12 เมษายน 2562

smoke inhalation injuries

จากข่าวเพลิงไหม้โรงแรม เรามีเรื่องทางการแพทย์มาอธิบายเช่นกันกับ smoke inhalation injuries
ร่างกายมนุษย์อยู่ในสมดุลแบบนี้มาเป็นหมื่นเป็นแสนปี สัดส่วนออกซิเจน ไนโตรเจน คาร์บอนไดออกไซด์ แรงดันบรรยากาศ อุณหภูมิ แต่เมื่อเราตกไปอยู่ในสถานการณ์เพลิงไหม้ สิ่งแวดล้อมรอบตัวจะเปลี่ยนไปอย่างฉับพลันทันที เกินกว่าจะปรับตัวได้ และหากเป็นเพลิงไหม้ในที่ปิดทึบ เช่นในอาคาร มันจะรุนแรงขึ้น เราไม่ได้กล่าวถึงพระเพลิงอันร้อนแรง แต่ละกล่าวถึงสาเหตุสำคัญที่ทำให้เสียชีวิต การขาดอากาศ เอ๊ะ..ขาดได้อย่างไร
เมื่อเราต้องติดอยู่ในสถานการณ์เพลิงไหม้ในอาคาร ออกซิเจนจะลดลงเพราะถูกใช้ในการเผาไหม้ แก๊สอื่น ๆ จากการเผาไหม้สิ่งของจะออกมามากมาย ที่อันตรายมากคือ คาร์บอนไดออกไซด์ คาร์บอนมอนอกไซด์ และไฮโดรเจนไซยาไนด์ ตัวเราเองก็ตื่นเต้นตกใจกลัว อุณหภูมิสูงขึ้น ระบยประสาททำงานสูงสุด เราต้องการออกซิเจน จึงสูดลมหายใจมากขึ้น แต่เราไม่ได้ออกซิเจน
อันตรายลำดับแรกเรียก thermal injuries คืออุณหภูมิที่จะไปทำลายเซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจและแลกเปลี่ยนแก๊ส แม้ร่างกายจะมีระบบปรับอากาศที่ดีแต่อุณหภูมิเวลาเพลิงไหม้มันสูงเป็นร้อยองศา ร่างกายปรับไม่ไหว ความร้อนที่เข้าไปทำให้เซลล์และเนื้อเยื่อตาย มีการอักเสบ มีสารคัดหลั่งมากมาย การแลกแก๊สน้อยลงรับออกซิเจนได้น้อยขับแก๊สเสียไม่ได้ ผลคือขาดออกซิเจน
อันตรายลำดับต่อมาคือฝุ่น เขม่าควันต่าง ๆ ที่มองเห็น จะพากันพัดโหมเข้าปอดเราตามการหายใจที่เพิ่มขึ้น กระตุ้นการอักเสบ การหดตัว สารคัดหลั่ง ไอมาก ทำให้การแลกแก๊สออกซิเจนแย่ลงไปอีก
อันตรายต่อมารุนแรงมาก คือแก๊สที่ออกมาจากการเผาไหม้ คาร์บอนมอนอกไซด์จะไปแย่งจับตัวขนส่งออกซิเจนในเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดแดงนั้นจึงไม่สามารถขนส่งออกซิเจนได้ แถมจับแน่นปล่อยยากอีกต่างหาก เรียกว่าลงจากหลังเสือไม่ได้ (เอ๊ะ คุ้น ๆ) การนำพาออกซิเจนไปอวัยวะต่าง ๆ ด้อยลงมาก แก๊สไฮโดรเจนไซยาไนด์ แก๊สสามารถละลายเข้าในกระแสเลือดได้ดี แก๊สนี้จะไปหยุดการหายใจระดับเซลล์ ทำให้เซลล์ทั่วร่างพิการ บาดเจ็บล้มตาย อวัยวะล้มเหลว แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ ทำให้ระบบประสาทมีการเปลี่ยนแปลง สภาพร่างกายเป็นกรดเกินกว่าจะแก้ไข ศูนย์ควบคุมการหายใจรวน จะยิ่งหายใจมากขึ้นเพื่อจะเอาแก๊สนี้ออก แต่ยิ่งสูดยิ่งได้แก๊สพิษ
ทั้งสามประการนี้ บวกกับความร้อนมหาศาล ทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน...ขาดอากาศหายใจนั่นเอง สมองจึงพังก่อน เมื่อสมองพังจะหมดสติ เราก็นอนอยู่ในกองเพลิงนั้นนั่นเอง
ดังนั้นสิ่งแรกที่ควรทำคือ ออกมาจากที่เกิดเหตุเร็วที่สุด จะก้มต่ำ จะใช้ผ้าชุบน้ำปิดจมูก อย่างไรก็ได้ เราไม่ได้ตายเพราะไฟคลอกแต่เราตายเพราะขาดออกซิเจน เมื่อออกมาได้แล้วท่านจะได้รับการให้ออกซิเจนความเข้มข้นสูงเป็นการแก้พิษคาร์บอนมอนอกไซด์ ร่างกายจะค่อย ๆ ขับคาร์บอนไดออกไซด์ออก ส่วนไฮโดรเจนไซยาไนด์นั้นหากเกิดพิษจะมียาต้านพิษคือ เอมิล ไนไตรต์ โซเดียมไนไตรต์และโซเดียมไธโอซัลเฟต ทำให้ฮีโมโกลบินในเลือดเราแปลงร่างเป็น methemoglobin ไปจับยึดไซยาไนด์ในเลือดเอาไว้ไม่ให้มันเป็นภัยคุกคามต่อไป (คุ้น ๆ อีกละ)
สุดท้ายนี้ขอแสดงความเสียใจกับผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บในเหตุการณ์นี้ด้วยนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม