15 มกราคม 2562

การรักษาเพื่อประคับประคองชีวิต

หมอครับ หมอคะ ถ้าจะต้องทำนู่นนี่ ไม่ต้องทำหรอกนะครับ ไม่อยากให้คนไข้ทรมาน
ในอดีตการรักษาเพื่อประคับประคองชีวิต หรือเพิ่อพยุงชีวิตอาจจะดูลำบากยุ่งยากและทรมาน แต่ปัจจุบันมีสิ่งต่าง ๆ ที่เปลี่ยนไป
1.การช่วยหายใจ ปัจจุบันเรามีวิธีที่รุนแรงน้อยลงเช่นการใช้หน้ากากแรงดันแทนการใส่ท่อช่วยหายใจ ในรายที่สามารถใช้ได้สามารถลดอาการหอบได้ ผู้ป่วยสบายขึ้นและไม่เหนื่อย ส่วนการใส่ท่อช่วยหายใจแม้จะดูรุนแรงและผู้ป่วยไม่สบายตัว แต่ในบางกรณีอาจจะทำให้สบายขึ้นเช่นการดูดเสมหะเพื่อช่วยให้หายเร็วขึ้น ปัจจุบันเรามีแนวโน้มใส่ท่อเร็วและเอาออกเร็ว เพื่อลดระยะเวลาการใส่ท่อ หวังผลให้คนไข้ลำบากน้อยที่สุด
2. เครื่องช่วยหายใจ ถ้าเป็นอดีตเครื่องช่วยไม่ได้พัฒนาแบบนี้ อาจจะยังมีภาพหายใจตะกุกตะกัก ไม่เข้ากับเครื่อง แต่ปัจจุบันเครื่องช่วยหายใจพัฒนาหมดแล้ว ส่วนใหญ่เป็นการช่วยคนไข้ ไม่ได้บังคับคนไข้ เรามีวิธีการปรับตั้งที่ดีขึ้น ทำให้คนไข้สบายขึ้น ภาวะการทำงานร่างกายดีขึ้น บางครั้งแม้โรคต้นทางจะไม่หายแต่การช่วยหายใจทำให้สบายขึ้นมาก
3. การใส่สายสวนหลอดเลือด แม้ชื่อจะดูต้องมีการเสียบแทง เราจะใส่เมื่อจำเป็นและถอดออกเร็ว ทั้งนี้เพื่อช่วยการรักษาและการติดตาม บางครั้งเราใส่สายสวนในรายจำเป็นผู้ป่วยจะได้รับการปรับยาและสารน้ำดีขึ้น เร็วขึ้น หายเร็วขึ้น สัญญาณชีพดีขึ้น หรือในบางครั้งจำเป็นต้องใส่เพราะไม่มีหลอดเลือดส่วนปลายใช้ได้ หากต้องมาใส่สายแทงน้ำเกลือทุกวัน วันละหลายครั้ง อาจจะลำบากมากกว่า
4. การบำบัดชดเชยแทนไต ปัจจุบันเป็นการฟอกเลือดผ่านสายสวนหลอดเลือดเกือบหมดแล้ว กระบวนการใส่สายสวนไม่ได้รุนแรงมากนัก เทคนิคการใช้อัลตร้าซาวนด์ช่วยใส่และอุปกรณ์ที่สะดวกทำให้การใส่ไม่ยุ่งยาก บางที่ใช้การฟอกเลือดผ่านทางหน้าท้อง แม้จะดูน่ากลัวแต่จริง ๆ แล้วความปลอดภัยสูง เมื่อบำบัดชดเชยแทนไตจะทำให้ภาวะผิดปกติที่เราต้องการแก้ไข ไม่ว่าสารน้ำเกิน เกลือแร่ผิดปกติ กลับเข้าสู่ภาวะปรกติ ไม่ต้องใช้ยามากมายเพื่อแก้ไข และหากเป็นการแก้ไขเลือดเป็นกรด หรือน้ำเกินน้ำท่วมปอด คนไข้จะสบายขึ้นด้วย ไม่หอบ
5. การใส่สายยางให้อาหาร ปัจจุบันถือว่าปลอดภัยไม่ว่าการใส่โดยใช้กล้องช่วยหรือไม่ใช้กล้องช่วย เมื่อใส่เสร็จแล้วจะรู้สึกระคายเคืองเล็กน้อย แต่จะมีประโยชน์ในการให้ยา ให้สารอาหาร ที่การให้ทางปากนี้ง่ายกว่า อันตรายน้อยกว่าการให้ทางหลอดเลือดมากนัก ผู้ป่วยได้สารอาหารที่ครบถ้วนและดีต่อลำไส้มากกว่า คุณภาพชีวิตก็ดีขึ้น
การรักษาต่าง ๆ เหล่านี้ในบางมุมเราจะมองว่าเป็นการทรมานคนไข้ เจ็บปวด แต่ในอีกมุมเราอาจต้องคุยกับหมอและชั่งน้ำหนักว่า การไม่ทำอะไรจะทำให้คนไข้เจ็บปวดทรมานกว่าหรือไม่ เพราะคนไข้อาจต้องเผชิญภาวะผิดปกติที่ทำให้เหนื่อย หอบ สั่น หิว หนึ่งในการรักษาแบบประคับประคองคือให้มีคุณภาพชีวิตที่เหลือให้ดีด้วย บางโรคบางภาวะปล่อยไว้แบบไม่ทำอะไรอาจจะทรมานมากกว่าด้วย
ข้อเสียคือค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นหากเราจะคิดแต่ประคับประคองไปเรื่อย ๆ แม้แต่การประคับประคองก็ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะเริ่มเมื่อไร ทำนานแค่ไหน วัดผลอย่างไรว่าควรทำต่อไหม หรือทำไปแล้วผลเสียเพิ่มขึ้นอันนี้ก็ต้องพิจารณาใหม่
ส่วนการรักษาที่ใช้เพื่อ "รอ" อันนี้คือเรามีการรักษาโรคเฉพาะแบบแต่ให้การรักษาประคับประคองเพื่อรอให้การรักษาเฉพาะแบบดีขึ้น การรักษาแบบนี้มีวัตถุประสงค์ชัดเจนว่าจะทำเมื่อมีหวังว่าจะดีขึ้น การพยากรณ์โรคดี เช่น การใช้เครื่องให้ออกซิเจนแทนหัวใจและปอดที่เรียกว่า ECMO เพื่อรอการรักษาหลักส่งผลเสียก่อน อันนี้คิดต่างกันนะครับ หรือการใช้กลยุทธการช่วยหายใจเต็มที่เพื่อให้พ้นภาวะน้ำท่วมปอดที่เป็นโรคหัวใจให้ดีก่อน แบบนี้ส่วนตัวผมถือว่าเป็นการรักษาหลัก แต่เป็นอีกหลักที่ไม่ใช่การรักษาโรคต้นทาง การรักษาคนไข้จะต้องมีหลายหลักแบบองค์รวมนะครับ คนไข้จึงจะรอดอย่างมีคุณภาพ
เรื่องนี้ไม่มีถูกผิด ไม่มีแนวทางที่ใช้ได้กับทุกคน แต่เป็นคนไข้ คนดูแล ญาติ ที่จะต้องมาทำความเข้าใจกับทีมผู้รักษาเป็นราย ๆ ไปครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม