คำพูดของใครต่อไปนี้ น่าจะเป็นเรื่องจริง
1. นาย ง. บอกว่า ผลเบาหวานเขาแย่ลง หมอจึงลดยาฉีด
2. นาย ค. บอกว่าเขากินยาต้านไทรอยด์มาสองเดือน ค่า TSH ไม่เพิ่มเลย แต่หมอบอกดีแล้ว
3. นาย ข. บอกว่าผลเลือดคอร์ติซอลของเขาต่ำมาก หมอก็ไม่ได้ให้ยาสเตียรอยด์ทดแทน
นาย ง. เกิดสิ่งที่เรียกว่า drug-induced hypoglycemia คือขนาดยาฉีดไม่สมดุลกับพลังงานที่นำเข้าและสะสม อาจเกิดจากยาฉีดมากเกิน หรือ กินน้อยกว่าที่คำนวณไว้ สิ่งที่เกิดคือ ผู้ป่วยมีอาการน้ำตาลต่ำ และพยายามจะแก้ไขอาการตัวเองด้วยการกินอาหาร เพียงแต่กินเกินกว่าที่จำเป็นไปมาก จึงเกิดภาวะพลังงานและน้ำตาลเกินสะสม ยิ่งภาวะน้ำตาลต่ำบ่อย ยิ่งกินบ่อย ยิ่งเกินบ่อย สุดท้าย น้ำตาลเฉลี่ยก็สูง หมอจึงจำเป็นต้องลดยา
(ควรตรวจน้ำตาลปลายนิ้วด้วยตัวเอง โดยเฉพาะเวลาที่สงสัยน้ำตาลต่ำ)
นาย ค. เป็นโรคไทรอยด์เป็นพิษ กินยาต้านไทรอยด์ได้ขนาด สม่ำเสมอ หากเราตรวจระดับ Free T3 หรือ Free T4 จะพบว่าลดลง แต่การตอบสนองของต่อมใต้สมอง คือ หลั่ง TSH เป็นปกติ (ไทรอยด์เป็นพิษจะไปลดปริมาณการหลั่ง TSH จากต่อมใต้สมอง) จะกลับสู่ภาวะปรกติประมาณตั้งแต่เดือนที่สามถึงห้า และหากกินยาไม่สม่ำเสมอ หรือเกิดปรากฏการณ์ไม่ตอบสนองต่อยา ค่า TSH ก็จะไม่กลับปกติ ดังนั้นในช่วงแรกคุณหมออาจจะยังไม่พิจารณาค่า TSH และใช้เพื่อปรับยา
(ในช่วงแรกของการเริ่มยา ใช้ค่า Free thyroid hormones เพื่อตรวจการตอบสนองต่อการรักษา)
นาย ข. พบว่าผลการตรวจฮอร์โมนสเตียรอยด์ในร่างกาย คือ การตรวจ cortisol พบว่าต่ำ แต่ยังไม่ได้หมายถึงขาดฮอร์โมนเสมอไป สิ่งสำคัญที่เราพบบ่อยคือ ฮอร์โมนต่ำเพราะตอนนั้นผู้ป่วยกินสารสเตียรอยด์จากภายนอกเช่น ยาเพรดนิโซโลน ยาเด็กซ่าเมธาโซนทั้งกินหรือฉีด ยาชุดยาลูกกลอนที่ผสมสเตียรอยด์ ทำให้มีฮอร์โมนสเตียรอยด์จากภายนอกสูงมาก ไปกดการทำงานของต่อมหมวกไต หลั่งสเตียรอยด์ของร่างกาย cortisol level ต่ำลงมาก คุณหมอจึงยังไม่ชดเชยฮอร์โมน ต้องแยกภาวะต่ำจากยาสเตียรอยด์ภายนอกก่อน
(ก่อนตรวจ cortisol level ให้ทบทวนประวัติการรับยา ใช้ยาชุด ฉีดสเตียรอยด์ เสมอ)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น