Hypertriglyceridemia
ไขมันไตรกลีเซอไรด์ เราสามารถวัดได้โดยตรงจากเลือด เรามักจะพบค่าผลการตรวจไขมันไตรกลีเซอไรด์ได้บ่อย เวลาเราเจาะเลือดตรวจหาไขมันในเลือด โดยเฉพาะการตรวจสุขภาพประจำปี (ไม่มีอาการผิดปกติใด) ส่วนในกรณีผู้ป่วยที่คุณหมอเขาส่งตรวจหาระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดนั้น คุณหมอจะมีคำตอบในใจอยู่แล้วว่าคิดถึงโรคใด สูงแปลผลอะไร ต่ำแปลผลอะไร แต่ถ้าเราพบผลเลือดเราไตรกลีเซอไรด์สูง เราคิดอย่างไร
ตอนที่หนึ่ง ค่าที่สูงจะทำอย่างไร
ไขมันไตรกลีเซอไรด์ อาจจะเพิ่มได้หลังจากกินอาหารที่มีน้ำตาลสูง มีแป้งสูง เพราะอิทธิพลจากฮอร์โมนที่ใช้จัดเก็บน้ำตาล หรือจากตัวไขมันในอาหารที่สูงและส่งเข้าลำไส้ เข้ากระแสเลือด ดังนั้นหากในกรณีที่ไขมันไตรกลีเซอไรด์สูงมากกว่า 500 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร และมาจากการตรวจที่ไม่ได้อดอาหาร จะแนะนำให้ตรวจซ้ำโดยงดอาหารมาตรวจอีกครั้ง
ทำไมต้อง 500 … เพราะค่าไตรกลีเซอไรด์ที่สูงกว่า 500 โดยเฉพาะเกิน 1000 จะมีโอกาสเกิดตับอ่อนอักเสบจากไตรกลีเซอไรด์ได้ จำเป็นต้องรีบรักษาและวิธีรักษาก็ต่างจากการรักษาไตรกลีเซอไรด์เพื่อลดความเสี่ยงโรคหัวใจ ดังนั้นจึงต้องแยกออกไปก่อนให้ชัดเจน
หรือหากเราต้องการใช้ค่าไขมันไตรกลีเซอไรด์ที่แม่นยำมาก ๆ ในการวินิจฉัย เช่นโรคไขมันทางพันธุกรรม หรือเพื่อประเมินหลังให้ยาลดไขมันสเตตินแล้วว่าไขมันไตรกลีเซอไรด์ยังสูงอยู่ไหม อันนี้จะงดอาหารครับ ส่วนการตรวจไขมันในเลือดเพื่อประเมินความเสี่ยงโรคหัวใจ สำหรับไขมันไตรกลีเซอไรด์ก็จะมีค่าอ้างอิงทั้งแบบงดอาหาร และไม่งดอาหาร (เพราะปัจจุบันไขมันในเลือดตัวอื่นเราก็ไม่ได้งดอาหาร เว้นเพียงบางกรณี) มันก็จะสะดวกในการติดตามรักษา
นอกจากนี้ไขมันไตรกลีเซอไรด์ เป็นไขมันที่ 'โดนผลกระทบ' จากเหตุอื่นมากมาย ทั้งภาวะร่างกายผิดปกติเช่นภาวะไทรอยด์ต่ำ โรคไตเสื่อมเรื้อรัง หรือจากยาเช่น ยาสเตียรอยด์ ยาเม็ดคุมกำเนิด จากอาหารมัน จากแอลกอฮอล์ บางครั้งหากคุณหมอเขาต้องการแยกเหตุต่าง ๆ ออกไปก่อน ดูว่าไขมันไตรกลีเซอไรด์สูงจริงไหม ก็อาจให้งดอาหาร งดยาที่ต้องสงสัยก่อนนั่นเอง
เอาล่ะ แต่ถ้าค่าไม่เกิน 500 โอกาสเป็นตับอ่อนอักเสบจากไตรกลีเซอไรด์ยังไม่มากนัก เราจะทำอย่างไร ต้องกินยาเลยไหม กินยาไปจะช่วยอะไร เราจะไม่ใช้เพียงค่าตัวเลขค่าเดียวมาตัดสินครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น