12 มกราคม 2562

วิธีการรับมือข่าวและข้อมูลที่ไม่จริงทางวิทยาศาสตร์การแพทย์

วิธีการรับมือข่าวและข้อมูลที่ไม่จริงทางวิทยาศาสตร์การแพทย์
ยุคที่ข้อมูลข่าวสารที่มากมายทั้งปริมาณและความเร็ว การเข้าถึงข้อมูลกลายเป็นทักษะพื้นฐานที่ทุกคนต้องมี ความสำคัญไม่ได้แค่เราจะเข้าถึงข้อมูลอย่างไร ความสำคัญอยู่ที่เราจะจัดการข้อมูลอย่างไรต่างหาก อะไรควรเชื่อ อะไรควรทบทวน อะไรควรหยิบไปใช้ต่อและอะไรควรตัดทิ้ง
ข้อมูลทางการแพทย์ปัจจุบันนอกจากวิทยาศาสตร์และสถิติที่เข้าใจยากแล้ว ยังมีเรื่องผลประโยชน์ เรื่องความแปรปรวนของแหล่งข้อมูลแต่ละแห่ง เรื่องอารมณ์ความรู้สึกมาเกี่ยวข้อง ทำให้ที่เดิมจัดการข้อมูลยากอยู่แล้ว ยิ่งยากขึ้นไปอีก
ข้อมูลที่เป็นมาตรฐานอันยอมรับได้ ข้อมูลทางการ หรือข้อมูลที่ส่งผลต่อการตัดสินใจส่วนมากจะมีราคาแพง ทำให้มีแต่ภาครัฐหรือบริษัทยักษ์ใหญ่ที่และผลิตหรือถือครองข้อมูลนั้นได้ ข้อมูลอาจจะบวกหรือลบอย่างสุดโต่งโดยเฉพาะหากไม่มีการควบคุมจากบรรณาธิการหรือหน่วยควบคุมที่ดี และยิ่งในอยู่ปัจจุบันที่บริษัทยักษ์ใหญ่มีสื่อในมือยิ่งทำให้การตัดสินใจเชื่อยิ่งยากขึ้น
เดี๋ยวนี้แนวโน้มสื่อไปทางโซเชียลมีเดียมากขึ้น แต่ละหน่วยแต่ละบริษัทก็มีโซเชียลมีเดีย มีช่องทางการสื่อสารของตัวเอง มีการใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อนำข้อมูลของผู้อ่านผู้สนใจมาตัดสินใจและใช้โปรแกรมเลือกข้อมูลของเขาที่จะส่งหาผู้อ่านเพื่อจูงใจผู้อ่านได้ง่ายแต่เครื่องมือในการจัดการโฆษณาต่าง ๆ หรือสื่อที่ข้อมูลผิดพลาดนั้นยังมีน้อยมาก
เนื้อหาของข้อมูลอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ "ผิด" เท่าไร แต่การจัดการบริหารข้อมูลต่างหากที่จะทำให้เกิดความเข้าใจแบบใด สมัยสงครามโลกครั้งที่สองมีการจัดการข้อมูลเรื่องการจัดการชาวยิวอย่างต่อเนื่องมากมาย จนผู้ฟังเชื่อว่าเป็นแบบนั้นจริง ๆ หลักการของการโฆษณาชวนเชื่อยังอยู่จนถึงปัจจุบัน
ข้อมูลทางการแพทย์ที่คนเสพเลือกแต่ด้านเดียว ไม่ว่าจะเป็นด้านดีหรือด้านร้าย ผู้เขียนวารสารด้านล่างเขาเปรียบเทียบเป็น information silos หรือโกดังเก็บข้อมูลที่เป็นข้อมูลแบบเดียวกัน ไม่ว่าเราจะค้นแบบไหนเราก็จะเจอแบบนั้น ยิ่งในปัจจุบัน การเลือกที่จะอยู่กับข้อมูลมันไม่ได้เกิดจากตัวเราเลือก ฝ่ายข้อมูลเองก็เลือกเราด้วย ใครใช้อินเตอร์เน็ตค้นหาข้อมูลจะพบว่าตอนนี้ โปรแกรมค้นหามันฉลาดพอที่จะนำข้อมูลที่เราสนใจมานำเสนอ คราวนี้คนอ่านก็อ่านแต่ข้อมูลที่ถูกป้อนมาให้ ฝ่ายข้อมูลเห็นคนอ่านชอบและหยิบอ่านก็ป้อนเข้ามาให้อีก วนไปเป็นวัฏจักรแบบนี้ทำให้ได้ข้อมูลด้านเดียว มองด้านเดียว
นอกจากนี้ เมื่อเรามีปฏิสัมพันธ์กับคนที่เห็นด้วยเห็นชอบกับข้อมูลที่เราชอบ ก็จะกลายเป็นการสนับสนุนกันต่อ ๆ ไป บางทีเวลามีคนเห็นต่างเราก็จะไม่ฟังเขาและกีดกันเขาออกไป ทุกครั้งที่เราสงสัยอะไร คำตอบจะเป็นสิ่งที่เราชอบและพร้อมจะเห็นด้วยเสมอ เพราะเราถามในกลุ่มคนที่ "เห็นเหมือนกัน" (echo effect ตามคำที่ผู้แต่งเลือกใช้)
จะทำให้สิ่งที่เชื่อ สิ่งที่เห็น เมื่อมีสิ่งนั้นมาก ๆ เข้า (จริง ๆ อาจจะมีข้อมูลเห็นต่างมากกว่าเสียอีกแต่เราเข้าไม่ถึงหรือไม่ยอมเข้า) สิ่งนั้นกลายเป็นข้อเท็จจริงขึ้นมาทันที ไม่ว่าโดยเนื้อแท้แล้วข้อมูลนั้นจะจริงหรือเท็จก็ตาม
แล้วจะทำอย่างไร ทางผู้แต่งได้แนะนำไว้ห้าประการ ในการเลือกเชื่อข้อมูลทางการแพทย์ที่มีมากมายในอินเตอร์เน็ตหรือสื่อยุคเก่าต่าง ๆ ผมอ่านดูแล้วก็มีทั้งเห็นจริงและแย้งนะครับ เอามาเล่าให้ฟัง
1. ควรมีแหล่งที่มาที่ชัดเจน เพื่อแยกข้อเท็จจริง ข้อคิดเห็น ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์แท้ ๆ หรือเป็นข้อมูลสรุปจากผู้เขียน รวมทั้งสามารถสืบหาที่มาข้อมูลเพื่อประเมินความเชื่อถือได้ชัดเจน เราจะได้ไปค้นต่อหรือตอบสิ่งที่เราไม่เข้าใจได้
2. มีสติเสมอ อย่าเพิ่งเชื่อ ต้องมีการโต้แย้งรอบด้าน ด้วยข้อมูลที่ดีพอ ๆ กัน ..ส่วนตัวคิดว่าควรมีทักษะการคัดสรรข้อมูลพอควร ไม่งั้นจะยิ่งงงเพราะถ้าไม่มีเราจะเชื่อไปหมดทุกอย่างหรือไม่ก็ไม่เชื่ออะไรเลย
3. ฟังหลาย ๆ แง่มุมหลายมิติ อย่าเพิ่งเชื่อว่าสิ่งที่มีที่ค้นมามีครบแล้ว เพราะ ai ปัจจุบันมันจะนำเสนอในสิ่งที่คุณสนใจ ตัดสิ่งที่คุณไม่ชอบเพราะมันออกแบบมาสำหรับทำการตลาดไม่ใช่ศึกษาค้นคว้า ทักษะการค้นข้อมูลถือเป็นเรื่องจำเป็นในยุคนี้ครับ จะค้นเรื่องอะไรจากที่ใด ต้องให้ถูกจุด ไม่ใช่ google อย่างเดียว
4. ตัดความรู้สึก ตัดอารมณ์ การใช้ความรู้สึกจูงใจมากกว่าเหตุผล อันนี้สำคัญทีเดียว การใช้ความรู้สึกมันเป็นการตลาดที่ยอดเยี่ยมมาก เราต้องแยกข้อเท็จจริงออกมาให้ได้อันไหนข้อเท็จจริงที่ควรเชื่อ อันไหนดราม่า
5. ชื่อเสียงของแหล่งที่มา ...แต่จริง ๆ อันนี้ไม่ได้ยืนยันว่าข้อมูลจะดีนะครับ ชื่อเสียงนั้นผมคิดว่าเป็นเพียงการกรองเบื้องต้นว่าข้อมูลไม่ใช่ไร้สาระ แต่จะมีสาระเพียงใด นำไปใช้ได้ไหม ต้องมาพิจารณาอีกครั้ง วารสารทางการแพทย์ชั้นนำจะเชื่อกระบวนการข้อมูลได้ดี แต่จะนำมาใช้ได้หรือไม่ต้องใข้วิจารณญานของเราเอง ยิ่งข้อมูลที่ไม่ได้มาจากแหล่งที่น่าเชื่อถือยิ่งต้องคิดก่อนเชื่อมาก ๆ
ห้าข้อนี้ก็เหมือนกับ กาลามสูตร 10 ประการนั่นเองครับ
ที่มา
1.Merchant RM, Asch DA. Protecting the Value of Medical Science in the Age of Social Media and “Fake News”. JAMA. 2018;320(23):2415–2416. doi:10.1001/jama.2018.18416
2.Chou WS, Oh A, Klein WMP. Addressing Health-Related Misinformation on Social Media. JAMA. 2018;320(23):2417–2418. doi:10.1001/jama.2018.16865

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม