ในยุคโควิดครองเมืองและความกลัวครองใจคนเราแบบนี้ อันตรายและภัยมืดของโรคโควิดที่เรามองไม่เห็นกำลังเพิ่มขึ้น คือ อันตรายจากโรคอื่น ๆ ที่ไม่ใช่โควิด จริง ๆ เคยเขียนไปหลายครั้งแล้ว แต่พอได้รับคำบอกเล่าและประสบเหตุด้วยตัวเอง จึงอยากมาเล่าให้ฟังอีกครั้ง
1.มีไข้ อาจจะไม่ใช่โควิดเสมอไป ต้องยอมรับว่าความหวาดกลัวทั้งต่อโรคและหวาดกลัวต่อมาตรการจัดการโควิด ทำให้เวลามีไข้ในเวลานี้ โรคโควิดจะได้รับการคิดถึงเป็นอันดับแรก และอาจจะต้องแยกโควิดออกไปก่อนโรคอื่น แต่ความเป็นจริงแล้วยังมีอีกหลายโรคที่มีไข้และอาจอันตรายกว่าโควิด
ไข้ ไอ เหนื่อย สองสามวัน มีคนข้างบ้านติดโควิด : คนไข้รายนี้เป็นไข้หวัดใหญ่ แต่วนเวียนกับการตรวจโควิดเพียงอย่างเดียวมาหลายวัน
ไข้สูงสามวัน ประวัติเดินทางหลายที่ : ตรวจโควิดหลายรอบมาก โดยไม่ดีขึ้น มาพบเป็นไข้เลือดออก ใกล้เข้าระยะช็อก
ดังนั้น มีไข้สูงเฉียบพลัน ยังคงต้องคิดแยกโรคตามปรกติ และเพิ่มโรคโควิดเข้ามา ไม่ใช่คิดถึงโควิดไว้ก่อนถ้าไม่ใช่ค่อยไปแยกโรคอื่น
2.การตรวจพบโควิด ไม่ได้ตัดโรคอื่นออกไป ในสถานการณ์โรคโควิดที่ยังระบาดอยู่ มีโอกาสสูงมากที่จะพบ "โรคติดเชื้อโควิดแบบไม่มีอาการร่วมกับโรคอื่น" ที่รายงานมากขึ้นเรื่อย ๆ คือ ไข้หวัดใหญ่ แม้กระบวนการคิดทางการแพทย์จะให้เราคิดอาการและข้อมูลทั้งหมดเป็นโรคเดียวกัน แต่ในความเป็นจริงที่ทุกวันนี้เราทดสอบโรคโควิดกันมาก ไม่ว่าความน่าจะเป็นก่อนการทดสอบ (pretest probability) หรือความไวความจำเพาะของการทดสอบจะเป็นอย่างไร
ทำให้เราพบผู้ป่วยที่เป็นโรคใดก็ตาม แล้วไปทำการทดสอบว่าพบเชื้อ อาจจะถูกโน้มเอียงการคิดวินิจฉัยทางการแพทย์ได้
ไข้สูงสามวัน ปวดเมื่อย ปวดหัว ตรวจแอนติเจนเจอเชื้อ ต่อมามีอาการชัก สรุปว่าเป็นเยื่อหุ้มมองอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย ที่ตรวจพบเชื้อโควิดร่วมด้วย
เหนื่อยต่อเนื่องมานาน สองสามวันนี้ อ่อนเพลียมาก เจ็บคอเล็กน้อย ไปตรวจแอนติเจนบวก สรุปว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว ที่ตรวจพบเชื้อโควิดร่วมด้วย
ดังนั้น การตรวจพบเชื้อโควิด อย่างไรก็ต้องมาคิดโอกาสการเป็นโรคโควิดตามกระบวนการวินิจฉัย และวินิจฉัยแยกโรคเสมอ อย่านำเพียงผลตรวจใดผลตรวจหนึ่งเป็นตัวตั้งในการวินิจฉัย
3.การตรวจพบโควิดและสถานการณ์โควิด อาจจะทำให้การรักษา การเข้าถึงการวินิจฉัยโรคอื่น ๆ ทำได้ยากขึ้น แน่นอนว่าผู้ดูแลผู้ป่วยก็ไม่อยากติดโควิด ด้วยเพราะกลัวอันตรายจากโรค และกังวลต่อมาตรการทางกฎหมายและสังคมต่อการติดเชื้อโควิด อาจทำให้การตรวจรักษาบางอย่างล่าช้าไป และเป็นกำแพงขวางกั้นการเข้าถึงการรักษาที่ดี
ผู้ป่วยปวดฟันมาก มีหนองที่รากฟัน วันนี้เริ่มปวดหัว ปวดใบหน้า แต่ตรวจพบแอนติเจนโควิด ทำให้การรักษาล่าช้าจนเกิดผลแทรกซ้อนของหนองที่รากฟัน
ผู้ป่วยมีอาการเหนื่อย เจ็บหน้าอก ไอเล็กน้อย ขาขวาบวมข้างเดียว ตรวจแอนติเจนโควิดเป็นบวก ทำให้การวินิจฉัยลิ่มเลือดดำอุดตันที่ปอดทำได้ช้ามาก
บุคลากรทางการแพทย์ยังคงต้องคิดถึงโรคที่ยังพบตลอดในก่อนยุคโควิด และหากพบว่าผู้ป่วยติดเชื้อ คงต้องใช้มาตรการป้องกันโรคและเข้าไปวินิจฉัยโรคที่ยังมีอยู่ ยังคงอยู่ ตามมาตรฐานปรกติ ส่วนบุคคลทั่วไป แม้ตรวจพบโควิด แต่ไม่ได้ห้ามเราไปเข้ารับการรักษาโรค เพียงแต่แจ้งให้คุณหมอทราบและป้องกันการแพร่กระจายเชื้อด้วย
4.มาตรการที่น่าจะช่วยลดเหตุการณ์ข้อหนึ่ง สอง สาม ลงได้ต้องประกอบด้วยการจัดการที่ดีทั้งฝั่งผู้ป่วยและบุคลากรผู้ให้บริการทางการแพทย์
ความกลัวเรื่องการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตด้วยโรคโควิด : อันนี้ช่วยได้จากการรับวัคซีนตามกำหนด และรักษาสุขภาพให้ดี
ความกลัวเรื่องการแพร่กระจายโรคในสถานที่ต่าง ๆ : ใช้มาตรการ universal precautions การสวมหน้ากาก การล้างมือ การแยกกลุ่มคน การเว้นระยะห่าง ยังคงต้องทำเสมอ และในสถานพยาบาลจะต้องมีการป้องกัน personal protective equipment ที่เพียงพอและมีประสิทธิภาพ
ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มีโอกาสแย่ลง ยิ่งต้องรักษาสุขภาพและดูแลโรคเดิมให้ดี อย่าขาดยา อย่าขาดการติดต่อกับทีมรักษา พยายามลดการกำเริบของโรคเดิม เพราะอาจเข้าถึงการรักษาได้ยากขึ้น
ท้ายสุด ฝากว่า ...โควิดเป็นเมฆหมอกที่เกิดขึ้นใหม่ ทำให้เรามองโรคเดิม สถานการณ์เดิมขุ่นมัว ไม่ชัดเจน คลุมเครือ และน่าหวาดหวั่น แต่โรคเดิมยังอยู่ที่เดิม และอาจจะอันตรายกว่าเดิม เพราะเรา "มองไม่เห็นมัน"..
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น