คุณหวังอะไรจากการตรวจสุขภาพ (2) : สิ่งที่น่าจะเกิด
หัวข้อนี้เป็นรายละเอียด หากผมเขียนแต่หัวข้อเพื่อให้สั้น กระชับ มันจะไม่เข้าใจ ไม่เห็นภาพ จะไม่มีทางสร้างมุมมองและทัศนคติใหม่กับการตรวจสุขภาพเพื่อชีวิตที่ดีได้เลย ดังนั้นจะแบ่งเป็นสองส่วนในหัวข้อ 'สิ่งที่น่าจะเกิด' ครับ
ก่อนอื่นเรื่องนี้สำคัญที่สุด การตรวจสุขภาพ ไม่ใช้เพื่อติดตามโรคเดิมที่เป็นหรือวินิจฉัยอาการใหม่ที่เกิด ยกตัวอย่างถ้าเราเป็นเบาหวาน แต่ไปตรวจสุขภาพพบโปรตีนรั่วในปัสสาวะ และน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งพบในผู้ป่วยเบาหวานอยู่แล้ว ก็จะเกิดประโยชน์น้อย หรือปวดจุกท้องเรื้อรัง แต่ไปตรวจสุขภาพเพื่อหาเหตุ อันนี้มักจะหาไม่พบ หรือถ้าพบก็อาจจะไม่ใช่เหตุที่มาอธิบายอาการของผู้ป่วยได้
ดังนั้น เราตรวจสุขภาพ เพื่อประเมินสภาพและวางแผน รวมทั้งคัดกรองโรคอันพึงสมควรด้วย ส่วนมากจึงแนะนำตรวจในคนที่ไม่มีโรคมากกว่า แล้วควรทำแบบไหนที่จะเกิดประโยชน์บ้าง มาดูกันครับ
1.ประวัติข้อมูลพื้นฐานของผู้เข้ารับการตรวจ จะไม่ได้เน้นประวัติอาการป่วย แต่เป็นข้อมูลสุขภาพพื้นฐานทั่วไป เช่น ข้อมูลน้ำหนักส่วนสูงที่ผ่านมา โรคที่เคยป่วย การผ่าตัดที่เคยได้รับ ประวัติยาที่ใช้ ประวัติแพ้ยา ประวัติการรับวัคซีนที่ผ่านมา การใช้สารเสพติด เหล้า บุหรี่
ความสำคัญคือ ประเมินความเสี่ยงพื้นฐานของหลายโรค ช่วยจัดกลุ่มเสี่ยงเพื่อออกแบบการตรวจขั้นต่อไปและแนะนำการปฏิบัติตัวได้ถูกต้อง
ในต่างประเทศ แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวจะจัดทำแฟ้มสุขภาพครอบครัว เพื่อจะเป็นข้อมูลต่อเนื่องของผู้ป่วย ปัจจุบันอาจจะพัฒนาไปถึงฐานข้อมูลในคลาวด์คอมพิวเตอร์ที่สามารถเรียกข้อมูลมาดูได้ เวลาต้องการประเมินโรค แต่ในประเทศไทยมีฐานข้อมูลแบบนี้ไม่มากนัก ส่วนตัวผมแนะนำให้คุณทำ health portfolio ของตัวเองมานานแล้ว ฐานข้อมูลในนี้จะบอกได้อย่างดีถึงความเสี่ยงโรคและคำแนะนำที่ควรได้รับ
เช่น ผู้ชายคนหนึ่งสูบบุหรี่วันละซองมาสี่สิบปี ฐานข้อมูลในนี้จะช่วยบอกว่ามีโอกาสเกิดโรคถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็งปอด คำแนะนำการตรวจเพื่อค้นหาโรคก็จะมีการวัดสมรรถภาพปอด และการเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ทรวงอก เพื่อประเมินและตรวจสองโรคนี้ ไม่ใช่แค่เจาะเลือด เอ็กซเรย์ปอด ตรวจปัสสาวะ ตามชุดตรวจทั่วไป
2.ประวัติและการตรวจร่างกาย แน่นอนว่าเราจะไม่ได้ทำอย่างละเอียดเหมือนกับการตรวจวินิจฉัย จะมีการซักประวัติในเรื่องทั่วไปต่าง ๆ เช่น
รูปแบบอาหารที่กิน เพื่อการวางแผนควบคุมน้ำหนัก ลดปัจจัยเสี่ยงโรคด้วยการลดเค็ม ลดมัน หรือแนะนำเพิ่มผักผลไม้ หากกินน้อยไป
ลักษณะการทำงาน เพื่อช่วยเพิ่มการออกแรงในแต่ละวัน ให้สอดคล้องกับลักษณะทำงาน หรือแนะนำการจัดท่าทางเพื่อลดอาการปวดเมื่อย
การตรวจร่างกายก็จะทำคร่าว ๆ แต่ที่ต้องทำแน่ ๆ คือ การวัดความดันโลหิตจะช่วยตรวจโรคความดันโลหิตสูงได้เร็วขึ้น การตรวจจับชีพจรเพื่อตรวจหัวใจเต้นผิดปกติ การวัดส่วนสูง รอบเอว เพื่อบอกโอกาสการเกิดกระดูกพรุนกระดูกหัก ประเมินโรคอ้วนลงพุง การตรวจโครงสร้างต่าง ๆ สำหรับค้นหาและป้องกันโรคกระดูกและข้อเสื่อม
หรือจะมีการตรวจต่าง ๆ เพิ่มเติมตามความเสี่ยงของเรา ไม่ตรวจครบทุกระบบ และบันทึกในแฟ้มสุขภาพของเรา ถ้าจะให้ดีก็ติดตามเทียบกับปีก่อน ๆ มาจะมีประโยชน์มาก
3.คำแนะนำเรื่องวัคซีน เรื่องนี้นับเป็นเรื่องที่ผู้เข้ารับการตรวจสุขภาพน่าจะได้รับคำแนะนำน้อยที่สุด เรามักจะพบคำแนะนำวัคซีนมากมายในคลินิกสุขภาพเด็กดี (wellbaby clinic) ในผู้ใหญ่เองก็ควรได้รับคำแนะนำนี้เช่นกัน ประเทศไทยเรามีคำแนะนำวัคซีนสำหรับผู้ใหญ่ในทุกกลุ่มอายุและความเสี่ยง โดยสมาคมแพทย์โรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย
มีทั้งคำแนะนำวัคซีนที่ฉีดเป็นประจำตามช่วงเวลา เช่น ไข้หวัดใหญ่ คอตีบบาดทะยัก ที่การตรวจสุขภาพควรทบทวนเรื่องนี้ หากมีระบบข้อมูลข่าวสารหรือ AI ที่ดีร่วมกับคลินิกตรวจสุขภาพจะช่วยได้มาก
มีทั้งคำแนะนำวัคซีนที่ฉีดเพียงครั้งเดียว เช่น งูสวัด หรือฉีดตามเงื่อนไขต่าง ๆ เช่น วัคซีนไวรัสตับอักเสบบีในกรณียังไม่เคยรับมาก่อน หรือสงสัยภูมิไม่ขึ้นจากการฉีดตอนเด็ก งานตรวจสุขภาพควรทบทวนประวัติและร่วมวางแผนกับผู้เข้ารับการตรวจ
มีประชาชนมากมายที่เข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปีทุกปี แต่ไม่เคยทราบเรื่องการรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ประจำปีเลย ที่ร้ายกว่านั้น หลายคนคิดว่าฉีดวัคซีนโควิดแล้วไม่ต้องฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ก็ได้ ด้วยเข้าใจว่าโรคโควิดคือไข้หวัดใหญ่ชนิดหนึ่ง
4.คำแนะนำการรักษาสุขภาพที่ดี แม้เราจะทราบเรื่องการกินอาหารที่ดี การหลับพักผ่อน การออกกำลังกายที่ดีมาจากหลายแหล่งหลายสื่อ และได้ยินเป็นประจำซ้ำ ๆ แต่จะดีกว่าไหม หากใช้ข้อมูลจากประวัติสุขภาพและผลการตรวจสุขภาพของเรามาปรับคำแนะนำ 'โดยทั่วไป' ให้มาเข้ากับตัวเราและรูปแบบการใช้ชีวิตของเรา
ผมยังมีความคิดที่ว่าคลินิกตรวจสุขภาพ ไม่น่าจะมีแค่เจ้าหน้าที่เจาะเลือดเอ็กซเรย์และหมอที่แปลผล แต่ควรจะมีนักโภชนาการ นักกำหนดอาหาร นักกายภาพ หมอที่เข้าใจเรื่องเวชศาสตร์ป้องกัน มาทำงานร่วมกันเป็นทีม เพราะการตรวจสุขภาพควรนำผลของมันมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ถ้ามีโรคหรือสงสัยโรค ส่งแผนกวินิจฉัย แต่ถ้าไม่มีโรคจะยังคงต้องออกแบบการใช้ชีวิตเพื่อให้สุขภาพดีและป่วยให้น้อยที่สุด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น