กินยาพาราเซตามอลเกินขนาด กับการใช้ยาแก้พิษ
เกือบทั้งหมดเราต้องให้ยารักษาก่อนทราบผลระดับยาพาราเซตามอล เพราะเราส่งได้ไม่กี่ที่ แถมใช้เวลานานกว่าผลจะออก เราจึงใช้การกะประมาณจากปริมาณยาที่กินเข้าไป และให้ยาเพื่อลดโอกาสเกิดตับอักเสบจากยา ยานั้นคือ N-Acetyl-Cysteine
ปัจจุบันเราให้ยาทางหลอดเลือดดำเป็นหลัก จะใช้ยากินเมื่อใช้ยาฉีดไม่ได้เท่านั้น เพราะการบริหารยาด้วยการกินค่อนข้างทำยาก คลื่นไส้อาเจียน ดื่มไม่ไหว เราจึงใช้ยาหยดทางหลอดเลือดดำ … สำคัญมากคือ คำนวณขนาดยาและเดินไปดูยาในสต็อกด้วย เพราะใช้เยอะมากในแต่ละราย เรียกว่าหักแอมพูลยากันเมื่อยมือทีเดียว
ขนาดยายอดฮิต จำไปใช้เลย 150-50-100 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ดังนี้
🔹150 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัม ผสมใน น้ำเกลือนอร์มัล 200 ซีซี หยดใน 1 ชั่วโมง ตามด้วย
🔹50 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัม ผสมในน้ำเกลือนอร์มัล 500 ซีซี หยดใน 4 ชั่วโมง ตามด้วย
🔹 100 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัม ผสมในน้ำเกลือนอร์มัล 1000 ซีซี หยดใน 16 ชั่วโมง
และหากยังมีตับอักเสบ ก็ยังให้ยาต่อเนื่องได้ ในขนาด 100-150 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัม ผสมในน้ำเกลือ 1000 ซีซี หยดใน 24 ชั่วโมง
ข้อควรระวังคือเกิดปฏิกิริยาแพ้เทียม (anaphylactoid) มีผื่นขึ้นได้ หลอดลมตีบได้ ใจสั่น แก้ไขโดยพักการให้ยา แล้วให้ยาในอัตราที่ช้าลง ถ้าไม่ไหวจริง ๆ ก็ใช้ยากินครับ แต่ช้าก่อน เราอาจมีวิธีลดอาการเหล่านี้นะครับ
ในหนังสือ การรับปรึกษาผู้ป่วยในทางอายุรศาสตร์ โดยราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่วประเทศไทย ได้เขียนสูตรการให้ NAC อีกสูตรที่บอกว่าน่าจะช่วยให้บริหารยาได้ดีกว่า และมีอ้างอิงที่มา เดี๋ยวผมจะมาเล่าให้ฟัง ตอนนี้เรามาดูสูตรที่ว่านั้นก่อน
🔹 200 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัม ผสมในน้ำเกลือนอร์มัล 500 ซีซี หยดใน 4 ชั่วโมง ตามด้วย
🔹100 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัม ผสมในน้ำเกลือนอร์มัล 1000 ซีซี หยดใน 16 ชั่วโมง
สูตรนี้มีประสิทธิภาพไม่ได้ด้อยไปกว่าสูตรเดิม แต่บริหารยาง่ายกว่าและมีผลข้างเคียงน้อยกว่า
ที่มาจากเอกสารหมายเลข 1. เป็นการศึกษาแบบเก็บข้อมูลไปข้างหน้าทำในประเทศเดนมาร์ก ระหว่าง สูตรสองถุง 493 รายและสูตรสามถุง 274 ราย พบว่า
>> กลุ่มที่ได้สูตรสองถุงพบผลข้างเคียง 4% เมื่อเทียบกับสูตรสามถุง 17%
>>และต้องหยุดยาเพื่อแก้ไขอาการข้างเคียง ไม่ว่าชั่วคราวหรือถาวรในกลุ่มสูตรสองถุง 5% เทียบกับสูตรสามถุง 12%
โดยที่อัตราการเกิดตับอักเสบยาพาราเซตามอลไม่ได้ต่างกัน (ประโยชน์พอกัน)
เราไปดูอีกหนึ่งการศึกษา ใหม่กว่า ทำในปี 2020 ลงตีพิมพ์ใน The Lancet (EClinicalMedicine) เป็นการศึกษาแบบเฝ้าสังเกตไปข้างหน้าเช่นกัน
ในผู้ป่วยพิษจากยาพาราเซตามอลที่ต้องได้ยา NAC 2763 คน ชื่อการศึกษา 2NAC study เพื่อทดสอบว่าสามารถป้องกันตับอักเสบได้ “ไม่ด้อยไปกว่า” สูตรเดิม แต่มีผลแทรกซ้อนน้อยกว่า
>> กลุ่มที่ได้สูตรสองถุง จำนวน 1003 ราย เกิดตับอักเสบ 3.1% และมีผลแทรกซ้อนจากยา 1.3%
>> กลุ่มที่ได้ยาสูตรสามถุงสูตรเดิม 783 ราย เกิดตับอักเสบ 2.9% และมีผลข้างเคียงแทรกซ้อนจากยา 7.1 %
จากงานวิจัยแบบเฝ้าสังเกตทั้งสองนี้ ก็บอกได้ว่า การให้ยาสูตรสองถุง น่าจะช่วยลดผลแทรกซ้อนได้ดีกว่า แต่เนื่องจากเป็นงานวิจัยแบบเก็บข้อมูล ไม่ใช่การทดลองทางคลินิก และเป็นเพียงการทดสอบความ “ไม่ด้อยกว่า” ไม่ได้ทดสอบว่าเหนือกว่า
ดังนั้น หากจะใช้สูตรสามถุงที่เคยใช้และคุ้นเคยกันดี ก็ไม่ได้ผิดแต่อย่างใดนะครับ เพราะถึงอย่างไร การเฝ้าระวังผลแทรกซ้อนจากการใช้ NAC ยังคงต้องเฝ้าระวังตลอดการใช้ยา
ปล. วันนี้วันที่ 15 ของทุกเดือน
ที่มา
1. Lars E. Schmidt, Ditlev N. Rasmussen, Tonny S. Petersen, Ines M. Macias-Perez, Leo Pavliv, Byron Kaelin, Richard C. Dart & Kim Dalhoff (2018) Fewer adverse effects associated with a modified two-bag intravenous acetylcysteine protocol compared to traditional three-bag regimen in paracetamol overdose, Clinical Toxicology, 56:11, 1128-1134, DOI: 10.1080/15563650.2018.1475672
2. Efficacy of a two bag acetylcysteine regimen to treat paracetamol overdose (2NAC study) Wong, Anselm et al. EClinicalMedicine, Volume 20, 100288
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น