การจัดการความเสี่ยงโรคหัวใจสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ตอนที่สาม ยา GLP1 agonists
✔✔ยา GLP1a สามารถลดโอกาสการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่สอง **ที่มีความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดสูง** โดยลดลงได้ในภาพรวมประมาณ 13%-15% และส่วนมากเกิดจากการลดอัตราการตายจากโรคหัวใจ คล้ายยา SGLT2i แต่ไม่เหมือนเสียทีเดียวเพราะการศึกษาส่วนใหญ่ทำในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงเป็นหลัก
มียา dulaglutide ในการศึกษาชื่อ REWIND ที่มีผู้ป่วยเบาหวานความเสี่ยงโรคหัวใจสูงอยู่เพียงประมาณ 30% แล้วพิสูจน์ว่าสามารถลดโอกาสเกิดโรคหัวใจลงได้ (การศึกษาตัวอื่น ๆ มีผู้ป่วยเสี่ยงสูงประมาณ 60-80%)
ยากลุ่มนี้ไม่ได้ผลที่เหมือนกันหมดทุกตัว แนวโน้มการลดโอกาสเกิดโรคนั้น ลดได้เหมือนกันแต่เนื่องจากมีบางตัวเท่านั้นที่ผ่านการพิสูจน์ทางวิชาสถิติว่ามีนัยสำคัญตามการศึกษา ยาที่เหลือนั้นไม่ได้หมายความว่ายาไม่ดี มันก็ลดโอกาสการเกิดโรคเพียงแต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ บางที กระบวนการทางสถิติมันพิสูจน์ได้เท่านี้
1. สำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่มีความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ สามารถใช้ยา GLP1a เพื่อลดความเสี่ยงและลดน้ำตาลได้ โดยใช้ร่วมกับยารักษาหลัก ยาที่ได้ผลชัดจากการศึกษาคือ dulaglutide, liraglutide และ semaglutide (แบบฉีดเท่านั้น)
2. ยา lixinatide, exenatide และ semaglutide (ชนิดกิน เป็นตัวเดียวที่เป็นแบบกิน) ทั้งสามตัวนี้สามารถลดโอกาสการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้เช่นกัน เพียงแต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ แต่จะได้ความสะดวกเพราะสามารถฉีดสัปดาห์ละครั้ง หรือใช้แบบยากินได้
3. การใช้ยากลุ่มนี้ จะแตกต่างจากยา SGLT2i คือจะเริ่มในขนาดต่ำก่อนเพื่อลดผลข้างเคียงที่สำคัญที่สุดของยาคือ คลื่นไส้อาเจียน และค่อย ๆ ปรับขนาดยาให้ถึงขนาดสูงสุด เพื่อการลดน้ำตาลที่ดีขึ้น และเลี่ยงผลข้างเคียงคลื่นไส้ อันนี้จะต่างจากการใช้ SGLT2i นะครับ (ที่มักจะไม่ต้องปรับเพิ่มสักเท่าไร) สำหรับตัวเลขการลดน้ำตาลค่อนข้างดีเลยทีเดียว จึงสามารถปรับเพิ่มเพื่อควบคุมน้ำตาลได้ด้วย
4. ข้อดีอีกอย่างของยากลุ่มนี้คือ สามารถลดน้ำหนักตัวได้ จากการศึกษานั้นน้ำหนักลงมากกว่าการรักษามาตรฐาน 2-4% (นับว่าเยอะนะครับ) แต่อย่าลืมว่า ลดเพิ่มจากการรักษามาตรฐาน คือ การรักษามาตรฐานเราต้องได้ ควบคุมอาหาร ลดแป้ง ลดน้ำตาล ออกกำลังกาย
▪และแม้จะมียา liraglutide ในขนาดสูง ที่ไม่ใช่ขนาดที่เรารักษาเบาหวาน ได้รับการรับรองใช้เป็นยาลดน้ำหนัก แต่จากการศึกษาจะต้องปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัดมาก่อนสองปี และน้ำหนักตัวต้องมากจริง ๆ จึงจะเห็นผล
▪ฝากให้คิดเรื่องน้ำหนักที่ลดลง น้ำหนักตัว 100 กิโลกรัม ลดลง 4 กิโลกรัม มันลดผลจากความอ้วนได้มากมาย แต่น้ำหนักตัว 50 กิโลกรัม ลดลง 2 กิโลกรัม แทบไม่เห็นผลอะไรเลย
5. สำหรับการปกป้องโรคไตจากเบาหวาน ยากลุ่มนี้สามารถลดโรคไตจากเบาหวาน ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด เพียงแต่มันไม่ใช่การศึกษาที่ดูผลการลดโรคไตจากเบาหวานโดยตรง เป็นเพียงผลที่เห็นจากการวัดผลอย่างอื่น บอกได้แค่ว่าเป็นประโยชน์แถมเล็กน้อย ไม่ใช่ประโยชน์หลักที่พิสูจน์ได้ ต้องรอผลการศึกษาที่วัดเรื่องโรคไตโดยตรงของยา semaglutide ที่ชื่อ FLOW
6. ผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดได้ที่พบร่วมกันคือ อาการคลื่นไส้อาเจียนซึ่งเป็นอาการที่ทำให้หยุดใช้ยาเลยทีเดียว จึงแนะนำให้เริ่มในขนาดต่ำและค่อย ๆ ปรับเพิ่ม และยังมีผลที่ต้องระวังเล็กน้อย และยังไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจน เพียงแต่พบและต้องระวัง ต้องบอกกับคนไข้ ดังนี้
▪อาจเกิดการอักเสบของระบบน้ำดีโดยเฉพาะ ถุงน้ำดีอักเสบแบบไม่มีนิ่ว
▪มีข้อระวังการใช้ในผู้ป่วยที่มีการผ่าตัดกระเพาะ โดยเฉพาะการผ่าตัดลดขนาดกระเพาะ
▪ส่วนเรื่องตับอ่อนอักเสบ แม้จะพบในระดับรายงานผู้ป่วย แต่จากการศึกษาขนาดใหญ่ยังไม่พบเลย
▪ในการศึกษา SUSTAIN-6 ของยา semaglutide พบโรคตาจากเบาหวานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เป็นคำแนะนำในการตรวจตา (ซึ่งเราก็ทำอยู่แล้ว)
ตอนต่อไปเป็นแนวคิดรวบยอดและบทสรุปนะครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น