คำแนะนำการรับวัคซีนโควิด-19 ในผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันผิดปกติ โรครูมาตอยด์ โรคเอสแอลอี โรคการอักเสบของหลอดเลือดและเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน จากวิทยาลัยแพทย์รูมาโตโลยี่ของสหรัฐอเมริกา ฉบับมีนาคม 2021
ผมสรุปมาแต่ส่วนสำคัญที่ประชาชนหรือผู้ป่วยควรรับทราบ ส่วนรายละเอียดเชิงลึกสามารถหาได้จากเว็บไซต์ของ American College of Rheumatology
ต้องบอกก่อนว่าคำแนะนำนี้เกือบทั้งหมดมาจากคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ ส่วนข้อมูลอันเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ก็มาจากข้อมูลจากการเก็บข้อมูล ไม่ใช่การทดลองวิจัยทางการแพทย์ และข้อมูลทั้งหลายยังมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอด เพราะข้อมูลเรื่องวัคซีนยังไม่คงที่
1. ท่านไปปรึกษาคุณหมอประจำตัวของท่านได้เลย ว่าขณะนี้โรคยังรุนแรงหรือควบคุมได้หรือยัง เหมาะสมกับการฉีดวัคซีนหรือไม่ ตกลงข้อดีข้อเสียของการฉีดวัคซีนร่วมกัน อันนี้สำคัญที่สุด เพราะยังไม่มีข้อมูลเชิงประจักษ์มากพอเกี่ยวกับผลของวัคซีนในผู้ป่วยกลุ่มนี้
2. ในขณะที่ข้อมูลยังไม่ครบถ้วน แต่สถานการณ์การระบาดที่แพร่หลาย และหากผู้ป่วยกลุ่มนี้ติดเชื้อโควิดจะอาการรุนแรงกว่าคนทั่วไป เมื่อชั่งผลดีผลเสีย “โดยรวม” แนะนำการรับวัคซีนในคนไข้กลุ่มนี้ ที่โรคควบคุมได้ จะมีเว้นแต่ผู้ป่วยที่โรคกำลังกำเริบรุนแรงเท่านั้น และถ้าคิดตามโอกาสเสี่ยงการเกิดโควิดรุนแรง ผู้ป่วยกลุ่มนี้ตกในกลุ่มแรก ๆ ที่ควรรับวัคซีนอีกด้วย
3. ข้อห้ามที่สำคัญที่สุดเพียงข้อเดียวคือ มีประวัติแพ้ส่วนประกอบในวัคซีน ที่เหลือสามารถรับวัคซีนได้หลังคุยประเมินกับคุณหมอที่รักษาแล้ว โดยการรับวัคซีนก็ใช้เกณฑ์และวิธีการเดียวกับบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้ป่วย
4. ข้อมูลทั้งหลายมาจากวัคซีน mRNA ที่ใช้ในอเมริกาเป็นหลัก แต่ก็สามารถปรับใช้ได้กับวัคซีนทั่วไป (วัคซีนโควิดที่แนะนำเป็นวัคซีนเชื้อตาย ซึ่งที่ใช้กันอยู่ก็เป็นวัคซีนเชื้อตายทั้งสิ้น)
5. ข้อกังวลของการฉีดวัคซีนในผู้ป่วยกลุ่มนี้คือ ด้วยโรคของระบบภูมิคุ้มกันหรือการได้รับยากดภูมิคุ้มกันอาจทำให้ภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการฉีดวัคซีนไม่ได้เป้าตามที่บริษัทวัคซีนระบุได้ ดังนั้นยังคงต้องใช้มาตรการอื่น ๆ ในการป้องกันโรคต่อไป และไม่มีคำแนะนำให้ตรวจวัดระดับภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีนแล้วแต่อย่างใด
6. แนะนำให้ผู้ที่ดูแลผู้ป่วยหรืออาศัยร่วมบ้านเดียวกัน ควรรับวัคซีนด้วย เพื่อลดโอกาสส่งเชื้อไปสู่ผู้ป่วย แต่อย่าลืมว่า ฉีดให้ผู้ป่วยก่อนคนดูแลนะครับ
7. มีคำแนะนำเกี่ยวกับการหยุดยาก่อนหรือหลังรับวัคซีน ในยาบางตัว ทั้งนี้ขึ้นกับระยะของโรคและดุลยพินิจของคุณหมอที่รักษา
7.1 ถ้าใช้ยา methotrexate, JAK inhibitors ควรหยุดยาหลังจากรับวัคซีนไปอีกหนึ่งสัปดาห์
7.2 ยา abatacept ฉีดใต้ผิวหนัง หยุดยาก่อนรับวัคซีนหนึ่งสัปดาห์ และหลังรับวัคซีนอีกหนึ่งสัปดาห์
7.3 ยา cyclophosphamide ฉีดหลอดเลือดดำ ให้เว้นยาหลังฉีดวัคซีนหนึ่งสัปดาห์
7.4 ยา abatacept แบบฉีดหลอดเลือดดำ ให้เว้นระยะเวลาหลังรับยาไป 4 สัปดาห์ก่อนรับวัคซีน และทิ้งระยะเวลาอย่างน้อยหนึ่งสัปดาห์หลังรับวัคซีน ก่อนจะได้ยาโด๊สต่อไป ...ทั้งหมดนี้เฉพาะวัคซีนเข็มแรกเท่านั้น เข้มสองไม่ต้องเว้น
7.5 ยา rituximab อันนี้สำคัญมาก เพราะภูมิมักไม่ค่อยขึ้นจากการกดเซลล์ที่สร้างภูมิจากการรับวัคซีนโดยตรง การฉีดวัคซีนต้องให้ก่อนกำหนดการให้ยา rituximab โด๊สถัดไปอย่างน้อย 4 สัปดาห์ และเว้นไปอีก 4 สัปดาห์หลังวัคซีนเข็มสอง (คือช่วงรอฉีดวัคซีนก็ต้องไม่ให้ยาด้วยนะ) ส่วนคำแนะนำของ EULAR ก็แนะนำคล้ายกันแต่เพิ่มว่าควรให้วัคซีนหลังจากเว้นยา rituximab โด๊สสุดท้ายมาแล้วอย่างน้อย 6 เดือน ดังนั้น จึงพิจารณาให้ในกรณีโรคควบคุมได้ดีเท่านั้น
7.6 ยาสามัญทั่วไปที่ใช้มาก ไม่ต้องเว้นไม่ต้องหยุดยาเวลารับวัคซีน hydroxychloroquine, prednisolone ขนาดน้อยกว่า 4 เม็ดต่อวัน, sulfasalazine, leflunomide, MMF, azathioprene, cyclophosphamide แบบกิน, anti TNF, anti IL, belimumab
8. ถ้ามีข้อสงสัยให้กลับไปอ่านข้อหนึ่งแล้วปรึกษาคุณหมอที่ดูแลรักษาโรคประจำตัวของคุณเสมอ และอย่าลืมแจ้งหน่วยงานที่ฉีดวัคซีนด้วยว่า “ฉันมีโรคประจำตัวใด”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น