15 ตุลาคม 2561

ปวดท้อง คุณช่วยหมอได้

ปวดท้อง คุณช่วยหมอได้

สิ่งที่คุณหมอใช้ในการวินิจฉัยอาการปวดท้องเฉียบพลันคือ ประวัติและการตรวจร่างกาย

1.ปวดบริเวณไหน ตำแหน่งที่ปวดช่วยบอกพิกัดคร่าว ๆ ของอวัยวะที่จะเกิดปัญหาได้เช่นใต้ชายโครงขวาก็จะนึกถึงโรคตับและทางเดินน้ำดีมากขึ้น บางทีก็จะปวดไปหมดโดยเฉพาะหากอาการปวดล่วงเลยมาสักระยะหนึ่งแล้ว ให้คิดบริเวณที่ปวดตั้งแต่แรกและจุดที่ปวดมากที่สุด

2.ปวดมานานแค่ไหน อาการปวดท้องฉับพลันและรุนแรง ก็จะต่างจากปวดท้องเรื้อรังมาหลายวัน หลายสัปดาห์ เช่นอาการปวดท้องฉับพลันรุนแรงโดยที่เดิมแข็งแรงดีมาภายใน 6 ชั่วโมงอาจต้องคิดถึงภาวะเร่งด่วนทางศัลยกรรมมากขึ้น เช่น กระเพาะอาหารทะลุ

3.ลักษณะอาการปวด อันนี้ดูจะยากที่สุดเพราะต้องบรรยายออกมา เช่น ปวดตื้อ ๆ ตลอดวัน ปวดบีบ ๆเหมือนมีคนมาบิดไส้เป็นพัก ๆ ปวดเหมือนมีคนมาฉีกท้อง มีมีดมาเสียบจากหน้าไปหลัง 
   บอกหมอไปแบบที่เรารู้สึกเลยครับ บรรยายให้เห็นภาพเลย เดี๋ยวคุณหมอเขาจะไปบรรยายเป็นศัพท์ทางการแพทย์เอาเองและสามารถแยกกลุ่มโรคจากลักษณะอาการปวดคร่าว ๆ ได้ เช่นปวดท้องบีบเป็นพัก ๆ รุนแรงมากแล้วคลายออกและกลับมาปวดอีก เป็นลักษณะสำคัญของการอุดกั้นอวัยวะที่บีบตัวเช่นนิ่วในท่อน้ำดี นิ่วในท่อไต

4.จุดเริ่มการปวดและความรุนแรง อันนี้ก็ต้องพรรณาโวหารเช่นกันนะครับ เช่นตอนแรกปวดรุนแรงขึ้นมาทันที หรือค่อย ๆปวดทีละน้อยและต่อมาปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ เราจะแยกง่าย ๆ เป็นฉับพลันทันที (หลักเป็นนาทีวินาที) หรือปวดเฉียบพลัน ภายในหลักชั่วโมง หรือปวดกึ่งเฉียบพลันในหลักวัน เป็นต้น

5.ปวดร้าวไปที่ใด เป็นอาการปวดที่คุณปวดแล้วลากต่อเนื่องไปจุดใด เหมือนจุดปากกาไว้จุดที่เริ่มปวดแล้วอาการปวดมันลากปากกาไปตรงไหนที่ใด อาการนี้จะช่วยได้มาก แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีทุกคนนะครับ เช่น ปวดท้องน้อยแล้วมันค่อย ๆ ร้าวมาที่เอว เลี้ยวมาที่อัณฑะ เราจะคิดถึงนิ่วทางเดินปัสสาวะ หรือหลอดเลือดแดงฉีกขาดมากขึ้น โดยแยกจากลักษณะปวดตามข้อสามและสี่

6.ลักษณะใดที่ทำให้ดีขึ้นหรือลดลง  ท่าทางใด หรือ การกระทำแบบใดทำให้ดีขึ้น เช่นนอนตะแคงไปทางใดปวดมากขึ้นหรือลดลง  นั่งแล้วดี หรือนอนแล้วปวด กินยาธาตุน้ำขาวแล้วดีขึ้น จะช่วยบอกโรคได้มาก
  เช่นบอกว่านั่งเอนตัวไปด้านหน้าแล้วปวดท้องลดลง เราก็จะคิดถึงอาการปวดจากตับอ่อนอักเสบเพิ่มขึ้น

7.อาการร่วม ขณะที่ปวดมีอาการอย่างอื่นด้วยไหมเช่น ไข้สูง อาเจียน ปัสสาวะขัด มีตกขาว ก็จะช่วยแยกระบบอวัยวะและอาการให้คิดโรคได้ง่ายขึ้น  หรือประวัติอื่น ๆ เช่นดื่มเหล้า กินยาแก้ปวด โรคประจำตัว ก็จะมาช่วยสนับสนุนโรคที่คิดมากขึ้น

สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ปรากฏอยู่ในหนังสือคู่มือแพทย์เวรของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ผ่านมาหลายยุคหลายสมัยก็ยังเป็นแนวทางการวินิจฉัยที่คลาสสิก หนังสือตำราตรวจร่างกายมาตรฐาน หรือตำรารักษาทางอายุรศาสตร์และศัลยศาสตร์ ก็ยังใช้การซักประวัติเหล่านี้ในการวินิจฉัย
  แม้ปัจจุบันจะมีการสืบค้นที่ทันสมัยและรวดเร็วต่าง ๆ มากมายแต่ทั้งหมดก็ทำเพียงเพื่อช่วยการวินิจฉัยจากการซักประวัติและการตรวจร่างกายเท่านั้น

  การสังเกตอาการตัวเอง บอกคุณหมอให้หมดไปเลย ไม่ต้องกั๊ก จะช่วยได้เยอะ และคุณหมอเองก็จะต้องใส่ใจในการซักประวัติและตรวจร่างกายให้มากจะได้วินิจฉัยโรคได้แม่นยำ ไม่ส่งตรวจเกินความจำเป็นหรือทำให้เกิดไขว้เขวจากผลการส่งตรวจอันไม่เหมาะสมนั้นครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม