21 สิงหาคม 2563

ทักษะการกู้ชีพ ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21Wolff-Parkinson-White

 ทักษะการกู้ชีพ ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21

ภาพจาก JAMA Internal Medicine เมื่อ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา ตีพิมพ์เรื่องราวของผู้ป่วยชาวโปรตุเกสที่หมดสติและไม่มีชีพจรในบ้าน เขาได้รับการช่วยเหลือโดยติดเครื่อง AED ที่อยู่แถวนั้น เครื่องวิเคราะห์ให้ช็อกหัวใจด้วยไฟฟ้า เขาได้นับการช็อกหนึ่งครั้งแล้วกลับมามีชีพจรอีกครั้ง จนทีมช่วยเหลือมาถึง เขาก็รอดชีวิต

ภาพแสดงคลื่นไฟฟ้าหัวใจคือ ventricular fibrillation หัวใจห้องล่างเต้นแบบสั่นพริ้ว เร็วมากเสียจนไม่มีแรงส่งเลือดออกมาได้ ก็จะไม่มีเลือดออกจากหัวใจ ไม่มีชีพจร แน่นอนจะเสียชีวิตแบบเร็วมาก หัวใจเต้นเร็วมากฉับพลันเป็นสาเหตุการเสียชีวิตแบบฉับพลันที่สำคัญมาก และแก้ไขได้ หากทำทันเวลา

รายนี้นอกจากจะช่วยชีวิตแล้ว ภาพคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่บันทึกได้หลังจากฟื้น เป็นโรคหัวใจที่มีทางลัดวงจรไฟฟ้าหัวใจ ทำให้คลื่นไฟฟ้าหัวใจลัดไปลงวงจรนั้นหมด เรียกโรคนี้ว่า Wolff-Parkinson-White syndrome (สำหรับบุคลากรฉุกเฉิน ECG อันนี้ชัดมาก ไม่ต้องถึงมือ 1412 Cardiology) ยากนะครับที่จะได้ทั้งโรคที่เป็นและภาวะที่ทำให้หมดสติได้ในเวลาเดียวกันแบบนี้ด้วยแถบบันทึกครั้งเดียว ปรกติถ้าช่วยไม่ทันก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าตอนหมดสติคลื่นไฟฟ้าหัวใจเป็นอย่างไร

ผู้ป่วยได้รับการรักษาโดยใส่สายสวนเข้าไปที่หัวใจ ใช้การตรวจวงจรไฟฟ้าและเมื่อพบจุดลัดวงจรก็จี้ทำลายด้วยคลื่นวิทยุความร้อน ผู้ป่วยกลับมาเป็นภาวะปรกติ เพราะผู้ป่วยมีโอกาสเกิดซ้ำสูงมาก คุณหมอลองอ่านเหตุที่บอกว่าโอกาสเกิดซ้ำสูงได้จากลิ้งค์เลยนะครับ

เรื่องนี้สอนเราชัดเจนว่า ทักษะการกู้ชีพ การกดหน้าอก การใช้เครื่อง AED สามารถช่วยได้จริง แถมยังวินิจฉัยและเปลี่ยนชีวิตคนคนหนึ่งไปตลอดชีวิต

กู้เงินช้าได้ไม่ต้องรีบ กู้ชีพต้องรีบเดี๋ยวไม่ทัน
กู้เงินเสียดอกทุกคืนวัน กู้ชีพดอกเดียวนั้น..คืนทุนทันที

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม