ออกกฎต่างๆ มาควบคุมยาสูบ ใช้ได้ผลแค่ไหน
หนึ่งในมาตรการการลดอันตรายจากยาสูบคือมาตรการการบังคับทางกฎหมาย ไม่ว่าการขึ้นภาษี การควบคุมหีบห่อบรรจุภัณฑ์ การกำหนดบริเวณห้ามสูบบุหรี่ การกำหนดอายุ การกำหนดต่าง ๆ มันมีต่อการสูบบุหรี่และโรคภัยจากยาสูบหรือไม่
ข้อมูลการศึกษาจากออสเตรเลียลงตีพิมพ์ใน Lung Cancer. 130 (2019): 208-215 เปรียบเทียบคนสูบบุหรี่กับอัตราการป่วยและตายจากมะเร็งปอด โดยใช้ฐานข้อมูลสุขภาพของออสเตรเลีย (ประเทศที่มีการใช้ฐานข้อมูลดี ๆ สามารถวิเคราะห์สิ่งต่าง ๆ ได้มากมาย)
โดยเขาศึกษาแบบนี้ครับ ดูว่าก่อนการมีมาตรการต่าง ๆ ทางกฎหมายที่ใช้ควบคุมยาสูบนั้น คนสูบมากเท่าไรและอัตราการป่วยและตายจากมะเร็งปอดเป็นเท่าไร แล้วเมื่อมีการใช้มาตรการอย่างต่อเนื่องคนสูบบุหรี่ลดลงไหม อัตราการป่วยและตายจากโรคมะเร็งปอดลดลงแค่ไหน เรียกว่าเป็นอดีตและปัจจุบัน
ที่สำคัญคือมีการใช้โมเดลทางสถิติด้วยว่าในอนาคตหากมีการควบคุมเคร่งครัดมากจนอัตราการสูบบุหรี่ลดลง จะสามารถช่วยชีวิตจากการป่วยและตายจากมะเร็งปอดได้มากแค่ไหน การคิดแบบนี้ดูว่าเป็นการทำนายแต่เป็นการทำนายภายใต้หลักกการทางคณิตศาสตร์ที่ยอมรับกัน เพื่อที่จะบอกว่ามาตรการต่าง ๆ มีผลมากน้อยและคุ้มค่าคุ้มทุนในการจัดการหรือไม่ ไม่ได้มองปัญหาแค่ตัวบุคคลแต่มองในภาพรวมของประเทศ นโยบายของประเทศ
ผลออกมาแบบนี้ ก่อนจะมีการควบคุมด้วยมาตรการทางกฎหมาย จำนวนผู้สูบและผู้เสียชีวิตจากบุหรี่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จากปี 1956-2005 อัตราการป่วยและตายจากยาสูบสูงสุดที่ 22.5% ในผู้ชายและ 18.6% ในผู้หญิง
หลังจากนั้นเริ่มมีมาตรการการควบคุมที่ "เคร่งครัด ต่อเนื่อง เอาจริงเอาจัง" จากปี 2005-2016 อัตราดังกล่าวลดลงจาก 22.5% ในผู้ชายลดเหลือ 17.5% และอัตราจาก 18.6% ในผู้หญิงลดลงเหลือ 13.0% คิดตัวเลขทางสถิติบอกว่าช่วยรักษาชีวิตไปได้ 20.1%
แล้วถ้าคาดการณ์ว่าเมื่อทำต่อไปจนถึงปี 2025 อัตราการป่วยและตายจากมะเร็งปอดจะลดลงเหลือ 12.3% หากมีมาตรการอื่นมาช่วยให้การสูบบุหรี่ลดลงไปอีก อัตราการป่วยและตายจากบุหรี่จะน้อยลงไปอีก หากเราทำมาตรการนี้ต่อไปเรื่อย ๆ จะสามารถลดอัตราการป่วยและตายลงถึงแค่ 5% ในปี 2050 สำหรับหญิงและในปี 2080 สำหรับชาย
และหากกฎหมายทำได้ดีจนอัตราการสูบบุหรี่ลดลง ยิ่งอัตราการสูบบุหรี่ลดลงมากเท่าไร อัตราการเสียชีวิตและป่วยจากมะเร็งปอดจะลดลงมากขึ้น (ตรงนี้เป็นตัวบอกว่าบุหรี่ทำให้เกิดมะเร็งปอดและการลดบุหรี่ทำให้มะเร็งปอดลดลง เป็นระดับสาเหตุ ไม่ใช่แค่ความสัมพันธ์)
จากกราฟที่ทำถึงปี 2040 ถ้าลดลงจนมีผู้สูบไม่เกิน 5% ของประชากรภายใต้มาตรการนี้ จะช่วยรักษาชีวิตได้ถึง 67.3% นับว่ามากมายมหาศาลเลยครับ
การลดปริมาณอันตรายจากบุหรี่ (tobacco-related disease) ต้องใช้มาตรการหลายอย่าง การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่ามาตรการทางกฎหมายและภาษีที่ออกมาส่งผลมากเช่นกันครับ ก็จะเห็นนโยบายแบบนี้ออกมาเรื่อย ๆ ตอนนี้ประเทศไทยเริ่มใช้ภาษีสูงขึ้น การจำกัดบริเวณสูบบุหรี่ การสกัดกั้นบุหรี่เถื่อน การใช้ซองแบบเรียบ เพื่อลดการป่วยและการตายจากบุหรี่ เพิ่มเติมจากการรณรงค์ การเลิกบุหรี่และการป้องกันเยาวชนไม่ให้สูบบุหรี่ครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น