26 เมษายน 2564

คนสูบบุหรี่จะป่วยเป็นโรคโควิดรุนแรงขึ้นไหม ...?

 คนสูบบุหรี่จะป่วยเป็นโรคโควิดรุนแรงขึ้นไหม ...?

คิดตามเหตุผลก็น่าจะเป็นอย่างนั้นใช่ไหม สูบบุหรี่ประจำสุขภาพย่อมไม่ดี มีโรคนั่นนี่เยอะแยะ ถ้าป่วยเป็นโควิดน่าจะรุนแรง (ย้ำว่า ถ้าเป็นแล้วจะรุนแรง ไม่ใช่มีโอกาสติดมากขึ้นนะ) มีหลักฐานไหม ลองมาดูข้อมูลชุดนี้กัน

ข้อมูลการศึกษาตีพิมพ์แบบ research letter ในวารสาร JAMA Internal Medicine เมื่อ 25 มกราคม 2564 เป็นข้อมูลที่เก็บจากฐานข้อมูลผู้ป่วยที่ Cleveland Medical Center ในช่วงที่โควิดระบาด มีนาคม 2563 จนถึง สิงหาคม 2563 โดยผลคัดมาแต่ผู้ที่ยืนยันโรคโควิดและมีประวัติเรื่องการสูบบุหรี่ครบถ้วน

*** จุดสังเกตข้อแรก อาจจะไม่ได้แปลผลถึงผู้สูบบุหรี่ทุกคนได้ เพราะวิเคราะห์แต่ผู้ที่ข้อมูลครบถ้วนเท่านั้น ถึงแม้สูบแต่ข้อมูลไม่ครบก็ไม่นำมารวมครับ ***

พบว่ามีผู้ป่วย 7012 รายที่มีข้อมูลการสูบบุหรี่ครบถ้วน เป็นผู้ที่ไม่เคยสูบบุหรี่ 6020 ราย มีคนที่กำลังสูบอยู่ 172 ราย (2.4%) และเคยสูบแต่เลิกแล้ว 910 ราย (12.8%)

*** จุดสังเกตต่อมา มีผู้ป่วยที่สูบบุหรี่ไม่มากนัก แน่นอนว่าอุบัติการณ์โรครุนแรงหรืออัตราตายย่อมไม่สูง เพราะจำนวนไม่มากพอ อาจระบุความสัมพันธ์ระหว่างโควิดกับบุหรี่ได้ยาก ***

กลุ่มประชากรที่สูบบุหรี่ปริมาณมาก (วัดที่จำนวนซองปี) จะเป็นคนที่อายุมาก ซึ่งแน่นอนจะสูบปริมาณมากได้อายุต้องมากพอ ยกตัวอย่าง คนที่สูบบุหรี่มากกว่า 30 ซองปี มีอายุเฉลี่ยที่ 71 ปี คนที่สูบบุหรี่น้อยกว่า 10 ซองปี มีอายุเฉลี่ยที่ 53 ปี

*** จุดสังเกตต่อมา ถ้าผลออกมาว่าสูบมากจะสัมพันธ์กับโรครุนแรง มันอาจมี confouder ที่สำคัญคืออายุ ไม่รู้ที่แย่ แน่เพราะสูบมากหรืออายุมาก หรือทั้งคู่ ***

ทำให้ต้องไปมองว่า กรรมวิธีการศึกษามีวิธีการตัดตัวรบกวนนี้ไหม ก็พบว่ามี เป็น multivariate logistic regression analysis แต่ยิ่งมีตัวกวนมาก ตัดมาก ผลลัพธ์ยิ่งแปรปรวนมาก

พบว่ากลุ่มที่สูบบุหรี่มาก อายุมาก ก็เป็นกลุ่มที่มีโรคร่วมมาก และมากขึ้นตามอายุ เอาอีกแล้ว ตัวกวนข้อมูลมาอีกแล้วแถมเยอะด้วย ก็ต้องไปดูอีกว่าวิเคราะห์แยกตรงนี้ไหม พบว่าวิเคราะห์แยก

*** แต่เป็นการวิเคราะห์แยกที่ไม่ได้กำหนดตัวกวนแต่ละตัวไว้ก่อน (prespecified analysis) สาเหตุที่ทำไม่ได้เพราะนี่คือการเก็บข้อมูลก่อนแล้วมาวิเคราะห์ มันกำหนดไม่ได้ ความน่าเชื่อถือของผลการศึกษาจะยิ่งลดลง ***

ยังไม่ได้ดูผลเลยนะ เอาแค่วิธีการ ก็น่าจะบอกได้เพียงความสัมพันธ์ "แบบหลวม ๆ" ถ้ายิ่งผลการศึกษาออกมากำกึ่ง ๆ ล่ะก็อาจต้องพับงานวิจัย งั้นมาดูผลกัน

ผลออกมาว่า เมื่อเทียบกับคนที่ไม่เคยสูบบุหรี่เลยนั้น

ถ้าสูบบุหรี่มากกว่า 30 ซองปี จะเพิ่มการนอนโรงพยาบาลจากโควิดมากขึ้น 2.25 เท่า

ถ้าสูบบุหรี่มากกว่า 30 ซองปี จะเพิ่มโอกาสเสียชีวิตมากขึ้น 1.89 เท่า (เสียชีวิตจากโควิดหรือไม่ ก็ไม่ได้ระบุ)

โดยผลการศึกษาทั้งคู่มีนัยสำคัญทางสถิติ

เราก็พอสรุปได้ว่า การสูบบุหรี่ปริมาณมาก มีความสัมพันธ์ต่อความรุนแรงและอัตราการเสียชีวิต ในผู้ป่วยโรคโควิด-19 จริง (แต่สำหรับผม ผมจะประเมินความหนักแน่นและระดับคำแนะนำไม่สูงมากนัก) ให้คิดไว้เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ควรซักถามเวลาพบผู้ป่วยโควิด แต่ไม่ถึงขั้นเอาไปจัดลำดับความรุนแรงโรคตามปริมาณการสูบได้ และคงบอกว่า "การสูบบุหรี่ 'ทำให้'ป่วยเป็นโควิดหนักขึ้น" ยังไม่ได้เพราะหลักฐานไม่หนักแน่นขนาดนั้นครับ

ช่วงนี้ ต่อมสงสัยhypertrophy !?!

อาจเป็นรูปภาพขาวดำของ หนึ่งคนขึ้นไป, ผู้คนกำลังสูบบุหรี่ และสถานที่ในร่ม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม