คุณคิดว่าเวลาแค่ 6 นาที จะบอกอะไรได้บ้าง
ใช่แล้วเราพูดถึงการทดสอบเดิน 6 นาที (6 minutes walk test) คือการให้ผู้ป่วยทดสอบเดินแล้วนับระยะทางเป็นเวลาหกนาที เพื่อตรวจสมรรถภาพคร่าว ๆ เวลาตรวจผู้ป่วยนอก
บางครั้งผู้ป่วยโรคปอดหรือโรคหัวใจเรื้อรัง จะตอบคุณหมอว่า อยู่บ้านไม่เหนื่อยเลย เพราะไม่ได้ออกแรงเลยนั่นเอง หรือไม่สามารถบอกได้ว่าการทำงานของร่างกายเป็นอย่างไร เพราะไม่เคยวัดผล ที่แผนกผู้ป่วยนอกเรามีวิธี
จัดทางเดินโล่ง ๆ ยาว ๆ สักสามสิบเมตร กำหนดจุดเริ่มและกลับตัวแบบวิ่งเปี้ยว ให้ผู้ป่วยอบอุ่นร่างกายแล้วเดินกลับไปกลับมา จนครบหกนาที โดยประเมินร่างกาย อาการเหนื่อย หรือจะวัดค่าอะไรต่าง ๆ ก่อนและหลังเดิน เพื่อประเมินว่าทำได้ไหม นำข้อมูลที่ได้ไปประเมินร่วมกับสิ่งอื่น ๆ เพื่อวางแผนการรักษา
สิ่งที่จะวัดค่าจริง ๆ คือระยะทางที่ได้
1. ระยะทางสัมพัทธ์ เทียบผลของการรักษา เช่นให้การรักษาไปแล้วลองตรวจการเดิน ถ้าระยะทางเพิ่มขึ้น 70 เมตร อันนี้ถือว่ามีความสัมพันธ์กับอาการที่ดีขึ้นถึง 95%
2. ระยะทางสัมบูรณ์ คนที่แข็งแรงดี จะเดินได้เฉลี่ย 550-600 เมตร ขึ้นกับความสูง ความฟิต เพศ และมีตัวเลขจากการศึกษาบอกว่าสำหรัยผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพอง หากเดินได้น้อยกว่า 334 เมตร สัมพันธ์กับอัตราตายมากขึ้น ผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวเรื้อรังก็มีความสัมพันธ์กับอัตราตายที่เพิ่ม หากเดินได้น้อยกว่า 300 เมตร
3. แต่ไม่สามารถทดแทนการวัดค่าการออกกำลังกายเช่น VO2 max หรือ caloric meter ได้นะครับ แต่ใช้ประเมินอาการ ความสามารถในการออกแรง และวางแผนการรักษา แบบคร่าว ๆ ที่โอพีดี
คนไข้ที่ความดันสูงมาก ความดันต่ำมาก หัวใจเต้นผิดจังหวะที่คุมไม่ได้ ไม่ควรทำนะครับ และหากทำอยู่มีอาการหอบเหนื่อยมาก แน่นหน้าอก ก็ควรหยุดทันที และทีมการรักษาที่จะทำการตรวจแบบนี้ ต้องพร้อมปฏิบัติการช่วยกู้ชีพตลอดเวลา
ไม่สามารถเดินบนสายพานได้ เพราะจังหวะการเดินจะถูกกำหนดโดยสายพาน ไม่ใช่การปรับการเดินและสมรรถนะของตัวผู้ป่วยเอง มีการศึกษามาว่า เดินบนสายพานจะได้ต่ำกว่าความเป็นจริง และผิดพลาดมากกว่าความจริง
6 นาทีก็บอกอะไรได้มากมาย หาอ่านเพิ่มได้จาก ATS statement guidelines for six minutes walk test 2002
ปล. ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับช่วง 6 นาทีสุดท้ายของเกมฟุตบอล เลสเตอร์-ลิเวอร์พูล แต่อย่างใด และขอยืนยันว่า การเจิมทีมแล้วแพ้ ... มันคงบังเอิญ เดี๋ยวนัดหน้าพิสูจน์ให้ดูใหม่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น