29 พฤษภาคม 2560

ชื่อกลุ่มยาที่เป็นภาษาไทย อาจทำให้สับสนได้

ชื่อกลุ่มยาที่เป็นภาษาไทย อาจทำให้สับสนได้

ปัจจุบันนี้ข้อบ่งชี้ในการใช้ยาต่างๆมีหลากหลาย ใช้คุณสมบัติต่างๆทางเภสัชวิทยาที่ต่างกันมาใช้ แต่ทว่าเมื่อแรกจดทะเบียนและจัดกลุ่มยาอาจจะได้รับคำแปลอย่างหนึ่ง เวลาผ่านไปอาจใช้ในอีแง่หนึ่งได้ เรามาดูตัวอย่างกันนะครับ

1. spironolactone จัดกลุ่มเป็นยาขับปัสสาวะ ชนิดที่ไม่ค่อยทำให้โปตัสเซียมต่ำ นำมาใช้ในอีกหลายข้อบ่งใช้ อาทิเช่น ลดอัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยหัวใจวาย ลดความรุนแรงของโรคตับแข็งที่แรงดันในช่องท้องสูง สำหรับอีกหนึ่งกลไกคือ ต้านฤทธิ์ฮอร์โมนอัลโดสเตอโรน ฮอร์โมนที่จะดูดเกลือโซเดียมจากท่อไต การรับประทานยาไม่ได้หวังผลขับปัสสาวะแต่อย่างใด

2. chloroquine ยารักษามาเลเรีย ใช้กันมานาน ปัจจุบันอีกหนึ่งข้อบ่งชี้คือการรักษาข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นหนึ่งในยาร่วมรักษา ลดอาการอักเสบได้ ผู้ป่วยอาจจะไม่เข้าใจ หากไม่ได้รับการอธิบาย ให้เข้าใจจะงงได้ว่าทำไมต้องกิน ไม่ได้เป็นโรคมาเลเรีย

3. ritonavir ยาต้านไวรัสหลายชนิด คุณสมบัติอันหนึ่งของมันที่การไปยับยั้งเอนไซม์ที่ทำลายยาหลัก เมื่อเอนไซม์ถูกยับยั้งยาหลักก็ทำงานได้ดีขึ้น เช่น ยาหลักคือ lopinavir ใส่ยา ritonavir เข้าไปช่วยรักษาและไปทำให้ lopinavir ออกฤทธิ์ดีขึ้น เรียกว่า boost เราจึงเรียกว่า Lopinavir/ritonavir ว่า boosted protease inhibitor

4. nifedipine ยาลดความดันที่ใช้กันมานาน ด้วยสมบัติในการขยายหลอดเลือด จึงมีการศึกษาและวิจัยเอามาใช้ในโรคหลอดเลือดอักเสบ ที่จะมีการตีบและคลายของหลอดเลือดจนมีอาการมือเขียว ที่เรียกว่า raynaud's phenomenon ได้ ผู้ป่วยบางรายไม่กินเพราะคิดว่าตัวเองไม่ฃด้เป็นโรคความดันโลหิตสูง

5. propranolol ยาลดความดัน ยาควบคุมการเต้นหัวใจ ปัจจุบันพบว่าการใช้ยานี้จะช่วยลดแรงดันในช่องท้องสำหรับคนไข้ที่มีแรงดันพอร์ทัลในช่องท้องสูง เช่น ตับแข็งแล้วหลอดเลือดดำที่หลอดอาหารโป่งพอง แม้ความดันไม่สูงก็ให้และหวังผลที่หัวใจเต้นช้าลงระดับ 60 ครั้งต่อนาทีเลย ต้องอธิบายให้ทราบอย่างชัดเจนครับ

6. amitryptyline ยารักษาอาการซึมเศร้า ปัจจุบันมีการใช้เพื่อปรับการทำงานของการควบคุมการรับความรู้สึกของเส้นประสาท ในผู้ป่วยที่มีอาการจุกแน่นท้องเรื้อรัง chronic dydpepsia ก็มีการศึกษาและแนะนำการใช้ยานี้อย่างเป็นทางการนะครับ

หลายๆท่านอาจสงสัยถึงชื่อกลุ่มยาภาษาไทยที่อาจดูแล้วไม่เข้ากับโรคที่เป็น อย่างนี้ต้องปรึกษาแพทย์ผู้จ่ายยานะครับ อย่าเพิ่งทึกทักว่าจ่ายยาผิด หรือเลือกที่จะไม่รับประทาน #ถ้าสงสัยให้ถามแพทย์ผู้จ่ายยาครับ# บางครั้งการถือยาให้แพทย์ท่านอื่นดูก็อาจไม่เข้าใจได้เช่นกัน เพราะการใช้ยาปัจจุบันแนะนำให้ปรับแต่งให้เข้ากับภาวะของแต่ละบุคคล ไม่ได้ใช้เป็นภาพรวมอีกต่อไป.

โลกก็ตลกแบบนี้ครับ ผมแถมเรื่องหนึ่งในอดีตมีการคิดค้นยาที่จะใช้เพื่อการลดความดันโลหิตตัวใหม่ ด้วยหลักการทางสรีรวิทยาและชีวเคมี ยาตัวนี้น่าจะลดความดันได้ดี เป็นยาที่ไปขยายหลอดเลือด เรียกว่าหลักการดี make sense แต่พอทำการทดลองในมนุษย์กลับพบว่าลดความดันได้ไม่เท่าไร เรียกว่าไม่ดีเอาเสียด้วยซ้ำ หลักการที่ดีจึงต้องยอมแพ้หลักฐานเชิงประจักษ์ที่ไม่ดี
นอกจากนี้ ยาดังกล่าวกลับมีผลข้างเคียงอันหนึ่ง ที่ไม่ได้อยู่ในหลักการเอาเสียเลย แต่เมื่อทำการทดลองกลับปรากฏในเชิงประจักษ์ว่า ผลข้างเคียงอันนี้เกิดจริงและเกิดมากเสียด้วย คือ หลอดเลือดดำขยาย แต่ว่าบังเอิญผลข้างเคียงอันนั้น กลับเป็นที่ชื่นชอบของคนกลุ่มหนึ่ง กลุ่มใหญ่เสียด้วย เขาจึงใช้ข้อนี้มาพลิกสถานการณ์พลิกงานวิจัยใหม่ ให้ไปศึกษาข้อเสียแทน เรียกว่า ไม่ make sense เลย แต่หลักฐานเชิงประจักษ์มันใช่ มันเถียงไม่ได้
จึงมีการศึกษาและจดทะเบียนยานี้ในอีกแง่หนึ่งจากที่ตั้งใจจะเป็นยาลดความดัน แต่ตอนนี้กลับจดทะเบียนใช้ในแง่ทำให้หลอดเลือดดำขยาย ซึ่งเป็นผลไม่พึงประสงค์ของยาตั้งแต่แรก แถมยังให้ระมัดระวังความดันต่ำเกิน ซึ่งเป็นผลที่ต้องการตั้งแต่แรกของยาอีกด้วย
..
..ท่านทราบไหมว่ายานี้ คือ ยาอะไร ติ๊ก..ต่อก..ติ๊ก..ต่อก..
..
..ยานั้นชื่อว่า sildenafil หรือชื่อที่โด่งดังของมันคือ viagra

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม