03 พฤษภาคม 2560

จดบันทึก

ผมยังจดบันทึก ... วิธีเรียนและช่วยจำ

มาประชุมครั้งนี้สิ่งที่เห็นมากขึ้น คือ การบันทึกของผู้เข้าร่วมประชุม ส่วนมากจะบันทึกภาพไม่ว่าจะเป็นภาพนิ่งหรือภาพเคลื่อนไหว โดยใช้โทรศัพท์หรือแทบเล็ต ซึ่งสะดวกดี เร็ว และวิทยากรก็กรุณาอนุญาตให้เอาสไลด์ขึ้นที่เว็บไซต์ราชวิทยาลัยฯ โดยดาวน์โหลด QR code หลังห้อง รวมทั้งแบบประเมินการประชุม ที่เดิมใช้กระดาษแบบสอบถาม ตอนนี้ก็ใช้ QR code เช่นกัน
หลายคนก็ใช้ สมุดและปากกา อย่างเช่นแอดมินนี่เอง ถ้ามีใครสังเกตผู้ชายจับปากกาจดขยุกขยิก ก็คือผมนั่นเอง

แต่ละคนมีวิธีการบันทึกที่แตกต่างกัน แล้วแต่ถนัดนะครับ แต่ใครจะลองแบบวิธีนี้ในการเรียน ผมแนะนำพอได้ เรามาดูรายละเอียดกัน อย่างแรกอุปกรณ์ก่อนนะครับ

..สมุดบันทึก ถ้าไม่คิดมากสมุดอะไรก็ได้ แต่ถ้าแนะนำ ผมแนะนำสมุดถนอมสายตาสีเหลืองจางๆ มีเส้น สามารถเปิดได้ 180 องศาได้จริงๆ ขนาดที่ผมชอบคือขนาด A5 พกง่าย และถ้าเป็นพกแข็งจะดีกว่าเล็กน้อยคือ ถ้าไม่มีโต๊ะก็สามารถเขียนบนตัก หรือใช้มือเดียวจับได้ ผมใช้ของ moleskine ครับ จริงๆทั่วไปแนะนำกระดาษรีไซเคิลด้วยนะ ลดโลกร้อน

..ปากกา ลูกลื่นดีที่สุดครับ ราคาไม่แพง ใครจะใช้หมึกซึมก็ได้ถ้าถนัด ผมแนะนำอย่างน้อยสามสี สามด้าม แดง น้ำเงิน ดำ อย่าซื้อแบบทรีอินวัน ไม่ทนใช้ยาก เพื่อจดหลากหลาย อย่างเวลาบรรยายผมจดเนื้อหาที่ผู้บรรยายพูดด้วยสีน้ำเงิน ความคิดตัวเองด้วยสีแดง โน๊ตสิ่งที่ต้องคิดต่อ อ่านต่อ ด้วยสีดำ

..กล้อง สำหรับถ่ายภาพที่ไม่สามารถบันทึกได้จริงๆ เช่นรูปถ่าย ภาพวาด แต่ต้องดูกฏกติกาของกาประชุมด้วยว่าเขาให้ถ่ายไหมนะครับ ปิดแฟลชด้วย ปิดเสียงชัตเตอร์ หรือจะใช้กล้องมือถือก็ได้นะครับ

มาดูวิธีนะครับ เราจะไม่ตะบี้ตะบันก้มหน้าจดทุกอย่าง เพราะผู้บรรยายต้องการสื่อเนื้อหาด้วยการพูด และที่อยู่บนจอแค่ภาพประกอบไม่ใช่ทั้งหมด ให้เราฟังก่อนนะครับ ฟังแล้วได้ความเข้าใจของเราอย่างไรค่อยบันทึกด้วยภาษาของเรา จะทำให้เราจดบันทึกได้ทัน เฉพาะแค่ความเข้าใจเรา เพราะเมื่อเรามาอ่านย้อนกลับเราจะเข้าใจเนื่องจากมันเป็นภาษาของเรา
ในการเรามีความคิดต่าง หรือ ไอเดียเพิ่ม ให้เราจดด้วยปากกาอีกสี เอาไว้ถามเอาไว้หา เอาไว้คิดต่อ ความคิดที่แวบมาตอนที่คิดตามผู้บรรยาย สำคัญมากๆครับ

แนะนำจด reference ของสไลด์นั้นๆ เพื่อไปศึกษาเพิ่มเติม บางครั้งแผนภูมิ ตาราง ที่ผู้บรรยายอ้างอิงมา จดไม่ได้ เราควรถ่ายภาพหรือจดอ้างอิงด้วย แต่ถ้าทักษะดี ฟัง ดู แล้วสรุปคิดแผนภูมิในหัวได้ทันที ให้เขียนแผนภูมิพร้อมบรรยายด้วยตัวเองดีกว่าครับ เข้าใจมากกว่า

****สรุปตรงนี้ก่อนว่า ฟัง คิดตาม แล้ว สรุปเป็นภาษาเราค่อยบันทึก ถ้าทำบ่อยๆ มันจะเร็วมากๆครับ***

ขั้นตอนต่อไป เรานำบันทึกที่เราจดมา มาอ่านซ้ำ คิดตาม ตัวอักษรสีแเดง สีดำ ไปค้นเพิ่มสักเล็กน้อยเพื่อตอบคำถามหรือเสริมความเข้าใจ แล้วนำมาเขียนใหม่สั้นๆ กระชับในสมุดอีกเล่ม คราวนี้จะจำได้ สรุปเป็น
สมุดเล่มสองนี้มีค่าดั่งทองเลยนะครับ นี่คือสาเหตุที่ผมเลือกใช้กระดาษคุณภาพดี และลงทุนกับตู้เก็บสมุดเพื่อปกป้องความรู้ที่เรากลั่นออกมาเอง

ผมแถมให้อีกนิดนึง ... โดยทั่วไปเราจะทราบหัวข้อบรรยายก่อนหน้าจะเข้าฟัง ผมอยากให้อ่านภาพรวมไปก่อนหรือในหัวข้อบรรยายใดบอกชัดเจนว่าจะลงลึกเรื่องใด ให้อ่านไปเลย เวลาฟังจะง่าย ภาพสรุปในหัวจะเร็วมาก ชัดเจน ตรงจุด และได้ประโยชน์สูงสุดคุ้มค่าเงิน ค่าเวลา มากที่สุดครับ

และแล้ว..ความรู้ต่างๆที่ผมไปรับมาจากงานประชุมราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยครั้งที่ 33 นี้ ผมจะทยอยปรับแต่งให้เข้าใจง่าย สนุก ส่งต่อไปให้บุคคลทั่วไปและบุคลากรทางการแพทย์ ได้ทันสมัยโดยทั่วกัน ที่สำคัญ...ฟรี..ตลอดรายการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม