คุณรู้ไหม นักกำหนดอาหารและนักโภชนาการ สำคัญมากเพียงใด (แนวทางการจัดการอาหารในผู้ป่วยไตเสื่อมเรื้อรัง)
สำหรับผู้ป่วยไตเสื่อมเรื้อรัง ขอบอกว่าการจัดการโภชนาการส่งผลต่อการชลอโรค ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต ส่งผลต่ออัตราการเสียชีวิต ดังนั้นการเข้ารับการดูแลเรื่องโภชนาการสำหรับผู้ป่วยไตเสื่อมเรื้อรัง จะต้องทำตั้งแต่เริ่มวินิจฉัย ทำตั้งแต่ระยะแรก เพราะ ทำตั้งแต่แรกจะทำง่าย ข้อจำกัดเรื่องสภาวะของโรคมีไม่มาก และมีเวลาปรับตัวปรับชีวิต ทำให้การรักษาด้วยโภชนาการไม่ล้มเหลว
แต่ขั้นตอนนี้จำเป็นต้องอาศัยนักโภชนาการและนักกำหนดอาการ มาร่วมแปลความจากภาษาวิชาการ เป็นภาษาปฏิบัติด้วยเสมอ เช่น
"ผู้ป่วยควรได้รับพลังงาน 25-30 กิโลแคลอรี่ ต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัม ต่อหนึ่งวัน และหากเป็นโรคไตเสื่อมเรื้อรัง ที่ยังไม่ได้เข้ารับการบำบัดแทนไต ควรได้รับโปรตีน 0.6-0.8 กรัม ต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัมต่อวัน และเพิ่มสัดส่วนโปรตีนจากพืชมากขึ้น"
คนไข้และผู้ดูแลจะถามทันทีว่า ตกลงแล้วฉันจะกินอะไรได้บ้าง ปริมาณเท่าไร ปรุงแบบไหน แล้วอาหารที่บ้านฉัน จะภาคเหนือ ภาคใต้ จะปรับแบบไหน อีสานบ้านฉันข้าวเหนียวถูก กินข้าวเหนียวแทนได้ไหม นักโภชนาการและนักกำหนดอาหารจะมีคำตอบให้อย่างชัดเจนครับ
หากสถานพยาบาลใด ไม่มีนักกำหนดอาหาร ผู้ที่ดูแลผู้ป่วยต้องหาวิธีและอ่านการจัดการเอง ผมได้แปะลิ้งค์แนวทางการจัดการอาหารและโภชนาการมาให้แล้วครับ ด้านล่าง
ผมขอยกข้อที่สำคัญและไม่อยากให้พลาดมาบางส่วนนะครับ
1. การคัดกรองและการประเมินโภชนาการผู้ป่วยไตเสื่อมจะต้องทำทุกคนและติดตามเสมอ เมื่อใดพบว่าคัดกรองแล้วเสี่ยง ต้องทำการทดสอบเพื่อยืนยัน แบบทดสอบต่าง ๆ สามารถโหลดได้จากสมาคมผู้ให้อาหารทางหลอดเลือดดำและทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย หรือทางสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย
2.เมื่อตรวจคัดกรองได้ ยืนยันได้ ต้องให้การรักษาและติดตามผล ตามแนวทางอเมริกาเขาให้วัดสัดส่วนไขมัน โปรตีน กระดูก โดยใช้เครื่อง DXA ที่วัดมวลกระดูก หรือ เครื่อง bioimpedance แต่บ้านเราน่าจะทำยาก ใช้การบันทึกอาหารที่กิน การวัดดัชนีมวลกาย การตรวจติดตามผลเลือดค่า BUN, albumin ก็จะพอประเมินได้ครับ
3.การกำหนดพลังงานและสัดส่วนอาหาร ขึ้นกับระยะของโรคไตเสื่อม โดยภาพรวมจะแบ่งเป็นระยะต้นคือ ระยะ 1-3 และระยะท้ายคือระยะ 4 และ 5 หรือต้องฟอกเลือด เปลี่ยนไตแล้ว นอกจากระยะแล้วก็คิดถึงโรคร่วมที่สำคัญคือ เบาหวานเพราะมีผลต่อการกำหนดพลังงาน
4.โดยทั่วไปก็กำหนดพลังงานที่ 25 Cal/kg/day ลดเกลือโซเดียมไม่เกิน 2.3 กรัมต่อวัน ควบคุมค่าโปตัสเซียมและฟอสเฟต ตามผลเลือดคนไข้ หากยังไม่ได้ฟอกเลือดแนะนำโปรตีนที่ 0.6-0.8 g/kg/day หากฟอกเลือดจะเพิ่มไปที่ 1.0-1.2 ได้เลย
5.ชนิดของโปรตีนไม่ค่อยสำคัญนัก จะมาจากพืชหรือสัตว์ไม่ค่อยแตกต่างกัน ขอปริมาณให้ได้มากพอ ไม่น้อยไป ไม่มากไป ผู้ป่วยที่น้ำหนักน้อยและโปรตีนน้อย ส่งผลต่ออัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นนะครับ แม้จะมีคำแนะนำให้ลดอาหารที่สร้างกรด เช่นเนื้อสัตว์ แต่ผลกระทบที่เกิดไม่ได้ชัดเจนว่าส่งผลเสียมากเท่าไร
6.กินอาหารปรกติก่อน ถ้าไม่พอจึงเสริมด้วยอาหารทางการแพทย์ ส่วนการให้สายให้อาหารหรืออาหารทางหลอดเลือดดำ ใช้เมื่อจำเป็นจริง ๆ เท่านั้น ตรงนี้สำคัญนะครับ เพราะแนวทางการจัดการอาหาร เน้นอาหารจากการกินปรกติมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นโปรตีนหรือแร่ธาตุ วิตามิน การกินอาหารหลากหลายจึงสำคัญ (อย่าลืมดูสุขภาพช่องปากและฟันด้วย ผู้ป่วยส่วนมากกินตามที่ต้องการไม่ได้ เพราะเคี้ยวไม่ได้)
7.แร่ธาตุต่าง ๆ วิตามินต่าง ๆ โดยภาพรวมคือกินให้พอในแต่ละวัน จะเติมแบบยาเมื่อมีภาวะขาดสารอาหารหรือสารอาหารนั้นบกพร่องไป เช่นยาธาตุเหล็ก ยาโฟลิก ยาเม็ดวิตามิน แม้กระทั่งวิตามินดี ที่มีการสังเคราะห์เปลี่ยนรูปที่ไต และเมื่อไตเสื่อมจะมีน้อยลง วิตามินดียังแนะนำให้ใช้เมื่อพบว่าขาดหรือไม่พอ (แต่ประเทศไทยนั้นพบว่าส่วนมากจะขาด) จะมีบางภาวะที่ควรให้เลยเช่น โรคไตเนโฟรติก (แต่ด้วยระดับคำแนะนำแค่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำเท่านั้น)
8.การใช้แคลเซียม อันนี้ควรประเมินโดยแพทย์ครับ เพราะผู้ป่วยโรคไตเสื่อมเรื้อรัง จะมีวิตามินดีและการควบคุมจากฮอร์โมนพาราไธรอยด์ที่บกพร่องไปมาก ต้องคิดร่วมกับการใช้วิตามินดีด้วยอีกต่างหาก ไม่งั้นเดี๋ยวแคลเซียมเกินได้
ข้อกำหนดทั้งหลายนี้ พวกเราอาจมองภาพไม่ออก แต่ถ้าลองไปปรึกษาโภชนากรหรือนักกำหนดอาหาร เขาจะบอกได้เป็นฉาก ๆ เห็นภาพ เป็นเมนูออกมาเลยนะครับ ดังนั้นหนึ่งในทีมรักษาโรคไตเสื่อมที่จำเป็นมากคือนักกำหนดอาหารและโภชนากร (คนละตำแหน่งกันนะ)
ข้อสังเกตอันหนึ่งที่เห็นจากการอ่านคือ มีการศึกษาว่าอาหารเมดิเตอเรเนียน ที่เราศึกษามาแล้วว่าดีต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดก็เข้ากันได้กับอาหารสุขภาพดีสำหรับโรคไตเสื่อมเรื้อรังนี้เช่นกัน
สำคัญแบบนี้เดี๋ยวเย็นนี้ต้องจัดอาหารทะเลจีนใต้สักหน่อย ม้ากระทืบร่าง ช้างกระทืบโรง โด่ไม่รู้ล้ม มาเสริมพลังสักคืน
โหลดได้ อ่านฟรี
https://www.ajkd.org/article/S0272-6386(20)30726-5/fulltext
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น