เอ็กซเรย์ปอดเจอก้อน !!! ใจเย็นอย่าเพิ่งเป็นลม
incidental solitary pulmonary nodule คือก้อนในปอดที่ตรวจได้จากการถ่ายภาพรังสีในขณะที่เราไม่มีอาการใดๆ มักจะเกิดกับกรณีตรวจสุขภาพหรือเอ็กซเรย์ก่อนผ่าตัด พอเห็นแบบนี้ชาวเราจะตกใจและผวาทันที เป็นมะเร็งหรือเปล่าหว่า
ก้อนในปอดมีได้หลายสาเหตุนะครับ เนื้องอกร้ายคือมะเร็ง เนื้องอกไม่ร้ายเช่นหลอดเลือด ก้อนกล้ามเนื้อ อาจเกิดจากการติดเชื้อ ไม่ว่าเชื้อรา วัณโรค อาจเกืดจากแพ้ภูมิตัวเอง หลอดเลือดอักเสบ เป็นเงาแผลเป็นเก่า ๆก็ได้ ขึ้นกับประวัติ การตรวจร่างกาย ความเสี่ยง ขนาดก้อน ลักษณะภายใน ลักษณะแวดล้อมอื่น ๆ สำหรับคุณหมอผมแนะนำเอกสารสองเล่มที่ระบุด้านล่างนะครับ แต่สำหรับชาวเรา ผมจะมาบอกแค่ว่าหากเจอแล้วเราจะมีตัวเลือกใดที่หมอจะคุยกับเราบ้าง ส่วนจะเลือกทางใดแบบใด ต้องคุยกับหมอผู้รักษาครับ
1.ถ่ายภาพรังสีเพิ่มเติม คือ เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) เพื่อให้เห็นภาพในหลายมุม ทราบรายละเอียดก้อนและพื้นที่โดยรอบ ปัจจุบันก็ถือเป็นมาตรฐานหลักในการดูแลก้อนในปอด บางรายอาจจะได้รับการฉีดสีเพื่อให้เห็นรายละเอียดหลอดเลือดเพิ่มขึ้น
2.PET scan คือการตรวจหาการทำงานของเนื้อเยื่อ ในการนำน้ำตาลไปใช้ เป็นน้ำตาลติดสารกัมมันตภาพรังสี ให้เห็นรายละเอียดมากกว่า CT ในแง่ก้อนนั้น ๆ มี activity ที่แอคทีฟคล้ายมะเร็งหรือไม่ อันนี้จะแพง ทำได้ไม่ทุกที่
3.เอ็กซเรย์ปกติ ในกรณีความเสี่ยงต่ำ อาจใช้การติดตามภาพเอ็กซเรย์ต่อเนื่องได้ แต่ต้องเทียบกับของเดิมตลอดนะครับ เก็บของเดิมให้ดีด้วย
ไม่ว่าจะใช้วิธีใด สิ่งสำคัญคือการประเมินความเสี่ยง โดยมากถ้าเสี่ยงต่ำจะใช้การติดตามทำเอ็กซเรย์ต่อเนื่อง ทุกสามเดือนหกเดือน ดังนั้นอย่าลืมคิดถึงปริมาณรังสีที่เราจะได้รับด้วย ในกรณีก้อนแข็งไม่เปลี่ยนแปลงเลยต่อเนื่องสองปี โอกาสเป็นมะเร็งจะต่ำมาก แต่ถ้าก้อนกึ่งแข็งกึ่งเหลวต้องใช้เวลายาวห้าปี
ขนาดที่เล็กมากและเสี่ยงต่ำ โอกาสมะเร็งก็น้อยเช่นกัน ขนาดที่ใหญ่ขึ้นมาเร็ว ๆ ในหนึ่งเดือน อันนี้ก็เร็วเกิน คิดถึงโรคติดเชื้อมากกว่า
ขนาดที่เล็กมากและเสี่ยงต่ำ โอกาสมะเร็งก็น้อยเช่นกัน ขนาดที่ใหญ่ขึ้นมาเร็ว ๆ ในหนึ่งเดือน อันนี้ก็เร็วเกิน คิดถึงโรคติดเชื้อมากกว่า
4.การตัดชิ้นเนื้อผ่านทางทรวงอก คือ ใช้เข็มแทงทะลุผนังทรวงอกไปตัดเอาชิ้นเนื้อมาตรวจ ใช้กับก้อนเนื้อที่ใกล้ ๆ ทรวงอก โดยใช้เอ็กซเรย์หรืออัลตร้าซาวด์คอยเป็นตัวนำทาง อันตรายที่สำคัญคืออาจมีลมรั่วในเยื่อหุ้มปอดได้
5.ส่องกล้องหลอดลมแบบธรรมดาเพื่อตัดชิ้นเนื้อ ใช้กับก้อนที่ชิด ๆ หลอดลมและไม่ลึกเกินไป ถ้าลึกมากจะไปชิดผนังทรวงอกจะใช้วิธีที่ 4 แทน
6.ส่องกล้องแบบมีใช้เทคโนโลยีสูง เช่น อัลตร้าซาวนด์ที่ปลายกล้อง EBUS ใช้กับก้อนที่อยู่ลึกหรือระบุตำแหน่งยาก แน่นอนไม่ได้ทำได้ทุกที่ เพื่อระบุตำแหน่งที่ชัดขึ้น
การตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ อาจออกมาเป็นมะเร็งหรือไม่ก็ได้ ปัจจุบันใช้เมื่อผลการประเมินความเสี่ยงไม่เข้ากับภาพ หรือประเมินความเสี่ยงจากภาพไม่ชัด หรือเสี่ยงสูง
7. การผ่าตัด ถ้าเสี่ยงสูงมากหรือผลการตัดชิ้นเนื้อสนับสนุนเนื้องอกแบบร้าย ก็จะตัดปอดครับ อาจจะตัดบางกลีบ บางส่วน หรือตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองด้วย บางกรณีจะเป็นการรักษาพร้อมการตรวจไปในทีเดียว
แนวโน้มปัจจุบันเราจะติดตามด้วยเอ็กซเรย์แบบต่าง ๆ เป็นหลักก่อน ขอแค่มาตามนัดจะพอแยกเนื้องอกแบบร้ายและไม่ร้ายออกจากกัน รวมทั้งหาสาเหตุอันพึงรักษาได้อื่น ๆ ด้วยเช่นวัณโรค หากจำเป็นจริง ๆ จึงตัดชิ้นเนื้อหรือตัดปอดครับ ดังนั้นใจเย็น ๆ ค่อย ๆ คิด ปรึกษาแพทย์ก่อนครับ อย่าลืมว่าสิ่งที่เห็นจากฟิล์มเอ็กซเรย์คือเงาเท่านั้นนะครับ ต้องอาศัยอีกหลายอย่างในการวินิจฉัย
แนะนำอ่านรายละเอียดเชิงลึก
1. สรุปจาก ACCP อ่านง่าย Chest. 2013 May; 143(5 Suppl): e93S–e120S.
2.รีวิวละเอียด แต่ดีมากและมาตรฐาน Guidelines for Management of Incidental Pulmonary Nodules Detected on CT Images: From the Fleischner Society 2017
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น