26 ธันวาคม 2562

skeleton in the closet ธุรกิจการหากระดูกมนุษย์

skeleton in the closet เป็นสำนวนแปลว่าความลับที่ซ่อนเร้นเอาไว้ในตระกูล ไม่ต้องการให้ใครมาล่วงรู้ และวารสาร british medical journal ได้ลงบทความเรื่องนี้ที่ตลกร้ายอย่างยิ่งในวงการแพทย์
การเรียนวิชาแพทย์โดยเฉพาะวิชากายวิภาคศาสตร์ วิธีการศึกษาที่ดีที่สุดคือการชำแหละมนุษย์ โดยใช้ร่างกายของอาจารย์ใหญ่ ผู้ที่อุทิศชีวิตเมื่อสิ้นลมให้กับการศึกษา ส่วนหนึ่งของการศึกษากายวิภาค คือการศึกษาลักษณะกระดูก ในห้องเรียนกายวิภาคสมัยที่ผมเรียนนั้น จะมีโครงกระดูกสมบูรณ์ร้อยไว้ตามข้อต่อที่ถูกต้องหลายโครงห้อยเรียงรายให้ศึกษา และมีโครงกระดูกแยกชิ้นเก็บในหีบไม้เพื่อให้นักเรียนได้เรียนประกอบการชำแหละ
การเรียนการสอนวิชากายวิภาคจำเป็นต้องอาศัยร่างผู้อุทิศและกระดูกจำนวนมาก ไม่ใช่แค่นักเรียนแพทย์ นักเรียนสาขาวิทยาศาสตร์สาธารณสุขทุกคน จะต้องเรียนวิชานี้ นั่นคือจำนวนกระดูกจะต้องมีปริมาณเพียงพอ ในความเป็นจริงไม่ใช่อย่างนั้น
ในหลาย ๆ ประเทศ จีน อินเดีย ยุโรปตะวันออก ธุรกิจการหากระดูกมนุษย์เพื่อส่งไปยังสถาบันการศึกษาในโลกตะวันตก เป็นธุรกิจที่ทำเงินได้ โครงกระดูกในสถาบันการศึกษาชื่อดังหลายแห่งในอเมริกามาจากแหล่งจัดหาในตลาดมืด หรือแม้แต่โครงกระดูกที่ตั้งโชว์ที่ไม่ใช่เพื่อการศึกษา สามารถหาซื้อหาสั่งได้จากตลาดมืดเช่นกัน เรื่องราวเหล่านี้ไม่ได้เพิ่งเกิด การลักขโมยศพ หรือแม้แต่ฆาตกรรม นำศพไปศึกษาเกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยกลางที่การผ่าศพเป็นสิ่งต้องห้าม อุปสงค์ในตลาดสูงมากเพราะการศึกษากำลังรุดหน้า ต้องการความรู้ใหม่ ๆ แต่อุปทานกลับลดลงมาก ๆ ทำให้เกิดตลาดมืด การลักขโมยหรือฆาตกรรม ผมเคยเขียนเรื่องนี้แล้วในซีรี่ส์สามตอน deadly anatomy ติดตามได้จากลิ้งก์
ผ่านไปกว่าสี่ร้อยปี ความดำมืดนี้ยังไม่เลือนหาย แม้ปัจจุบันการระบุตัวผู้บริจาค การบริจาค จะก้าวหน้าและมีคนเข้าใจมากขึ้น มีกฎหมายมาควบคุม มีกฎระเบียบมาบังคับ ไม่ให้เกิดการซื้อขาย มีการขึ้นทะเบียนผู้ที่จะจัดการศพและสถานที่จัดการ เพื่อป้องกันการลักขโมยศพไปหาประโยชน์อื่นใด
ในประเทศที่พัฒนาแล้วรวมถึงประเทศไทย มีหน่วยงานมีกฎหมายเรื่องนี้ที่เด่นชัด แต่ในอินเดีย ยุโรปตะวันออก หรือจีน ไม่มีกฎหมายตรงนี้ ทำให้มีการลักศพเพื่อไปทำเป็นโครงกระดูกป้อนตลาดทั่วโลก แม้ประเทศอินเดียจะมีกฎหมายห้าม แต่กำไรที่ดียังดึงดูดขบวนการลักศพทำกระดูกอยู่อีกมากมาย
รายงานการจับกุมการขนส่งกระดูกมนุษย์ยังคงพบได้เรื่อย ๆ สกู๊ปพิเศษของนักข่าวจากสำนักข่าว wired.com ที่ได้ลงพื้นที่ในย่าน west bengal ของอินเดีย ตามคนในพื้นที่ไปแฉขบวนการลักลอบทำกระดูกที่ Village of Parbasthali พบกระท่อมไม้ไผ่หลายหลัง ที่มีกระดูกมนุษย์ทุกชิ้น ตากแดด แขวนเอาไว้รอการจำหน่าย คนที่ลักลอบทำส่วนมากคือสัปเหร่อที่ได้รับมอบหมายให้ฝังหรือเผาศพ ไม่ว่าจะขุดมาหรือเอาออกจากเตาเผา ทำการขนส่งอย่างโจ๋งครึ่มและแม้ตำรวจจะจับกุมได้ แต่ด้วยอิทธิพลทางการเมืองหนุนหลัง ก็ต้องปล่อยตัว คนพวกนี้ทำเป็นขบวนการ
หน้างานจะจ้างชาวบ้านมาขนศพ เอาไปใส่ตาข่ายแล้วแช่น้ำให้ปลากินและจุลินทรีย์ย่อยสลาย หลังจากนั้นก็เอาขึ้นมาแล่ชิ้นส่วน เอากระดูกไปขัดและต้ม หลังจากนั้นผึ่งแห้งและแช่ในกรดเกลือ ค่าจ้างชาวบ้านต่อคนต่อวันอยู่ที่ประมาณ 45 บาท และกระดูกสมบูรณ์หนึ่งโครงราคา 45 ดอลล่าร์สหรัฐ
กระดูกเหล่านี้จะถูกส่งออกไปตามหน่วยงานการศึกษาและโรงเรียนแพทย์ ที่บางครั้งจ่ายสูงถึง 1000 ดอลล่าร์สหรัฐต่อหนึ่งโครงกระดูกสมบูรณ์ ทำให้ธุรกิจเหล่านี้ยังคงอยู่ ตามรายงานข่าวส่งไปหลายประเทศ และหน่วยงานในประเทศเหล่านั้น ก็ยอมรับว่าซื้อมาจากอินเดีย
หน่วยงานและสถาบันการศึกษาในประเทศตะวันตก ได้ให้ข้อมูลว่า กระดูกที่ทำจากโมเดลพลาสติก ไม่สามารถมาทดแทนได้เลย โดยเฉพาะส่วนกระโหลกที่ซับซ้อนมาก ยังจำเป็นต้องใช้โครงกระดูกจริงในการเรียน และเมื่อกระดูกที่ได้จากการบริจาคไม่พอ พวกเขาจึงจำเป็นต้องซื้อจากตลาดมืดในจีน อินเดีย และยุโรปตะวันออก
ปัญหาของการหากระดูกมาเรียนยังเป็นปัญหาเชิงระบบที่แก้ไม่ได้มานาน บทบรรณาธิการวารสาร BMJ แนะนำให้ต้องมาปรับแก้กฎหมายการบริจาค หรือการนำชิ้นส่วนอวัยวะไปใช้เพื่อการศึกษา ให้ยืดหยุ่นและตอบสนองความต้องการมากกว่านี้ ระบุที่มาของกระดูกให้ชัดเจน พัฒนาระบบพิมพ์สามมิติ จึงจะยุติธุรกิจมืดนี้ได้ เพื่อไม่ให้เกิดเรื่องเศร้าแบบในอดีต ที่ปี 1985 ปีที่อินเดียตัดสินใจออกกฎหมายควบคุมการค้าและจัดกหากระดูกมนุษย์ เพราะพบโครงกระดูกเด็กกว่า 1500 โครงเพื่อนำไปศึกษาการพัฒนาการของกระดูกในช่วงเด็กและวัยรุ่น โดยไม่มีที่มาว่าโครงกระดูกนี้มาจากที่ใด และเกี่ยวข้องกับคดีลักพาตัวเด็กที่เกิดขึ้นหลายคดีหรือไม่
... หรือบางครั้ง อาจนำไปสู่การ...ฆาตกรรม
ที่มา
1. Halling, C.L. and Seidemann, R.M. (2016), They Sell Skulls Online?! A Review of Internet Sales of Human Skulls on eBay and the Laws in Place to Restrict Sales. J Forensic Sci, 61: 1322-1326. doi:10.1111/1556-4029.13147
3. Magee, R. (2001), Art macabre: Resurrectionists and anatomists. ANZ Journal of Surgery, 71: 377-380. doi:10.1046/j.1440-1622.2001.02127.x
4.Coman Jonathan, Kelly Anne-Maree, Savulescu Julian, Craig Simon. Skeletons in the closet: towards the dignified disposal of all human bones acquired for medical education BMJ 2019; 367 :l6705

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม