08 กรกฎาคม 2561

ช็อก อะไรคือช็อก

ช็อก อะไรคือช็อก ใช่คุณกพล ทองพลับหรือเปล่า ... อ่านเพจนี้มาตลอดมีคำว่าช็อกมากมาย ช็อกคืออะไร
ช็อก shock ถือภาวะที่เนื้อเยื่อขาดการลำเลียงที่เพียงพอ เนื้อเยื่อและเซลล์ต้องการการลำเลียงอยู่ตลอดทั้งการลำเลียงเสบียงที่จำเป็นมาใช้ในการดำรงชีพ และลำเลียงของเสียไปกำจัดทิ้ง เมื่อไรก็ตามการลำเลียงบกพร่อง เสบียงจำเป็นมาไม่ถึงเซลล์และของเสียในเซลล์คั่งค้าง เนื้อเยื่อจะเกิดการบาดเจ็บ อักเสบ และสูญเสียหน้าที่ และหากเนื้อเยื่อหลายๆเนื้อเยื่อเกิดขาดการลำเลียงมากขึ้นพร้อมๆกัน จะเกิดการล้มเหลวของระบบอวัยวะขึ้น
สารเสบียงที่จำเป็นคือ น้ำ สารอาหาร ออกซิเจน ของเสียที่ต้องกำจัดคือ แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ กรดต่างๆที่เกิดจากการเผาผลาญระดับเซลล์
แล้วระบบลำเลียง มีปัจจัยอะไรบ้าง อย่างแรกของที่จะลำเลียงต้องมีพอเสียก่อน หมายถึงสารน้ำและอาหารและออกซิเจน ต้องมีเพียงพอในเลือดและเลือดก็ต้องเพียงพอด้วย อย่างที่สอง ท่อส่งต้องดีไม่แตกไม่รั่วก่อนถึงที่หมาย คือหลอดเลือดต้องประสานกันสนิท น้ำไม่รั่ว อย่างที่สาม ปั๊มส่งต้องแรงดี คือหัวใจต้องทำงานเพียงพอจะปั๊มเลือดออกและดูดเลือดกลับ
ความเข้าใจย่อหน้าเมื่อสักครู่ จะทำให้เราสามารถแยกชนิดของช็อกและแก้ไขปัญหาตรงจุด เนื่องจากเมื่อขาดการลำเลียง ผลลัพธ์ที่เกิดปลายทางจะคล้ายกันคือ อวัยวะต่างๆทำงานบกพร่องและล้มเหลว เช่น สมองจะเบลอ ปัสสาวะไม่ออก ตับอักเสบขาดเลือด
1. เลือดไม่พอ (hypovolemic shock) เช่นถูกแทง..ฉึก..เลือดไหลมาก ขาดเลือด ก็ตรงไปตรงมา หรือสารน้ำในร่างกายสูญเสียไปทำให้ปริมาตรเลือดไม่พอ เช่น ถ่ายเหลวมากสูญเสียน้ำทางอุจจาระไปมากปริมาตรเลือดก็ไม่พอ ขาดน้ำขาดอาหารมาหลายๆวันเป็นต้น
วิธีแก้..เติมเลือด เติมสารน้ำ อย่าลืมอุดรูรั่วด้วย
2. ท่อลำเลียงรั่ว (distributive shock) ปกติหลอดเลือดจะซีลแน่นปิดสนิทโดยเฉพาะหลอดเลือดเล็ก (arteriole) และหลอดเลือดฝอย (capillary) แต่ถ้าเมื่อไรผนังมันปิดไม่สนิทเกิดรั่ว สารน้ำจะไหลไปอยู่นอกหลอดเลือด อยู่ผิดที่ การลำเลียงก็ไปไม่ถึงปลายทาง เช่นเวลาติดเชื้อรุนแรงหรือไข้เลือดออกรุนแรง จะมีสารอักเสบมามากจนผนังหลอดเลือดจะรั่วมากๆจนกระทั่ง ระบบไหลเวียนล้มเหลวไป
เวลาที่เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรง (anaphylaxis shock) สารต่างๆที่ออกมาในปฏิกิริยาภูมิแพ้จะทำให้หลอดเลือดรั่วพร้อมกันอย่างรุนแรง
เวลาที่มีการบาดเจ็บของระบบประสาทส่วนกลาง (neurogenic shock)เช่น ไขสันหลังถูกกดเฉียบพลัน สัญญาณประสาทที่คอยรักษาผนังหลอดเลือดให้สนิท มันหายไป !! ผนังหลอดเลือดจึงรั่ว !!
สังเกตว่าสารน้ำและเลือดไม่ได้หายไปไหน แค่อยู่ผิดที่ (abnormal distribution) การรักษาคืออุดรูรั่ว ไม่ว่าการรักษาติดเชื้อ การรักษาอาการแพ้ให้ยารักษาอาการแพ้ การแก้ไขการกดทับไขสันหลังและการให้ยาสเตียรอยด์ โดยระหว่างการรักษาก็ต้องเติมน้ำเติมเลือดเข้าไปในระบบพลางก่อน และต้องระวังหากภาวะโรคดีขี้น น้ำที่เคยรั่วจะถูกดูดกลับเข้ามาใหม่ (redistribution) เมื่อรวมกับของที่เราเติมเข้าไป อาจจะมีปัญหาเกินได้
3. ปั๊มเสีย (cardiogenic shock) คือหัวใจมีปัญหา เช่นกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อจึงตายไม่มีแรงบีบพอ หรือ ลิ้นหัวใจรั่วหนักปั๊มออกไปก็ไหลย้อนกลับมาหมด หรือหัวใจเต้นเร็วเกินไป ก็ต้องรักษาปั๊มเช่น ใส่สายสวนขยายหลอดเลือด ให้ยาควบคุมการเต้นหัวใจ
การให้ยาช่วยบีบรัดหลอดเลือดไม่ให้รั่ว การใช้ลูกโป่งบอลลูนเพื่อช่วยแรงบีบหัวใจ การให้ยาเพิ่มการบีบตัวกล้ามเนื้อหัวใจ การให้ออกซิเจน เป็นเพียงการรักษาประคับประคองปลายเหตุ ให้ระดับความดันโลหิตเพิ่มขึ้น ระดับออกซิเจนในเลือดเพิ่มขึ้น ถ้าเราไม่แก้ไขต้นเหตุสุดท้ายระบบร่างกายจะกลับมาแย่ลงอีก
การรักษาคนไข้วิกฤตภาวะช็อก ไม่ว่าจะช็อกจากสาเหตุใดถือเป็นความเร่งด่วนที่ต้องคิดเร็ว คิดถูก ทำเร็ว ทำเป็น ปรับแต่งให้ได้จุดเหมาะสม ทั้งหมดแข่งกับเวลาและชีวิต โดยบริหารทรัพยากรที่มีให้ได้ประโยชน์สูงสุด ทั้งยา กำลังคน อุปกรณ์ ถือเป็นหนึ่งในสุดยอดภาวะเร่งด่วนทางการแพทย์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม