03 มกราคม 2562

การดื่มแอลกอฮอล์ กับ โรคหัวใจในผู้สูงวัย

เมื่อคุณได้เห็นบทสรุปจากวารสารชื่อดังว่า ..สำหรับผู้สูงวัยที่เป็นโรคหัวใจล้มเหลวแล้ว การดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้ส่งผลต่อโรคที่แย่ลงหรืออัตราการเสียชีวิตแต่อย่างใด.. คุณรู้สึกอย่างไร เรามาลองลงลึกไปสักหน่อย
บทความการศึกษาตีพิพม์ในวารสาร JAMA Network Open วารสารที่เปิดฟรีให้อ่านให้ลงพิมพ์ ทำการศึกษาในสี่ศูนย์การแพทย์ โดยเก็บข้อมูลผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยโรคหัวใจล้มเหลวรายใหม่ แล้วติดตามข้อมูลต่อไป 7-9 ปี แบ่งกลุ่มเป็นผู้ที่ไม่เคยดื่ม เลิกแล้ว ดื่มน้อย ดื่มมาก ว่าอัตราการเสีบชีวิตเป็นอย่างไร โรคแย่ลงไหม ได้กลุ่มตัวอย่างมา 393 คน ส่วนมากอายุประมาณ 78 ปี พบว่าระยะเวลาที่นับตั้งแต่การวินิจฉัยจนถึงเสียชีวิตในกลุ่มไม่ดื่ม ดื่มน้อยและดื่มมากไม่ต่างกันและดูเหมือนว่าการดื่มปริมาณน้อย ๆ จะมีช่วงชีวิตที่ยาวนานกว่า และเขาสรุปว่าการดื่มในปริมาณน้อย ๆน่าจะมีประโยชน์เช่นกัน
สำหรับผมเองเมื่ออ่านวารสารนี้แล้วก็เกิดข้อคิดต่าง ๆ ว่าถ้าเราอ่านแค่หัวเรื่องโดยไม่อ่านรายละเอียด เราอาจจะคิดว่าการดื่มแอลกอฮอล์มีประโยชน์หรือแนะนำให้ดื่ม !!
แต่เมื่อลองคิดตามส่วนต่าง ๆ จะเห็นว่า
1. การศึกษานี้เป็นการติดตามคนไข้โดยไม่ได้ไปควบคุมใด ๆ เลย คนไข้แต่ละคนอาจมีพฤติกรรมอื่น ๆ ที่เสี่ยงมากเสี่ยงน้อยไม่เท่ากัน การควบคุมดูแลโรคก็อาจไม่เหมือนกัน ต่อให้มีการใช้วิธีการทางสถิติมา "ปรับ" ให้ตัวแปรปรวนทั้งหลายดูเท่า ๆ กัน แต่ก็ไม่สามารถบอกได้เต็มปากว่า กลุ่มที่เปรียบเทียบแต่ละกลุ่มนั้น เหมือนกัน ลองยกตัวอย่างคือ กลุ่มที่ดื่มมากกว่า 7 ดื่มมาตรฐานนั้นมีแค่ 17 คนเท่านั้น คนที่ไม่ดื่มหรือดื่มน้อยมีจำนวนคนมากกว่าอย่างมากมาย การศึกษาจะเอียงได้
2. มีคนที่เข้าข่ายการศึกษาคือเป็นโรคหัวใจรายใหม่ 5,888 คนแต่ว่าสามารถนำมาเข้าการศึกษาและวิเคราะห์ได้เพียง 393 คน กลุ่มคนที่นำออกไปด้วยสาเหตุต่าง ๆ มากมายที่มีทั้งผู้ที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์หรือเหตุผลอื่น ทั้ง ๆ ที่คนที่ดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้น้อยขนาด 6% แบบนี้แน่ การคัดเลือกกลุ่มอาจมีอคติ
3. ถ้าไปดูการดื่มของเขา ต้องกำหนดชัดเจนว่าดื่มน้อยคือไม่เกิน 7 ดื่มมาตรฐานต่อสัปดาห์ ถามว่าการดื่มของเราเหมือนเขาหรือไม่ถ้าไม่เหมือน อาจจะเอามาใช้ไม่ได้ ไอ้ดื่มน้อยนี่ไม่เท่าไหร่แต่ดื่มเกิน 7 ดื่มมาตรฐานนี่ ไม่รู้เกินมากเกินน้อยและจะมีผลหรือเปล่า การดื่มเบียร์ ไวน์ วิสกี้ มีผลต่างกันไหม พฤติกรรมของเราเหมือนฝรั่งไหม การศึกษาไม่ได้บอกแยก
4. ถ้าใครเข้าใจเรื่องสถิติวิจัยจะพบว่า การคำนวณผลแต่ละอย่างเขาใช้วิธีที่ไม่เหมือนกันเลย ผลแบบนี้ใช้วิธีนั้น ผลแบบนั้นใช้วิธีนี้ ผลแบบนี้ขอตัดตัวแปรนั้นแล้วกัน ทำให้เราไม่สามารถเปรียบเทียบผลกันเองได้แม้แต่ภายในการศึกษานี้
5. การศึกษาใช้การสอบถามเป็นหลักในแต่ละครั้งที่มาติดตาม ตรงนี้ปัญหาสำคัญคือ ลืม (recall bias) ระยะเวลาการติดตามก็นานมากเสียด้วย ดูกลุ่มอายุซิ อายุ 78 ปีนะครับ จะจำได้หรือเปล่า มากน้อยเพียงใด
6. ถ้าไปดูรายละเอียดของผู้เข้าร่วมการศึกษาจะพบว่าโดยรวมแล้วสุขภาพดี แม้ว่าจะเป็นโรคหัวใจล้มเหลวก็ตาม มีโรคหลอดเลือดหัวใจตันแค่ 21% ส่วนมากความเสี่ยงที่มีคือโรคความดันโลหิตสูงมีถึง 70% ไม่ได้แจกแจงว่าระดับความรุนแรงโรคหัวใจวายแต่ละกลุ่มต่างกันไหม เกิดพวกรุนแรงมากไปอยู่กลุ่มที่ดื่มน้อย ผลมันจะออกมาว่าพวกดื่มน้อยจะตายมาก ซึ่งไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์เลย
ผมยกตัวอย่างแค่หกข้อนะครับ ยังมีอีกมากใครไปอ่านดูก็จะพบว่าเรายังไม่สามารถสรุปเรื่องนี้ได้ด้วยการศึกษาอันนี้เพียงอันเดียว ไม่ว่าการศึกษาจะลงในวารสารยิ่งใหญ่แค่ไหน เราก็ยังต้องใช้วิชา "วิจารณ์วารสาร" คิด วิเคราะห์ แยกแยะ อยู่เสมอ (แต่วารสารชื่อดังจะมีเครดิตตรงนี้มากกว่าวารสารที่ไม่ดังนะครับ)
ผมสรุปได้แค่ว่ามีหลักฐานการศึกษาอันหนึ่งที่แสดงให้เห็นผลของการดื่มแอลกอฮอล์ในขนาดน้อยว่าอาจจะไม่ได้แย่อย่างที่คิดเท่านั้น ด้วยน้ำหนักหลักฐานที่ค่อนข้างอ่อน จำเป็นต้องทำการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมอีกมากครับ โดยให้รัดกุมและหลากหลายมากกว่านี้
ท่ามกลางทะเลแห่งข้อมูล เราต้องมี "ตาวิเศษ" ที่จะคอยแยกแยะ วิเคราะห์ข้อมูล ตัดสินใจและนำไปใช้ให้เป็นนะครับ
ใครมีข้อเสนออะไร เพิ่มเติมกันมาได้ครับ
ที่มา อ่านฟรี
Sadhu JS, Novak E, Mukamal KJ, et al. Association of Alcohol Consumption After Development of Heart Failure With Survival Among Older Adults in the Cardiovascular Health Study. JAMA Netw Open. 2018;1(8):e186383. doi:10.1001/jamanetworkopen.2018.6383

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม