05 สิงหาคม 2563

วัณโรคที่เยื่อหุ้มปอด

 ภาพที่เห็นคือ วัณโรคที่เยื่อหุ้มปอด ก่อนและหลังรักษา

วัณโรคที่เยื่อหุ้มปอด ต่างจากวัณโรคปอดพอสมควร แม้ว่าจะเป็นอวัยวะที่อยู่ชิดติดกันก็ตาม

เชื่อว่ากลไกการเกิดก็ติดเชื้อเหมือนวัณโรคปอด แต่ว่ามีบางส่วนของเชื้อมาแตะที่เยื่อหุ้มปอด การเกิดโรคหลักไม่ได้เกิดจากปฏิกิริยาต่อตัวเชื้อโดยตรง แต่เกิดจากปฏิกิริยาของเซลล์ภูมิคุ้มกันร่างกาย ที่มากระจุกตัวที่เยื่อหุ้มปอด ทำให้มีการสร้างน้ำเยื่อหุ้มปอดมากมาย และการดูดซึมกลับลดลงมาก ส่งผลให้น้ำในเยื่อหุ้มปอดค้างอยู่ สะสมจนเกิดอาการ

อาการเด่นคือ ไอ โดยเฉพาะเวลาเปลี่ยนท่า มีอาการเจ็บหน้าอกข้างนั้น ส่วนอาการไข้ เหนื่อย เหงื่ออกกลางคืน จะไม่เด่นเท่าวัณโรคปอด การตรวจจะพบน้ำในเยื่อหุ้มปอดและเอ็กซเรย์เห็นน้ำอย่างที่นำมาให้ดูครับ

การวินิจฉัยหลักคือการนำน้ำเยื่อหุ้มปอดมาตรวจ เราจะตรวจหาโปรตีนที่ค่อนข้างเฉพาะกับการติดเชื้อวัณโรค เพราะปริมาณเชื้อมีไม่มาก อาการที่เกิดจะเกิดจากปฏิกิริยาของภูมิคุ้มกันมากกว่า การเพาะเชื้อหรือการย้อมหาเชื้อ มีโอกาสพบตัวเชื้อน้อยมาก หรือกระทั่งวิธีการตรวจหาสารพันธุกรรมเชื้อด้วยวิธี PCR ก็ตาม

เราจะส่งตรวจหา ADA (adenosine deaminase) ที่หากค่าเกิน 40 IU/L จะมีความจำเพาะสูงมาก อีกหนึ่งการตรวจคือ interferon gamma assay ที่หากค่าเกิน 140 pg/mL จะมีความจำเพาะสูงเช่นกัน **นั่นคือหากมีโอกาสเป็นสูงมากและผลออกมาเป็นบวก โอกาสเป็นโรคจริงจะสูงมาก ยิ่งสูงทั้งสองการตรวจล่ะก็ แม่นยำแตะ ๆ 100% **

สำหรับน้อง ๆ หมอ ขอให้ไปอ่านเพิ่มเรื่อง interleukin-27 สำหรับการวินิจฉัยด้วยครับ

ส่วนการตัดชื้นเนื้อเยื่อหุ้มปอดไปตรวจชิ้นเนื้อก็สามารถวินิจฉัยได้ครับ แต่ไม่นิยมเพราะรุกล้ำและโอกาสเจอก็ไม่ได้มากเช่นกัน

การรักษา ก็ใช้ยาเหมือนยารักษาวัณโรคปอดทุกประการ การใช้สเตียรอยด์ไม่เกิดประโยชน์ครับ และโดยทั่วไปเราจะไม่ใส่ท่อเพื่อระบายน้ำยกเว้น ปริมาณน้ำมากจนไปกดเบียดเนื้อปอดหรือหัวใจ

โดยทั่วไปก็หายดีครับ จะมีน้อยมากที่กลายเป็นหนองจนต้องผ่าตัด และโอกาสเกิดพังผืดจนมีปัญหาในอนาคตก็ไม่มาก ไม่เหมือนวัณโรคเนื้อปอดครับ

ที่สำคัญโอกาสติดต่อนั้นน้อยมากครับ แม้การควบคุมการติดเชื้อในช่วงสองสามสัปดาห์แรกจะคล้าย ๆ กัน แต่อัตราการกระจายเชื้อต่ำมากจริง ๆ

อ่านฟรีครับ
Shaw, JA, Diacon, AH, Koegelenberg, CFN. Tuberculous pleural effusion. Respirology. 2019; 24: 962– 971. https://doi.org/10.1111/resp.13673

ในภาพอาจจะมี หนึ่งคนขึ้นไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม