24 กรกฎาคม 2561

operation vital sign 1

episode 1 วัดไข้
1. การวัดไข้ทางรักแร้ เป็นวิธีที่ง่าย ไม่รุกล้ำ ไม่อันตราย ประเด็นสำคัญคือส่วนหัวที่ใช้ตรวจต้องแนบสนิทกับรักแร้ อยู่ตรงกึ่งกลาง ข้อพลาดบ่อยๆคือหนีบแขนไม่สนิทพอหรือหัวตรวจเลยออกจากรักแร้ ขนรักแร้ไม่ใช่ปัญหาไม่ต้องโกนจนเรียบเนียน
2. สำหรับเทอร์โมมิเตอร์แบบปรอท เรียกส่วนที่เป็นสีเงินจุดที่ปรอทมารวมกันเรียกส่วนหัวนะ ก่อนจะใช้ให้จับตรงส่วนปลายและสลัดให้ปรอทไปรวมกันอยู่ที่กะเปาะให้หมด หรือให้ไม่เลยมาขีดวัดอุณหภูมิ อันนี้สำคัญนะครับ สลัดแรงไปก็จะหลุดมือหล่นแตก
3. หนีบไว้ 5 นาที แล้วหยิบขึ้นมาอ่านค่า อ่านที่ระดับสายตา อุณหภูมิในระดับจุดทศนิยมก็สำคัญมาก อ่านเหมือนวัดความยาวด้วยไม้บรรทัดหรือถ้าใช้เทอร์โมมิเตอร์แบบอัตโนมัติ ให้กดปุ่มเปิดตัวเลขไม่กระพริบ เมื่อวัดเสร็จจะมีเสียงเตือน ปิ๊บๆๆ
4. การวัดอาจจะตั้งเวลามาวัดทุกสี่หรือหกชั่วโมง เพิ่มวัดเมื่อตัวร้อนเพื่อดูว่าตัวร้อนขึ้นมาถี่แค่ไหน และวัดหลังจากรู้สึกดีขึ้นไม่ว่าจะดีขึ้นเอง จากการกินยาหรือเช็ดตัว เพื่อดูว่าไข้ลดลงไหม ลดลงนั้นลดลงเป็นเท่าไร (ความสูงของไข้ ความถี่ อุณหภูมิเมื่อไข้ลด ช่วยแยกโรคได้)
5. ค่าที่เราใช้มักจะเป็นค่าเปรียบเทียบ เช่นวันแรกอุณหภูมิเท่านี้ วันที่สามอุณหภูมิขึ้นหรือลงจากเดิมหรือไม่ ขึ้นลงเท่าไร เพราะดูการดูแนวโน้มสำคัญกว่าการดูค่าตรงๆ อุณหภูมิกายที่ถือว่ามีไข้ ตอบยากมาก เพราะไม่มีตัวเลขที่เป็นค่าปรกติที่ชัดเจน แต่ละกลุ่มอายุและเชื้อชาติไม่เท่ากัน ตำราก็ไม่เท่ากัน โดยทั่วไปจะถือว่า เกิน 37.8 องศาเซลเซียส นับว่ามีไข้
*** อย่าลืม อัตราการเปลี่ยนแปลง สำคัญมากกว่าค่าสัมบูรณ์ค่าใดค่าหนึ่ง ***
6. การวัดได้อุณหภูมิสูง หมายถึงมีไข้ทางการแพทย์ ไม่ได้แปลว่าคนไข้จะแย่หรือต้องใช้ยาลดไข้เสมอไป การใช้ยาลดไข้ทำเมื่อคนไข้รู้สึกไม่สบายตัวจากไข้ ทั่วๆไปก็เกิน 38 องศามักจะไม่ค่อยสบายตัวแล้ว หรือในบางภาวะเช่นผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหัวใจวาย โรคลมชัก ที่ไข้สูงอาจทำให้โรคเดิมแย่ลง เพราะการมีไข้คือปฏิกิริยาการอักเสบเพื่อการรักษาตัวอย่างหนึ่งของมนุษย์
7. เมื่อบันทึกค่าได้ ให้นำไปให้คุณหมอตรวจสอบดูเมื่อนัดด้วย หรือหากคุณหมอบอกว่าถ้าไข้ไม่ลดลงให้มาพบแพทย์ กรณีนี้จะช่วยเราได้มากว่าตกลงไข้ลดลงหรือไม่ (เห็นหรือยัง ว่าใช้ค่าสัมพัทธ์ ไม่ใช่ค่าสัมบูรณ์) บางทีอุณหภูมิไม่ลดจนปรกติแต่ต่ำลงมาเรื่อยๆ โรคอาจจะค่อยๆดีขึ้น (ต้องดูอาการอื่นๆด้วย)
8. ถามว่าวัดทางปากและทางรักแร้ได้ไหม วัดได้นะครับ แต่ไม่ค่อยสะดวก และถ้าเทอร์โมมิเตอร์แตกขณะวัด ปรอทอาจรั่วเข้าปากหรือเข้าทวารหนักได้ เทอร์โมมิเตอร์ที่ใช้ทางทวารหนักจะออกแบบมาพิเศษครับ จึงแนะนำการวัดทางปากในกรณีจำเป็นจริงๆเท่านั้น
และบางคนถามว่าต้องทำการบวกและลบด้วยตัวเลข 0.5 ด้วยความรู้ที่ว่า การวัดทางรักแร้จะต่ำกว่าอุณหภูมิร่างกายที่วัดทางปาก 0.5 องศาเซลเซียส หรือวัดทางทวารหนักจะสูงกว่าทางปากประมาณ 0.5 องศาเซลเซียส
คำตอบคือ ไม่ต้องบวกลบใดๆ เพราะเราดูค่าการเปลี่ยนแปลง ขอแค่วัดทางใด ก็วัดทางนั้นไปตลอดเพื่อให้เปรียบเทียบกันได้
9. ในกรณีอุณหภูมิต่ำมาก ต่ำกว่า 36 องศาเซลเซียส ให้คิดก่อนว่าวิธีผิดให้วัดใหม่ แต่ถ้าวัดถูกวิธีแน่ๆ ก็ต้องดูว่ามีภาวะอุณหภูมิต่ำเกิน ซึ่งอันตรายเหมือนกันให้รีบไปพบแพทย์ครับ
10. ยาลดไข้ที่ปลอดภัยมากคือ ยาเม็ดพาราเซตามอล กินครั้งละครึ่งถึงหนึ่งเม็ด ทุกสี่ถึงหกชั่วโมง การกินยาในขนาดสองเม็ดจะถือว่าสูงมาก ต้องระวังยาเกินขนาดครับ การกินในขนาดปรกติจะไม่เกินขนาดยกเว้นการทำงานของตับเราไม่ดีอยู่เดิม และถ้าไข้สูงเกินสามสี่วันก็ต้องไปหาหมอรักษาสาเหตุ ไม่ใช่เอาแต่กินยาลดไข้ครับ
บทความนี้ไม่ได้มุ่งหวังให้รักษาตัวเองโดยไม่ไปหาหมอนะครับ เพียงแต่มาอธิบายว่าเวลาสังเกตอาการไข้ด้วยตัวเองที่บ้าน หรือระหว่างที่หมอนัดดูอาการจะทำอย่างไร ตอนต่อไปเราจะมากล่าวถึง สัญญาณชีพตัวที่สอง ความดันโลหิต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม