29 พฤษภาคม 2562

vaperizer หรือ electronic cigarette กับโอกาสการเกิดโรคหลอดเลือด

vaperizer หรือ electronic cigarette กับโอกาสการเกิดโรคหลอดเลือด
ข้อมูลเรื่องของบุหรี่ไฟฟ้าและอุปกรณ์เริ่มมีออกมามากขึ้น สำหรับข้อมูลเรื่องสารพิษในควันบุหรี่ไฟฟ้าแม้จะปลอดภัยกว่าบุหรี่เผาไหม้ แต่ก็ยังไม่ถือว่าปลอดภัยทั้งหมดและยังมีสารอื่นที่ไม่เหมือนบุหรี่เผาไหม้ที่เราต้องติดตามต่อไป การศึกษาที่ผ่านมามุ่งประเด็นที่ลดความเสี่ยงและอันตรายจากมะเร็งปอด แล้วส่วนอื่นของร่างกายล่ะ
เป็นที่รู้กันและพิสูจน์ชัดว่าควันบุหรี่มีผลต่อการทำงานของเซลล์เยื่อบุหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดอักเสบและเกิดหลอดเลือดตัน อันตรายที่สำคัญต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด แล้วบุหรี่ไฟฟ้าจะเกิดหรือไม่ การศึกษานี้เป็นหนึ่งในการศึกษาที่สนใจเรื่องนี้
ผู้วิจัยใช้เซลล์เพาะเลี้ยง (pluripotent stem cell) บีบบังคับเซลล์ให้เจริญเติบโตใกล้เคียงเซลล์เยื่อบุหลอดเลือดที่สุดจะได้สังเกตการเปลี่ยนแปลงระดับเซลล์และสารอักเสบต่าง ๆ ได้ และสังเกตการเปลี่ยนแปลงรวมทั้งสารต่าง ๆ ที่บ่งชี้การอักเสบที่วัดได้
ผู้วิจัยเลือกใช้น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าจากหกตัวอย่าง ที่ต่างรสชาติ สัดส่วน propylene glycol และ vegetable glycerine ที่ต่างกัน และสัดส่วนนิโคตินที่แตกต่างกัน ดูว่าปัจจัยใดที่ทำให้เกิดความผิดปกติ
** ผู้วิจัยเลือกผสมน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าในเซลล์เพาะเลี้ยง ไม่ได้ผ่านการทำควันหรือความร้อนนะครับ **
แล้วเขาก็แบ่งกลุ่มคนที่เคยใช้บุหรี่ไฟฟ้า บุหรี่เผาไหม้ ใช้ทั้งคู่ และไม่เคยใช้ มาให้ทดสอบสูบบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่เผาไหม้ แล้วไปเจาะเลือดดูระดับนิโคติน เพราะต้องการพิสูจน์ทางอ้อมว่า หากใช้การสูบผ่านทางปอดแล้วสามารถส่งสารต่าง ๆ เข้าสู่กระแสเลือด เสมือนว่าผสมน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าความเข้มข้นระดับพอ ๆ กันในเซลล์เพาะเลี้ยง บุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่เผาไหม้สามารถส่งนิโคตินและเข้าสู่กระแสเลือดได้ดีพอกัน "น่าจะ"ส่งผลต่อเซลล์แบบเดียวกันกับการทดลอง
*** ข้อสังเกตที่ต้องพิจารณามาก ๆ คือเป็นการทดลองในหลอดทดลองด้วยการใช้น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าอีกรูปแบบที่ไม่ได้ใช้กันปรกติ ในเซลล์เพาะเลี้ยงในหลอดทดลอง เพื่อพยายามหาความสัมพันธ์กับการสูบปรกติ ตรงนี้อาจแปรปรวนได้มากครับ (เพราะนี่คือการทดลองระยะแรกเท่านั้นว่าสารประกอบในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้ามีพิษหรือไม่ และอะไรที่มีอันตราย ยังต้องมีการศึกษาขั้นต่อไปอีกมากมาย) ***
ผลออกมาปรากฏว่าเซลล์หลอดเลือดที่สัมผัสน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าไม่ว่าจะความเข้มข้นนิโคตินเท่าใด หรือรสชาติใด จะมีความเสื่อมของเซลล์มากขึ้น การซ่อมแซมของเซลล์ลดลง และสารอักเสบสารอนุมูลอิสระเพิ่มขึ้นทั้งสิ้น แต่สารเคมีที่ทำให้เกิดความเสียหายมากที่สุดคือ **รสชาติอบเชย** ที่มีการทำลายเซลล์มากกว่ารสชาติอื่น ๆ ไม่ว่าจะนิโคตินเท่าใด หรือสัดส่วน VG PG เท่าใด
คำอธิบายคือ แม้สารเคมีที่เป็นกลิ่นและรสจะได้การรับรองว่าใช้ผสมอาหารได้ก็จริง แต่ยังไม่ได้รับรองว่าการใช้แบบเผาไหม้และมีตัวนำพาเข้าปอดคือ Propylene Glycol นี้จะปลอดภัย และจากการทดลองนี้พบว่ามันก็ไม่ได้ปลอดภัยนัก
ก่อนหน้านี้มีการศึกษาในเซลล์ปอด เซลล์ตับ เซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจ ที่ใช้การทดลองเสมือนการใช้งานจริงพบว่าเสียหายระดับเซลล์จริง การศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่ามีผลเสียหายจริง ตอนนี้คือเซลล์หลอดเลือด แม้การศึกษาของเซลล์หลอดเลือดจะยังไม่ได้ออกแบบเสมือนการใช้งานจริง แต่พอบอกได้ว่า แม้มันอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวนเผาไหม้ แต่ยังไม่ได้ปลอดภัยไปเสียทั้งหมดครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำยาผสมรสชาติที่องค์การอาหารและยายังไม่สนับสนุนครับ

ที่มา
1.JACC Volume 73, Issue 21, 4 June 2019, Pages 2722-2737
2.https://edition.cnn.com/…/vaping-heart-cells-stu…/index.html
3.Association Between Electronic Cigarette Use and Myocardial Infarction
Alzahrani, Talal et al. American Journal of Preventive Medicine , Volume 55 , Issue 4 , 455 - 461

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม