แอสไพริน กับ การป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด
1.แอสไพริน, เบบี้แอสไพริน, เอเอสเอ มีสมบัติต้านการแข็งตัวของเลือด สมบัติสำคัญในการป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน โดยเฉพาะที่หลอดเลือดหัวใจและสมอง ใช้มานาน ราคาไม่แพง ทุกคนที่ได้ยาจะได้รับคำเตือนเรื่องยากัดกระเพาะ เลือดออกง่าย
2.ย้อนกลับไปสมัยก่อนที่ความรู้และวิทยาการในการรักษาและป้องกันโรคหลอดเลือดของเรายังไม่ก้าวหน้าขนาดนี้ แอสไพรินคืออาวุธสำคัญในการรักษา เพียงอาวุธเดียว ดังนั้นถ้าเทียบกับไม่มีอาวุธใดเลย แอสไพรินจึงมีประโยชน์มาก แม้โทษจะมากก็ตามที
3.กลับมายุคปัจจุบันที่ความรู้เรื่องการป้องกันโรคหลอดเลือดมีมากขึ้น เรารู้ว่าจะต้องกินอย่างไร ออกกำลังกายอย่างไร ควบคุมความดัน เบาหวานอย่างไร ขดลวดค้ำยันดีมาก เทคโนโลยีการรักษาสุดยอด ทำให้ความยิ่งใหญ่ของแอสไพรินลดลง หลาย ๆ กรรมวิธีปัจจุบันมีน้ำหนักในการลดการเกิดโรคดีกว่าแอสไพรินด้วย
4.ในแง่การป้องกันหลังจากเกิดโรคแล้ว หลอดเลือดตันแล้ว แก้ไขแล้ว อันนี้ไม่มีข้อโต้แย้งว่าการใช้แอสไพรินลดโอกาสการเกิดโรคซ้ำ (secondary prevention) มีประโยชน์ที่ชัดเจนเป็นคำแนะนำมาตรฐานที่ตรงกัน แต่อย่าลืมพิจารณาเรื่องเลือดออกในคนที่เสี่ยงเลือดออกและป้องกันด้วย
5.สำหรับการใช้ยาเพื่อป้องกันก่อนการเกิดโรค (primary prevention) ในอดีตมีการใช้มากเพราะเครื่องมือและเทคโนโลยีในข้อสามยังไม่พัฒนา แต่เมื่อมาในปัจจุบันสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้นักวิจัยเริ่มสงสัยในประสิทธิผลของยาแอสไพรินจึงต้องศึกษา
6.งานวิจัยสามงาน คือ ASPREE ทำในคนที่ไม่มีโรคและสูงวัย, งานวิจัย ARRIVE ทำในคนไม่มีโรคแต่มีความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจพอควร เมื่อให้แอสไพรินพบว่าไม่ได้ลดอัตราการเกิดโรคหัวใจแถมเพิ่มโอกาสเลือดออกมากขึ้น ส่วนการศึกษา ASCEND ทำในคนที่ยังไม่มีโรคและเป็นเบาหวาน พบว่ามีประโยชน์ในการลดการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดเล็กน้อย พอกันกับโอกาสที่จะเลือดออกเพิ่มขึ้น
7.จากงานวิจัยสามงานนี้และผลการรวบรวมการศึกษาแบบ meta analysis ออกมาเป็นคำแนะนำของสมาคมแพทย์โรคหัวใจอเมริกา, คำแนะนำของวารสาร JAMA ,สรุปจาก medscape และลงข่าว CNN ว่า "เราไม่ให้ aspirin เพื่อป้องกันโรคแบบแจกทุกคนไม่เลือกหน้าอีกแล้ว เราต้องพิจารณาความความเสี่ยงเช่นกัน"
8.สำหรับคนที่ความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจในสิบปี ต่ำกว่า 7.5% หรือความเสี่ยงเลือดออกสูงมาก ถ้ายังไม่เริ่มยาก็ไม่ควรเริ่ม ถ้าเริ่มมาแล้วน้อยกว่าสิบปี ก็แนะนำให้หยุด (คุยกันระหว่างหมอและคนไข้ถึงประโยชน์และโทษให้ชัดก่อน) อเมริกาให้ใช้เรื่องคำนวณ ASCVD แต่ส่วนตัวผมคิดว่าเราน่าจะใช้เครื่องคำนวณ Thai CV Risk แทนได้ครับ
9.สำหรับคนที่เสี่ยงเลือดออกต่ำ มีความเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้สูง และโอกาสเกิดโรคหัวใจในสิบปีสูงกว่า 15% พิจารณาการใช้ยาแอสไพรินเพื่อป้องกันการเกิดโรคได้ (การพิจารณาคือคุยผลดีผลเสียกับคนไข้เสมอ) ส่วนการลดการเกิดมะเร็งลำไส้ ผลยังไม่ชัดเจนเท่าไรนะครับ แต่ถ้าเริ่มยามาแล้วมากกว่าสิบปี จะพิจารณาให้ต่อไปเมื่อความเสี่ยงโรคหัวใจสูงกว่า 10% มีความเสี่ยงการเกิดมะเร็งลำไส้สูง สำหรับความเสี่ยงกลาง ๆ คือ 7.5%-15% ให้พิจารณาเป็นราย ๆ ไป
10.อย่าลืมว่านี่คือการให้ยาเพื่อป้องกันก่อนเกิดโรคนะครับ การใช้ยาโดยเสี่ยงเกิดโรคต่ำจะเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าและหากเกิดผลเสียขึ้นมาจะยิ่งไม่คุ้มมาก เราจึงไม่สามารถแจกยาแบบ "routine" ให้ทุกคนได้และควรหยุดหากไม่เกิดประโยชน์
ตัวอย่างที่ดีของความรู้และแนวทางการปฏิบัติทางการแพทย์ที่เปลี่ยนไปเมื่อความรู้พัฒนามากขึ้น
อ่านเพิ่มเติมได้
https://jamanetwork.com/journals/jama/fullarticle/2737592
https://www.medscape.com/viewarticle/916006_2
https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S073510971933877X?via%3Dihub
https://jamanetwork.com/journals/jama/fullarticle/2721178
https://edition.cnn.com/2019/07/22/health/aspirin-daily-use-adults-heart-study/index.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น