ชีวเคมีของไขมัน
ไขมันที่กินประกอบด้วย ไตรกลีเซอร์ไรด์เป็นหลัก รองมาคือโคเลสเตอรอล ส่วนไขมันอื่น ๆ มีบ้างกระจัดกระจาย
ไตรกลีเซอ์ไรด์ มีกรดไขมันสามตัว จับอยู่กับกลีเซอรอล เวลากินเข้าไปร่างกายจะใช้น้ำย่อยจากตับอ่อนชื่อ pancreatic lipase ทำงานร่วมกับน้ำดี ย่อยสลายกรดไขมันออกมาและดูดซึมเข้าร่างกาย ถ้ากรดไขมันอันนั้นเป็นสายสั้นและสายยาวปานกลาง จะสามารถดูดซึมเข้าเซลล์แล้วผ่านไปสู่ระบบหลอดเลือดดำเข้าไปที่ตับได้โดยตรง
ผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคทางเดินน้ำดีและตับอ่อนทำงานผิดปกติจะทำให้การย่อยสลายบกพร่อง เราจึงแนะนำกินกรดไขมันสายสั้นและยาวปานกลาง คือ น้ำมันมะพร้าว
แต่ส่วนมากไขมันหลังจากย่อยสลายในท่อลำไส้จะดูดซึมผ่านผนังลำไส้ ดูดเข้าไปแล้วจะมารวมตัวกันเป็นไตรกลีเซอไรด์อีกครั้ง คราวนี้ไตรกลีเซอไรด์จะรวมตัวกับโคเลสเตอรอลเอสเทอร์ ฟอสโฟลิปิดและโปรตีนหลายชนิด มีโปรตีนที่ชื่อ อะโปไลโปโปรตีนมาแปะไว้ เพื่อเป็นบัตรประจำตัวระบุตัวตน อะโปไลโปโปรตีนที่มาแปะนี้เราเรียกว่า อะโป B-48 (อะโปที่มาจากลำไส้) อะโป C-II, อะโป A-V (คือ V=5 ในเลขโรมัน)
เราเรียกก้อนใหม่ที่ออกจากลำไส้นี้ว่า ไคโลไมครอน มันเป็นก้อนใหญ่ไม่สามารถเข้าหลอดเลือดได้ จึงต้องเข้าทางหลอดน้ำเหลืองแทน หลอดน้ำเหลืองจะรวมกันเป็นท่อที่ใหญ่ขึ้น ๆ เป็นท่อที่เรียกว่า thoracic duct ทอดผ่านทรวงอกไปเปิดเข้าหลอดเลือดดำก่อนเข้าสู่หัวใจ เวลาที่ท่อนี้ฉีกขาดจะมีของเหลวไขมันมาท่วมในช่องอกเรียกว่า chylothorax
กว่าไคโลไมครอนจะไปหัวใจ ไปปอด ไปตับ จะใช้เวลานาน ไม่เข้าสู่ตับโดยตรงเหมือนกรดไขมันสายสั้น แต่ระหว่างทางนั้น เจ้าไคโลไมครอนก็จะแจกจ่าย โคเลสเตอรอลเอสเทอร์ และ ไตรกลีเซอไรด์ให้กับเซลล์ต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้ในกิจการภายในเซลล์หรือเก็นสะสมเป็นเงินทุนสำรอง โดยเซลล์ต่าง ๆ จะเห็นเจ้า อะโป นี่แหละ เป็นเครื่องหมายบอกว่า ไปรษณีย์มาส่งไขมันแล้ว อะโปจะไปจับกับตัวรับคือตู้ไปรษณีย์ของเซลล์ต่าง ๆ เพื่อส่งไขมันเข้าสู่เซลล์
เอ๊ะ..ทำไมจะต้องทำให้ยุ่งยากด้วย อย่าลืมนะว่าไขมันไม่ละลายน้ำ เราจึงต้องสร้างรูปแบบพิเศษของการขนส่งให้มีประสิทธิภาพอยู่ในรูปก้อนไขมันเล็ก ๆ ละลายน้ำได้ด้วย ฟอสโฟลิปิด โปรตีน เราจึงเรียกไขมันผสมโปรตีนที่เคลื่อนที่ไปมาในร่างกายว่า ไลโปโปรตีน (lipoprotein)
ส่วนโคเลสเตอรอลจากอาหารจะดูดซึมทางลำไส้เช่นกัน ผ่านทางช่องทาง Niemann-Pick C1 Like 1 (NPC1L1) ที่เซลล์ลำไส้ ตรงนี้คือจุดที่ยาลดไขมัน ezetimibe ไปทำงาน เป็นการปิดกั้นการดูดซึมโคเลสเตอรอลทางเดินอาหาร
โคเลสเตอรอลมาจากสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ สำหรับพืชก็มีโครงสร้างโคเลสเตอรอลเช่นกัน เรียกว่า phytosterol เจ้าไฟโตสเตอรอลมันก็ดูดซึมผ่าน NPC1L1 เช่นกัน แต่เมื่อดูดซึมแล้วร่างกายไม่ได้ใช้ก็จะขับออก เราใช้หลักการนี้มาช่วยลดโคเลสเตอรอล โดยใช้สารไฟโตสเตอรอลไปช่วยลดการดูดซึมโคเลสเตอรอลจากอาหารนั่นเอง
เมื่อโคเลสเตอรอลเข้าสู่เซลล์ลำไส้ มันก็จะไปรวมกับไตรกลีเซอไรด์ที่เรารู้จักเมื่อสักครู่ กลายเป็น ไคโลไมครอนนั่นเอง และลำเลียงเข้าสู่ร่างกายโดยเป้าหมายหลักคือตับ เพื่อไปสังเคราะห์ฮอร์โมนหลายชนิด แต่ระหว่างทางก็ถูกส่งไปให้เซลล์ต่าง ๆ เช่นกัน ส่วนโคเลสเตอรอลที่เป็นตัวเดี่ยว ๆ อิสระล่องลอยไปมาในกระแสเลือดก็มีบ้างแต่เซลล์ต่าง ๆ เอามาใช้ลำบากเพราะไม่มี tag คือ ไม่มีตัวนำพาที่ชัดเจน ในที่นี้คือไลโปโปรตีนที่มี อะโปโปรตีนเป็นแท็กนั่นเอง
แต่สัดส่วนของโคเลสเตอรอลจากการดูดซึมมันไม่ได้มากนัก โคเลสเตอรอลเกือบ 80% ในร่างกายมาจากการสังเคราะห์ที่ตับ ร่างกายใช้โคเลสเตอรอลจากอาหารเพื่อการสังเคราะห์โคเลสเตอรอลขึ้นมาใหม่ ทำไมเราจึงต้องทำเช่นนั้น
อย่าลืมว่าโคเลสเตอรอลที่ลำเลียงจากลำไส้อยู่ในรูป chylomicron โดยมี tag สำคัญคืออะโป B-48 ถามว่าในก้อนไคโลไมครอนนั้นมีไตรกลีเซอไรด์หรือโคเลสเตอรอลมากกว่า คำตอบคือมีไตรกลีเซอรไรด์มากกว่า เวลาร่างกายดักจับไคโลไมครอนได้เพื่อจะเอากรดไขมันและโคเลสเตอรอลไปใช้นั้น จะได้กรดไขมันและกลีเซอรอลไปมากกว่า จะได้โคเลสตอลรอลน้อยมาก
คราวนี้เมื่อ ไคโลไมครอน เดินทางไปทั่วร่างจะถูกดึงเอากรดไขมันไปใช้ ขนาดของไคโลไมครอนจะเล็กลง (chylomicron remnant) โอกาสที่โคเลสเตอรอลจะออกมาสู่เซลล์มากขึ้น แต่ไม่ทันเสียแล้ว มันถูกส่งมาที่ตับเสียก่อน ที่ตับจะเก็บโคเลสเตอรอลและกรดไขมันที่เหลือรอดมาได้ทั้งหมด แล้วจะเอาไปทำอะไร โปรดติดตามกันต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น