14 มกราคม 2562

กัญชา กัญชา คือยาวิเศษหรือไม่

กัญชา กัญชา คือยาวิเศษหรือไม่ ?
ข่าวสารเรื่องการใช้กัญชาทางการแพทย์มีมาอย่างมากมาย ขณะนี้ทางองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกาได้รับรองสารสกัดบริสุทธิ์จากกัญชาบางชนิดเท่านั้นในการรักษาโรคลมชัก ชื่อยา epidiolex แล้วสรรพคุณอื่น ๆ เป็นอย่างไร
องค์การอาหารและยาอเมริกายังไม่ได้รับรองตัวกัญชาให้นำมาใช้ได้เพราะต้องผ่านการศึกษาทดลองเกี่ยวกับความปลอดภัยและการศึกษาเรื่องการใช้พืชเป็นยาเสียก่อน ซึ่งขณะนี้มีการขึ้นทะเบียนเพื่อ "ทำการทดลอง"เท่านั้น โดยทำงานร่วมกับ ปปส.ของอเมริกาเขาเพื่อควบคุมไม่ให้นำไปใช้เป็นสารเสพติด ข้อมูลวิเคราะห์ทางการแพทย์ที่ผมรวบรวมมาให้ด้านล่างเป็นการสรุปการศึกษาที่มีข้อดีคือไม่เสียเงินและสามารถค้นต่อได้จากบรรณานุกรมของวารสารต่าง ๆ เหล่านี้ได้อีกทอดหนึ่ง
ข้อมูลการศึกษาส่วนมากที่เกิดศึกษาการใช้สารที่สกัดออกมาหรือพบว่าเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถพบได้ในกัญชา แทบไม่มีการศึกษาทดสอบใช้ส่วนใดส่วนหนึ่งของกัญชามาใช้แบบสด ๆ หรือใช้แบบการเสพเป็นสิ่งเสพติด ดังนั้นการแปลผลว่ากัญชาจะช่วยอะไรได้ต้องคิดไว้เสมอว่ามีฐานมาจาก "สารประกอบที่พบได้ในกัญชา" และสกัดมาให้แบบยาเท่านั้น ผลเสียต่าง ๆของสารเหล่านี้ปรากฎชัดในการศึกษาและยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การรับรองกัญชายังต้องศึกษาโดยเฉพาะผลไม่พึงประสงค์ในระบบประสาทที่มีน้ำหนักเท่าๆ กับประโยชน์เลยทีเดียว
สำหรับเรื่องมะเร็ง การศึกษาจะศึกษาผลของกัญชาเพื่อใช้ลดอาการคลื่นไส้อาเจียนจากการให้ยาเคมีบำบัด โดยผ่านการให้ยาลดอาการอาเจียนแบบมาตรฐานมาก่อนเสมอ ผลรวมของการศึกษาลดอาเจียนในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัดอันนี้ออกมาผลค่อนข้างดี ย้ำว่า "ไม่ใช่เพื่อรักษามะเร็งนะครับ"
เรื่องโรคทางระบบประสาทที่ศึกษากันมาก เพราะกัญชาไปออกฤทธิ์กับระบบประสาทโดยตรงคืออาการกล้ามเนื้อเกร็ง ปวด และอาการทางสมองโดยเฉพาะจากโรค มัลติเปิ้ล สเคอโรซิส (multiple sclerosis) ผลการศึกษาออกมามีแนวโน้มว่าดี ส่วนการคึกษาในโรคลมชักในเด็กหลายชนิดผลออกมามีแนวโน้มใช้ได้ แม้จะเป็นแค่แนวโน้มแต่ก็มีน้ำหนักเพราะไม่ค่อยมียาความหวังตัวใหม่ ๆ
เรื่องการระงับปวดจากปลายประสาท สามารถลดความรุนแรงของการปวดได้ เมื่อใช้เพิ่มไปจากยาลดปวดมาตรฐาน แต่ข้อมูลยังไม่ไปในทางเดียวกันอีกทั้งขนาดการศึกษาก็น้อยและระดับหลักฐานไม่หนักแน่น หลักฐานจะมากหน่อยในกรณีลดอาการปวดจากมะเร็ง ย้ำอีกรอบ "ไม่ได้รักษามะเร็ง"
การกระตุ้นความอยากอาหารในผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี การรักษาโรคย้ำคิดย้ำทำ หรือการลดอาการปวดอื่น ๆ อันไม่ได้มาจากมะเร็ง ในแง่มุมสามสี่อย่างนี้ผลการศึกษายังไม่สามารถสรุปได้ สาเหตุหลักเพราะข้อมูลน้อยเกินไป
ดังนั้นหากจะกล่าวว่ากัญชาเป็น New Hope เป็นอัศวินเจไดคนใหม่หรือไม่ อันนี้ก็ต้องขึ้นกับเราจะเอามาใช้ในทางใด การอนุมัติอนุญาตส่วนมากทำเพื่อการวิจัยมากกว่าจะมานำไปใช้ทั่วไป เพื่อให้เราได้ศึกษาเอาด้านดีมาใช้อย่างควบคุม และไม่ให้ด้านมืดของมันมาเด่นและเอาชนะความดีในตัวมันได้ เราคงยังต้องติดตามต่อไปว่ากัญชาจะเป็น อนาคิน สกายวอล์คเกอร์ หรือ ดาร์ท เวเดอร์
ค้นเพิ่มได้ที่นี่
1. JAMA. 2015 Jun 23-30;313(24):2456-73. doi: 10.1001/jama.2015.6358.
2. Can Fam Physician. 2018 Feb; 64(2): e78–e94
3. BMJ 2001;323:13
ส่วนอันนี้เจ๋งสุด
Systematic reviews on therapeutic efficacy and safety of Cannabis (including extracts and tinctures) for patients with multiple sclerosis, chronic neuropathic pain, dementia and Tourette syndrome, HIV/AIDS, and cancer receiving chemotherapy
Laura Amato, Marina Davoli, Silvia Minozzi, Zuzana Mitrova, Elena Parmelli, Rosella Saulle, Simona Vecchi
DEPARTMENT OF EPIDEMIOLOGY LAZIO REGION, ASL ROMA 1 – ROME, ITALY

1 ความคิดเห็น:

  1. เดี๋ยวนี้มีคนนำมาใช้รักษาทุกโรค ในปริมาณ 1หยด น่ากังวลใจจริงๆค่ะ

    ตอบลบ

บทความที่ได้รับความนิยม