้รับพระบรมราชูปถัมภ์จาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงได้ชื่อ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย (Royal Colleges of Physicians of Thailand : RCPT)
คุณไมล์ ก็ใช้เวลาว่าง ในการปรับปรุงและพัฒนา Hertford ไม่ว่าจะหาทุนสนับสนุนการศึกษา ออกแบบตึก (ใช่ ฟังไม่ผิด) ห้องสมุด ครัว และได้รับรางวัลออกแบบวิทยาลัยยอดเยี่ยมอีกด้วย สุดยอดมากเลย จนปัจจุบันก็ถือเป็นปูชนียบุคคลของวิทยาลัยฮาร์ทเฟิร์ดแห่งมหาวิทยาลัยออกเฟิร์ด ไปเรียบร้อย
อาจารย์ไมล์จากโลกนี้ไปเมื่อ 31 สิงหาคม 2016 ด้วยวัย 98 ปีครับ
เฮ้อ... เรื่องมันเริ่มที่ตอนนี้อ่านเรื่อง anti-arrythmic drug ไป ๆ มา ๆ ก็ได้อะไรมามากมายแบบนี้ ชายชราหน้าหนุ่มสไตล์จริง ๆ เล้ย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น