16 เมษายน 2565

ภาวะกตัญญูเฉียบพลัน

 ขอคั่นรายการด้วยความรู้สึกที่แว่บเข้ามา อาจไม่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การแพทย์ แต่น่าจะดีต่อใจ : ภาวะกตัญญูเฉียบพลัน

ในช่วงวันหยุด ผมมักจะไม่ไปไหน ด้วยเบื่อหน่ายกับรถรามากมาย คนเยอะแยะ จึงมักจะ..อยู่เฝ้าวอร์ด ออกโอพีดี แทนน้อง ๆ เด็ก ๆ

สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นมาตั้งแต่เรียนจบคือ ลูกหลานที่ไปทำงานต่างที่ กลับมาเยี่ยมพ่อแม่ปู่ย่าตายาย และพาท่านทั้งหลายมาตรวจรักษาในช่วงวันหยุด

ในตอนแรกทำงาน เรามักจะเรียกเหตุการณ์นี้ว่า 'ภาวะกตัญญูเฉียบพลัน' คือ ท่านทั้งหลายเป็นโรคหรืออาการต่าง ๆ นี้มานานแล้ว บางทีก็รักษาแล้ว พอลูกหลานกลับมา ก็เป็นห่วง พามาตรวจ ท่านก็ขัดไม่ได้ (ก็ไม่มีเหตุผลอะไร จะไปขัดความหวังดีนั้น)

บอกตามตรงว่า ตอนแรกจบออกมา ก็รู้สึกว่า ทำไมเพิ่งมาล่ะ หรือ อาการก็เหมือนเดิม แต่มาตรวจวันหยุดที่คนทำงานน้อย มีแต่บุคคลากรเพื่อเหตุฉุกเฉิน รู้สึกเหมือนหลาย ๆ คนที่ถูก 'บิ้ลต์' ความรู้สึกนี้จากคำพูดภาวะกตัญญู เฉียบพลัน

แต่พอนานไป ก็เริ่มเห็นความจริงแห่งโลก พวกเขาเหล่านั้น มีวันหยุดแค่นี้ กว่าจะรวบรวมเงินทองมาได้ ก็หวังจะมาดูแลพ่อแม่ให้ดีที่สุด ตามที่เขาทำได้ นอกจากไม่ผิดอะไร ยังน่าภูมิใจเสียอีก

หลายครั้ง ภาวะกตัญญูเฉียบพลัน ทำให้เราเจอหลายโรคที่พึงรักษาได้ เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เอสแอลอี มะเร็งลำไส้ใหญ่ seborrheic dermatitis และทำให้คุณภาพชีวิตของคุณพ่อคุณแม่ของพวกเขาดีขึ้นจริง

คุณภาพชีวิตดีขึ้น ไม่เจ็บป่วย ลูกหลานก็ทำงานได้มีความสุขขึ้น วินวินทุกฝ่าย

ตอนนี้ผมได้แต่ยิ้ม เวลาเห็นผู้เฒ่าผู้แก่มาตรวจ บ่น ๆ ว่าไม่เป็นอะไรสักหน่อย พามาทำไม รายล้อมด้วยลูกหลานที่หยอกเย้าท่าน เอาขนมมาให้กินตอนรอตรวจ

ผมคิดว่า 'ภาวะกตัญญูเฉียบพลัน' มันดีกว่า ' ภาวะไม่ใส่ใจเรื้อรัง' นะครับ

สวัสดีปีใหม่ไทยครับ

อาจเป็นรูปภาพของ ของเล่น และ สถานที่ในร่ม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม