05 กรกฎาคม 2561

ปัญหาการกลืนในผู้ป่วยเฉพาะกลุ่ม โดยเฉพาะผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสเอชไอวี

ปัญหาการกลืนในผู้ป่วยเฉพาะกลุ่ม โดยเฉพาะผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสเอชไอวี ไม่ง่ายแต่ไม่ยาก
ปัญหาการกลืนเจ็บกลืนลำบาก ในผู้ป่วยเอชไอวีถือว่าสำคัญเพราะผู้ป่วยจะต้องกินอาหารกินยา หากปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขจะทำให้คนไข้ไม่สุขสบายจนถึงไม่อยากรักษาได้ ปัญหาการกลืนในผู้ป่วยเอชไอวี ส่วนใหญ่จะเกิดจากตัวโครงสร้างหลอดอาหารผิดปกติมากกว่าการควบคุมการเคลื่อนไหวผิดปกติจากระบบประสาท
และโครงสร้างที่ว่า ส่วนใหญ่มาจากโรคติดเชื้อ
โรคติดเชื้อฉวยโอกาสหลายอย่าง ที่มาติดเชื้อเมื่อร่างกายเราอ่อนแอก็โจมตีหลอดอาหาร ส่วผลให้กินอาหารไม่ได้เพราะกลืนแล้วติด ยิ่งนานไปยิ่งติดทั้งของแข็งจนถึงของเหลว บางทีโรคมีการอักเสบชั้นเยื่อบุกินลึกลงไปถึงชั้นเส้นประสาทก็จะกลืนเจ็บด้วย และหากปล่อยไว้นานไปการอักเสบทั้งหลายก็จะหายในรูปพังผืด ยึดดึงรั้งหลอดอาหารให้ผิดรูปและตีบแคบลง
เชื้อโรคที่พบบ่อยคือ เชื้อไวรัส Cytomegalovirus (CMV) เชื้อไวรัสเริม Herpes simplex Virus (HSV) และเชื้อรา Candida
เชื้อโรคทั้งสามนี้สามารถแยกกันด้วยลักษณะทางกายภาพจากการส่องกล้อง และลักษณะทางพยาธิวิทยาจากการตัดชิ้นเนื้อและย้อมสี เพราะแต่ละอย่างมีการรักษาที่แตกต่างกันไป ใช้ยาคนละชนิดและสามารถหายขาดได้ด้วย การแยกโรคจึงสำคัญ การส่องกล้องตรวจจึงสำคัญมาก ความเสี่ยงอันตรายจากการส่องกล้องตรวจและตัดชิ้นเนื้อน้อยมากครับ ถึงแม้จะเป็นผู้ป่วยเอชไอวีก็ตาม
ในกรณีที่รักษาแล้วแต่ผลการรักษาออกมาเป็นตีบแคบหรือบางครั้งส่องกล้องไปก็ตีบตั้งแต่แรกเพราะเป็นมานานแล้ว ก็ยังรักษาได้โดยการใส่อุปกรณ์ถ่างขยายหลอดอาหาร ที่สามารถทำได้อย่างปลอดภัยไม่ว่าจะมีแผลอยู่ด้วย หรือแผลหายแล้วหรือ เคยตัดชิ้นเนื้อตรวจมาก่อน
ร่วมกับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอชไอวีที่ปัจจุบันเรียกว่าถ้ากินยาสม่ำเสมอตลอดก็ใกล้เคียงคำว่า "หาย" ได้เลย ทำให้ปัญหาการติดเชื้อฉวยโอกาสที่หลอดอาหารดูไม่รุนแรงมากแล้ว...หากใส่ใจแก้ไข
สาเหตุอื่นๆที่พบบ้างคือ กรดไหลย้อนหรือเกิดเอง ถ้านับสัดส่วนคนไข้ที่หลอดอาหารอักเสบจากสาเหตุใดๆ จะพัฒนาไปเป็นการตีบตัน (วัดที่ตีบอย่างน้อย 50% และรวมตีบตั้งแต่แรกด้วย) อยู่ที่ 13% ของคนไข้ที่หลอดอาหารอักเสบเท่านั้น
จึงเป็นปัญหาที่น่าจะใส่ใจแก้ไขก่อนที่จะลุกลามไปและทำให้คุณภาพชีวิตคนไข้แย่ลง
ESOPHAGEAL STRICTURES IN AIDS, AJG Vol. 94, No. 2, 1999

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม