หนึ่งในไฮไลต์การเรียนเรื่องฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองคือเรื่อง ฮอร์โมนโปรแลกติน (Prolactin:PRL) ทำไมจึงเป็นไฮไลต์ ก็เพราะมันตรงข้ามกับอันอื่นน่ะสิ
ต่อมใต้สมองถือเป็นศูนย์บัญชาการใหญ่ของฮอร์โมนในร่างกาย ระบบฮอร์โมนส่วนใหญ่ถูกควบคุมที่นี่ ต่อมใต้สมองจะได้รับคำสั่งเพื่อ 'กระตุ้นการสร้างฮอร์โมน' จากสมองส่วนไฮโปทาลามัส คำสั่งกระตุ้นนั้นใช้สารโดปามีนเป็นตัวกระตุ้น ยกเว้นการผลิตฮอร์โมนโปรแลกติน ที่สารโดปามีนจะไป 'ยับยั้งการสร้าง'
จึงเป็นคำตอบที่ว่า ในภาวะโปรแลกตินเกิน จะเกิดจากยาที่ยับยั้งโดปามีน (ยับยั้งโดปามีน โปรแลกตินไม่มีคำสั่งหยุดสร้าง จึงสร้างมหาศาล) และการรักษาเราก็ใช้ยาที่กระตุ้นโดปามีนในสมอง
ไฮไลต์ต่อมาคือ ภาวะฮอร์โมนโปรแลกตินเกิน (hyperprolactinemia) และโรคของต่อมใต้สมองโดยเฉพาะก้อนต่อมใต้สมองส่วนที่มีการสร้างโปรแลกติน (prolactinoma) ตอบสนองดีมากต่อยากระตุ้นโดปามีน และก้อนต่อมใต้สมองที่โต สามารถยุบลงได้จากยาอีกต่างหาก
ยาที่ใช้รักษาหลักคือ cabergoline และ bromocriptine หลายคนอาจจะเคยเห็นในการรักษาโรคพาร์กินสัน เพราะสามารถใช้รักษาได้เหมือนกัน ไปกระตุ้นตัวรับโดปามีน แต่ตัวมันไม่ใช่โดปามีนนะ แค่กระตุ้นตัวรับตรงตำแหน่งเดียวกัน เพราะการรักษาพาร์กินสัน หนึ่งวิธีคือ ใส่สารโดปามีนเข้าไปกระตุ้น ซึ่งยาจะ ออกผลคล้ายกัน เอ่อ… วกกลับมาฮอร์โมนโปรแลกตินดีกว่า
ยาทั้งสองตัวนี้ สามารถรักษาได้เหมือนกัน แต่ก็มีความแตกต่างกันด้วยสมบัติของยา และผลการศึกษา
▪cabergoline เป็นยาออกฤทธิ์ยาวนาน กินสัปดาห์ละครั้งได้ ทำงานสม่ำเสมอ ไม่ลืมกินยา ต้องค่อย ๆ ปรับยา ไม่อย่างนั้นให้ยาซ้ำเกิดพิษได้
▪bromocriptine ออกฤทธิ์สั้นกว่า กินวันละครั้ง อาจจะลืมได้บ่อย แต่ก็ปรับยาได้ง่าย
▪cabergoline มีประสิทธิภาพในการกดฮอร์โมนดีกว่าเล็กน้อย ผลข้างเคียงน้อยกว่ามาก (โดยเฉพาะอาการคลื่นไส้อาเจียน)
▪bromocriptine ประสิทธิภาพการกดฮอร์โมนด้อยกว่านิดนึง ผลข้างเคียงมากกว่า
ส่วนการลดขนาดก้อน ทำได้พอกัน
** เพิ่มสำหรับผู้สนใจ bromocriptine กระตุ้นการตายของเซลล์ lactotroph ด้วยวิธี apoptosis ผ่านกลไก ERK/EGR1 signal pathways ส่วน cabergoline กระตุ้นการตายของเซลล์ lactotroph ด้วยวิธี autophagy ผ่านทางยับยั้งกลไก AKT/mTOR pathways หากอนาคตเราสามารถระบุกลไกหลักของการทำลายเซลล์แต่ละคนได้ ก็จะยับยั้งได้ถูกกลไก **
▪bromocriptine ราคาถูกกว่า หาได้ง่ายทั่วไป อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ
▪cabergoline ยังไม่มีการขึ้นทะเบียนในประเทศไทย แต่ได้รับการบรรจุให้อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ กลุ่มยากำพร้า สำหรับการรักษาภาวะ Hyperprolactinemia
ฮอร์โมนโปรแลกติน ช่างมีความงามแบบตรงกันข้าม มันเลยจำได้แม่นครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น