07 เมษายน 2562

West's lung zone

ปลายสายต้องอยู่ใน zone 3 นะ ..คำสอนที่ได้ยินมาตลอดเวลาใส่สาย pulmonary artery catheter
สรีรวิทยาการไหลเวียนของเลือดเปรียบเสมือนน้ำและไฟฟ้า เลือดไหลจากตำแหน่งความดันสูงไปสู่ความดันต่ำ สิ่งที่ผลิตความดันเลือดให้เกิดความต่างศักย์นั่นคือหัวใจกล้ามเนื้อหลอดเลือด เมื่อหัวใจและกล้ามเนื้อหลอดเลือดบีบตัว จะเกิดแรงดันมหาศาลในฝั่งหลอดเลือดแดงที่ต่างจากหลอดเลือดดำมาก เลือดจึงไหลผ่านจากแดงไปดำ
แต่การไหลเวียนโลหิตในปอดมีความแตกต่างจากระบบไหลเวียนในร่างกายเพราะมีเรื่องของ "ลม" เข้ามาเกี่ยวข้อง ระบบการไหลเวียนของปอดจึงเป็นเรื่องของเลือดลมตามคำโบราณนั่นเอง
สายสวนวัดความดันหลอดเลือดแดงที่ปอด ใช้หลักการที่ว่าเมื่อท่อเป็นระบบปิด เราปิดวาล์วฝั่งใดเราจะวัดความดันฝั่งนั่นได้ เมื่อเปิดวาล์วเลือดจะไหลตามแรงดัน (เราอยากวัดแรงดันเราจึงต้องปิดวาล์วไม่ให้เลือดผ่านไง) เป็นที่มาของการเป่าถุงลมเล็ก ๆ ที่ปลายสายเพื่อไปอุดหลอดเลือดในปอด เลือดไม่ผ่านจุดที่อุด เราจึงวัดความดันปลายทางได้ (left atrial pressure)
แต่สิ่งที่อุดหลอดเลือดแดงที่ปอดไม่ได้มีแค่ลมในลูกโป่งเล็ก ๆ ที่เราอัดลมเข้าไป ยังมีลมจากถุงลมในปอดอีกด้วย ตามธรรมชาติของลมจะลอยขึ้นและเลือดจะไหลลงต่ำ ด้านบนของปอดจะมีลมมากกว่าด้านล่าง ถ้าปลายสายไปอยู่ด้านบน ค่าที่วัดได้น่าจะคลาดเคลื่อนจากแรงดันถุงลมปอดมันสามารถอุดได้ทั้งเลือดดำและเลือดแดงที่ปอด เราเรียกว่า Zone 1
เมื่อเคลื่อนต่ำลงมา แน่นอนว่า ลมจะน้อยลงน้ำจะมากขึ้น คราวที่แรงดันถุงลมจะลดลงไม่สามารถอุดหลอดเลือดแดงของปอดได้แล้ว แต่จะยังอุดหลอดเลือดดำของปอดได้ ค่าก็ยังคลาดเคลื่อนได้จากแรงดันถุงลมนี่แหละ เราเรียกว่า Zone 2
แต่ถ้าหากเราเคลื่อนต่ำลงมาอีก แน่นอนว่าแรงโน้มถ่วงของโลกจะดึงเลือดลงมา ลมจะไม่ลงมาอีกเพราะไปอยู่ด้านบนหมด แรงดันถุงลมจะไม่มากพอไปกดเบียดแรงดันในหลอดเลือดได้ เมื่อเราใส่สายวัดในหลอดเลือดจึงสามารถแสดงถึง แรงดันในหลอดเลือดปอดล้วน ๆ ไม่มีผลจากแรงดันลมในถุงลมเลย ค่าที่วัดได้จะแม่นยำ เรียกว่า Zone 3
การจัดจำแนกโซนนี้ เป็นไปตามทฤษฎีของ John B. West เราจึงเรียกว่า West's lung zone คุณหมอ West เป็นแพทย์ชาวออสเตรเลีย เกิดปี 1928 เรียนจบที่ออสเตรเลีย คุณหมอสนใจศึกษาด้านสรีรวิทยาของการหายใจ ได้แต่งตำราที่ถือว่าเป็น "เดอะ มาสเตอร์ส" ของสรีรวิทยาทางเดินหายใจและการหายใจคือ Respiratory Physiology : the essential
ปี 1960 คุณหมอเวสต์ได้รับเชิญจาก เซอร์เอ็ดมันด์ ฮิลลารี นักไต่เขาผู้พิชิตยอดเขาเอเวอร์เรตส์ ให้เข้าร่วมการศึกษาสรีรวิทยาของร่างกายมนุษย์เมื่ออยู่ในที่สูงและออกซิเจนน้อย ทำการศึกษาที่ไหน แน่นอนครับก็ที่เทือกเขาหิมาลัยนั่นเอง
จากการศึกษาที่เบสแคมป์ มีการตั้งอุปกรณ์การศึกษา เครื่อง caloriemeter, เครื่องวัด cardiopulmonary performance, การวัดสมรรรถภาพปอด, ตรวจเลือด คุณหมอเวสต์ได้เข้าถึงสภาพร่างกายขณะออกซิเจนน้อยว่ามีการปรับตัวอย่างไร นำมาประยุกต์ใช้กับร่างกายมนุษย์ขณะขาดออกซิเจนได้ ได้เรียนรู้สรีรวิทยามนุษย์เมื่อขึ้นสู่ที่สูง
และถามว่าใครได้ประโยชน์ที่สุดจากการทดลองนี้ นาซ่า นั่นเองและคุณหมอได้เข้าร่วมเป็นทีมศึกษาร่างกายมนุษย์ในขณะไร้น้ำหนักและอยู่ในอวกาศ เพราะจะมีสรีรวิทยาที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง หัวใจต้องออกแรงเท่าไร ความดันในปอดจะเป็นอย่างไรเมื่อความดันบรรยากาศแทบเป็นศูนย์ ระบบการไหลเวียนในภาวะไร้น้ำหนักล่ะ ทฤษฎี lung zone ถูกทุบทิ้งในพริบตา ..สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้คุณหมอเวสต์ได้กล่าวไว้ในตำราเรียบร้อยแล้ว ใครสนใจซื้อหามาอ่านกันได้ ราคาเล่มละ 60 ดอลล่าร์สหรัฐ
ภาพที่นำมาให้ดูเป็นภาพจริง ใส่สาย Swan-Ganz catheter (เดี๋ยวนี้ใส่น้อยลง เพราะมีวิธีอื่นทันสมัยขึ้น) เลยทำสีให้ดูชุดนำสายเข้าหลอดเลือดดำที่คอ เป็นท่อสีน้ำเงินหนา แล้วลากสายสีน้ำเงินผ่านหัวใจห้องบนขวา ผ่านลิ้นมาห้องล่างขวา เลี้อยขึ้นมาตามหลอดเลือดแดงใหญ่ไปปอด pulmonary artery ด้านขวา (ทำไมเราใส่ทีไร เอียงขวาทุกที) ส่วนท่อสีเหลือง ๆ คือท่อช่วยหายใจ endotracheal tube เพื่อต่อกับเครื่องช่วยหายใจครับ
ท่านสามารถอ่านเรื่องราวความเป็นมาของ Swan Ganz catheter ได้ที่นี่
http://medicine4layman.blogspot.com/…/swan-ganz-catheter.ht…

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม