29 ธันวาคม 2562

สื่อสังคมออนไลน์กับการศึกษาแพทย์

โลกกำลังจะเปลี่ยนไป ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้เข้ามาในชีวิตประจำวันเรียบร้อยแล้ว นอกเหนือจากเทคโนโลยีของข้อมูลข่าวสาร (information technology) และการจัดการเชิงข้อมูลมหาศาลที่ระบบอินเตอร์เน็ตได้กลายเป็น อินเตอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง (internet of things) อินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยีได้ทำอีกหนึ่งสิ่งที่ทรงพลังมาก คือ เชื่อมต่อผู้คน
การเชื่อมต่อผู้คนในโลกอินเตอร์เน็ต ทำให้เกิดโลกเสมือนและสังคมอีกสังคม ที่ไม่ได้เชื่อมต่อกันด้วยการเดินทาง จดหมาย วิทยุ โทรศัพท์ แต่เชื่อมต่อกันเป็นสังคมในโลกอินเตอร์เน็ต ผ่านสื่อที่เรียกว่า สื่อสังคมออนไลน์ สื่ออันใหม่นี้มีพลังสูงมากทั้งพลังการเชื่อมต่อ พลังการส่งข้อมูล พลังในการผลักดันสิ่งต่าง ๆ ร่วมกัน (power of connections) เช่น สังคมออนไลน์ของเฟซบุ๊ก สังคมออนไลน์ของทวิตเตอร์ แต่ละสังคมเชื่อมต่อคนในสังคมนั้นแบบไร้ขอบเขต ไม่มีประเทศ เชื้อชาติ ภาษา ศาสนา ไม่มีข้อจำกัดเรื่องระยะทางและระยะเวลา เพียงแค่คุณมีอินเตอร์เน็ตก็พอ
ข้อมูลความรู้ทางการแพทย์ เป็นข้อมูลที่แต่เดิมอยู่แต่ในสังคมปิด เข้าใจยาก มีลำดับขั้นความเข้าใจ แม้แต่แพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ยังเข้าถึงและเข้าใจยาก แต่เมื่อการปฏิวัติข้อมูลมาถึง ข้อมูลทางการแพทย์ได้หลั่งไหลออกมาสู่บุคลากรทางการแพทย์ทุกระดับขั้น รวมไปถึงบุคคลนอกวงการแพทย์ก็ได้รับรู้เช่นกัน กำแพงขวางกั้นข้อมูลและลำดับชั้นการเข้าถึงได้พังทลายลงไป
นักเรียนแพทย์ได้รับรู้แนวทางการรักษาล่าสุดพร้อมแพทย์ประจำบ้าน
แพทย์ในชนบทห่างไกลสามารถเรียนหัวข้อที่น่าสนใจได้พร้อมกับแพทย์ในเมือง
พยาบาลสามารถอ่านและเข้าใจบทความวารสารทางการแพทย์ได้พร้อมกับอาจารย์แพทย์
คนไข้สามารถค้นหาข้อมูลการรักษาก่อนจะไปพบแพทย์
ทุกคนเข้าถึงข้อมูลได้เท่ากัน แต่มี "wisdom" ไม่เท่ากัน ความไม่เท่ากันอันนี้ได้ก่อให้เกิด สังคมออนไลน์ที่ผู้ที่สนใจข้อมูลเหล่านี้ เข้ามาค้นหา พูดคุย ถกเถียง หรือแม้แต่นำไปปฏิบัติ นำไปใช้ต่อ คิดค้นศึกษาต่อ เพื่อให้ข้อมูลที่ได้มาพร้อม wisdom ที่ดี
การศึกษาแพทย์ ไปจนถึงการให้ความรู้ทางการแพทย์กับประชาชน จำเป็นต้องเล่นเกมนี้ จำเป็นต้องปรับตัว และใช้สื่อสังคมออนไลน์ รวมสามพลังคือ power of connections, power of broadcastings และ power of knowledge ให้มาเป็น wisdom ที่จะยกระดับการศึกษาแพทย์ให้ก้าวหน้าและทันเวลา ตามยุคสมัยที่เร็วมากและส่งข้อมูลไปถึงบุคลากรสาธารณสุข และประชาชน อย่างชาญฉลาด ถูกต้อง เร็ว ขอใช้นิยามรวมว่า "3C" คือ concise, correct และ cool
สื่อสังคมออนไลน์ที่เป็นที่นิยมในวงการแพทย์หรือนิยมสื่อสารมีมากมาย ขอแจงแต่ละข้อที่ใช้บ่อย ตามประสบการณ์ของผมเอง
1. FACEBOOK ด้วยเหตุที่เป็นสื่อสังคมที่คนสมัครสมาชิกมากที่สุด ไม่มีข้อจำกัด จึงสามารถสื่อสารได้เป็นวงกว้าง ด้วยการทำงานไม่กี่ครั้ง รูปแบบของโปรแกรมที่ใช้ง่าย เป็นมิตร มีส่วนเสริมมากมาย มีการพัฒนาต่อเนื่อง ทำให้เฟซบุ๊กเป็นที่นิยมมากของการสื่อสารวิชาแพทย์ หน่วยงานต่าง ๆ วารสารการแพทย์ หรือแม้แต่บรรดาผู้สร้างงานทั้งหลาย ใช้สื่อนี้มากที่สุด เพื่อเชื่อมเนื้อหาตัวเองกับผู้คน
เฟซบุ๊กสามารถสื่อสารได้ด้วยเนื้อหาหลากหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็น ภาพ เสียง วิดีโอ ข้อความ รวมไปถึงพลังขั้นสูงสุดคือการถ่ายทอดสดแบบเรียลไทม์ที่สื่อสารกับผู้คนได้ในเวลานั้น แพทย์ บุคลากร และประชาชนจึงนิยมเข้าร่วมในเฟซบุ๊กเพื่อสื่อสารมากที่สุด แต่ว่าเฟซบุ๊กก็มีข้อด้อย ข้อด้อยที่ว่าคือข้อเด่นของตัวเองสองประการ
ประการแรกคือ ปริมาณข้อมูลมหาศาล ใคร ๆ ก็นิยมใช้ จึงทำให้ข้อมูลเข้ามาและผ่านไปเร็วมาก เร็วจนบางครั้งเลยผ่านกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการ เร็วเกินกว่าที่ผู้อ่านจะเสพได้ทัน
ประการที่สองคือ เมื่อปริมาณผู้ใช้มาก ความเป็นสาธารณะสูงมาก ทำให้ความเป็นส่วนตัวลดลง ข้อมูลทุกอย่างที่เข้าสู่สื่อเฟซบุ๊ก จะแทบไม่เหลือความเป็นส่วนตัว ผู้ใช้จึงต้องระวังความรุกล้ำต่อตัวเองและบุคคลอื่นเสมอ ทั้งทางมารยาท และทางกฎหมาย
2. TWITTER ข้อความสั้น ๆ กระชับ ได้ใจความ ตรงความรู้สึก คือจุดเด่นมากของทวิตเตอร์ การสื่อสารที่ตรงจุดและสั้น ทำให้มีความเร็วและความคล่องตัวสูงมาก เนื้อหาทางการแพทย์ที่เปลี่ยนแปลงเร็วเช่นวารสารรายสัปดาห์ หรือ รายงานการประชุมชั่วโมงต่อชั่วโมง มักนิยมใช้ทวิตเตอร์ในการส่งข่าว ในยุคที่ความเร็วเป็นปัจจัยข้อมูลที่สำคัญ ทวิตเตอร์จึงได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น ในต่างประเทศจะมีฐานผู้ใช้สูงมาก โดยเฉพาะใช้ติดตามข่าวจากแหล่งข้อมูลการแพทย์ต่าง ๆ ที่มักจะสรุปสั้น ๆ และให้ลิ้งก์เพื่อค้นต่อ
ปัจจุบันทวิตเตอร์พัฒนาที่สามารถส่งข้อความ คลิปสั้น หรือถ่ายทอดสดสั้น ๆ เพื่อดึงความสนใจได้ดี แต่ว่าผู้ที่อ่านทวิตเตอร์จะต้องอ่านต่อเนื่องเพื่อเก็บข้อมูลให้ครบ สิ่งที่ได้จากทวิตเตอร์จะผ่านการปรุงแต่งหรือตัดทอนรวบยอดให้น่าสนใจ ไม่ใช่เนื้อหาที่แท้จริง หากเราเร็วเกินและละเลยเนื้อหา ทวิตเตอร์จะสื่อสารผิดพลาดได้ ข้อเสียอีกประการคือ ทวิตเตอร์เป็นที่นิยมในการส่งข้อมูล ผู้ส่งข้อมูลต้องมีความสามารถในการย่อความและทำให้น่าสนใจ เป็นทักษะที่หาได้ยาก ส่วนผู้อ่านก็มักจะเป็นฝ่ายรับข้อมูลอย่างเดียว การแลกเปลี่ยนหรือถกเถียงทำได้ยากและไม่ได้เป็นจุดเด่นของโปรแกรมนี้
3. YOUTUBE สื่อภาพและเสียงเคลื่อนไหวที่ได้รับความนิยมสูงมาก เพราะมีอิสระในการเผยแพร่ ปริมาณข้อมูลมหาศาล เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ดีมาก ในอนาคตความก้าวหน้าของระบบข้อมูลจะทำให้การส่งภาพและเสียงทำได้ไม่จำกัด ทำให้การสื่อสารแบบนี้อาจจะเป็นการเรียนแบบใหม่ของแพทย์ ในรูปแบบทางไกล (telecommunication) มีแหล่งข้อมูลมากมายและองค์กรมากมายที่ทำสื่อวิดีโอออกมาเผยแพร่ในสังคมยูทูป ไม่ว่าจะเป็นการสอน คลิปอธิบายสั้น ๆ ถือว่าน่าสนใจ
แต่สิ่งที่ท้าทายผู้ทำวิดีโอและใช้ยูทูปในการสื่อสารคือ ผู้ฟังผู้ดูสามารถเลือกดูอะไรก็ได้ด้วยการตัดสินใจของเขาเอง ผู้ทำต้องมีความสามารถสูงมากทั้งการสื่อสารตรงใจที่ต้องใช้ทักษะมากที่สุด มากกว่าข้อความ ภาพ หรืออินโฟกราฟิกใด ๆ และต้องใช้ความสามารถเชิงการทำวิดีโอ เงินทุนสำหรับอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อให้รายละเอียดออกมาดีและดึงดูดใจ นอกเหนือจากเนื้อหาที่ต้องถูกต้องและน่าสนใจเช่นกัน
4. INSTAGRAM สื่อที่เน้นภาพนี้ ออกแบบมาเพื่อสื่อสารด้วยภาพ โดยเฉพาะกับผู้มีชื่อเสียงในสังคม นักกีฬา นักแสดง ไม่ได้เน้นส่วนของเนื้อหาหรือการสื่อสารสองทางมากนัก ด้วยความที่เนื้อหาทางการแพทย์ ไม่สามารถถ่ายทอดได้ด้วยภาพเท่านั้น ทำให้การใช้อินสตาแกรมสื่อสารจะต้องใช้ภาพที่ดึงดูดความสนใจ ให้คลิ้กไปอ่านต่อหรือศึกษาต่อได้ ปัจจุบันเริ่มมีวารสารและองค์การ ใช้อินสตาแกรมสื่อสารข้อมูลทางการแพทย์ ด้วยหวังจำนวนผู้เข้าใช้ ผู้สมัครใช้อินสตาแกรมมากมายนี้ เพื่อเผยแพร่ช่องทางสื่อสารทางการแพทย์ แต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จมากนัก
5. Pinterest ส่วนมากสื่อทางการแพทย์ที่ใช้ช่องทางนี้จะเป็นสื่อภาพ infographic สื่อสารด้วยภาพที่เข้าใจง่าย สรุปข้อมูลด้วยความกระชับและสีสันน่าดึงดูดใจ องค์กรที่ใช้ (เป็นองค์กรเพราะส่วนมากบุคคลทั่วไปจะมีข้อจำกัดด้านการทำกราฟฟิกบ่อย ๆ) จะเป็นองค์กรที่สื่อสารวงกว้างเช่น องค์การอนามัยโลก สื่อ Pinterest มักจะใช้เพื่อสร้างความคิดแรงบันดาลใจ มากกว่าใช้สื่อสารความรู้ แต่หากสามารถทำเป็นอินโฟกราฟฟิกง่าย ๆ น่าจะตรงใจและเข้าถึง เพียงแต่สื่อนี้ยังไม่เป็นที่นิยมทั้งการเผยแพร่และการสืบหาข้อมูลทางการแพทย์
6. Direct Instant Messengers เช่น Line, Whatapps, Facebook Messengers เป็นช่องทางการสื่อสารเฉพาะคนหรือเฉพาะกลุ่มที่ดี สามารถเจาะกลุ่มคนที่สนใจ และสื่อสารโต้ตอบได้ง่าย นิยมใช้ในการติดต่อปรึกษาระหว่างกลุ่ม จะขาดประสิทธิภาพการสื่อสารในวงกว้าง และขาดความแพร่หลาย แต่จะรักษาความเป็นส่วนตัวได้ดีกว่า social media เล็กน้อย
ข้อมูลที่ผมเคยสำรวจจากพวกท่านว่าสื่อสังคมออนไลน์อย่างเพจนี้ พวกท่านได้อะไรจากเพจหรือต้องการอะไรจากเพจบ้าง
อันดับแรกคือ เพื่อเนื้อหาความรู้ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาใหม่ หรือเนื้อหาเดิมที่มาทบทวน ด้วยสภาพงานและภาระที่ไม่สามารถใช้เวลามากเพื่อศึกษาข้อมูลได้หมด การมีสื่อสังคมออนไลน์จะช่วยส่งเนื้อหาได้ดี หรือบางครั้งไม่สามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ได้ โดยเฉพาะวารสารและตำราทางการแพทย์ที่ราคาสูง การมีสื่อสังคมจะช่วยส่งข้อมูลบางส่วนมาถึงได้
อันดับสองคือ ความง่าย ผู้คนที่นิยมใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อข้อมูลทางการแพทย์ จะชอบข้อมูลที่เข้าใจง่าย เพราะมีเวลาในชีวิตน้อยลง หากมีสื่อที่สามารถเข้าใจได้ง่าย ไม่ใข้เวลามากนัก จะเป็นที่นิยมมากกว่า อีกอย่างคือเมื่อความรู้ในสังคมเปิดกว้าง ผู้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ ภาษาสื่อสารที่ง่ายต่อความเข้าใจจึงเป็นอีกประเด็นที่ผู้ทำสื่อต้องเข้าใจ
อันดับสามคือการสร้างแรงบันดาลใจ สื่อสังคมออนไลน์จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ต่อเนื่อง และถ้าผู้ทำสื่อวางเนื้อหาได้น่าค้นหาและกระตุ้นได้ดี คนที่ใช้สื่อจะเรียนต่อเนื่องเช่น มีลิ้งก์ให้ศึกษาต่อเมื่อสรุปเรียบร้อย เขียนความเห็นโต้ตอบและสืบค้นมาเพื่อโต้ตอบประเด็นนี้ ได้ความรู้เพิ่มและได้ทักษะการสืบค้นเพิ่มด้วย
ต้องยอมรับว่าวิธีการสืบหาข้อมูล การเข้าถึงข้อมูล เมื่ออำนาจมาอยู่ที่ตัวผู้ใช้งาน อินเตอร์เน็ตอยู่ในมือและควบคุมด้วยนิ้ว ผู้ทำสื่อ ผู้ทำเนื้อหาต้องปรับตัวเปลี่ยนแปลงเช่นกัน
แต่ประเด็นที่ต้องคิดถึง เรื่องราวที่เกิดมาพร้อมกับเทคโนโลยีและคลื่นความรู้ที่แผ่เข้ามาอย่างรวดเร็วก็มีไม่น้อยเช่นกัน
1. ความน่าเชื่อถือของข้อมูล เนื่องจากมีแหล่งข้อมูลมากมาย ทั้งแหล่งปฐมภูมิจากต้นกำเนิดข้อมูล จนถึงแหล่งจากสังคมออนไลน์ที่เป็นแหล่งทุติยภูมิหรือไปจนถึงตติยภูมิ เนื้อความในสังคมออนไลน์ที่ผ่านการเรียบเรียง ย่อความหรือแปลงเป็นอินโฟกราฟฟิกแล้ว จะไม่ได้มาจากต้นกำเนิด ดังนั้นต้องพิจารณาความน่าเชื่อถือ เช่น เพจอายุรศาสตร์ง่ายนิดเดียว ที่เรียบเรียงข้อมูลจาก หนังสือตำรา วารสาร และรวบรวบสรุป (เป็นแหล่งทุติยภูมิ) จะต้องดูว่าเพจนี้น่าเชื่อถือไหม ถึงแม้น่าเชื่อถือ ก็จะมาในรูปสรุปและเรียบเรียง หากต้องการข้อความแบบเต็ม ต้องไปค้นต่อ แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้แก่ สื่อสังคมออนไลน์ของหน่วยงานราชการ คณะแพทย์ สมาคมวิชาชีพ ทั้งไทยและต่างประเทศ
2. ลิขสิทธิ์ เนื่องจากผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้น มีลิขสิทธิ์ตั้งแต่ทำเสร็จโดยอัตโนมัติ การจะเผยแพร่ ทำซ้ำ จะต้องดูเงื่อนไขของแหล่งที่มาด้วย การคัดลอกหรือที่เรียกว่า ก็อปปี้และเพสต์ เกือบทั้งหมดละเมิดลิขสิทธิ์ การดาวน์โหลดเนื้อหาที่ไม่ได้รับอนุญาต ก็ผิดกฎหมาแล้วและหากมาเผยแพร่จะยิ่งผิดกฎหมายมากขึ้นไปอีก ผู้ผลิตสื่อ หรือคนที่จะแชร์ข้อมูล จะต้องระวังเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
3. ความเป็นส่วนตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องใบหน้า ชื่อ สิ่งแสดงเอกลักษณ์บุคคล ตามกฎหมายหากไม่ได้รับอนุญาตแล้วนำมาเผยแพร่ก็ผิดได้ และหากมีความเสียหายเกิดขึ้นจะยิ่งผิดมากขึ้น บางครั้งข้อมูลที่เผยแพร่เพื่อสอน เพื่อใช้ นำมาจากข้อมูลจริง จำเป็นต้องขออนุญาต และปกปิดหรือดัดแปลง อย่าให้แหล่งข้อมูลได้รับความอับอายเสียหาย
4. ประโยชน์ทับซ้อน เพื่อความโปร่งใส ควรประกาศเลยว่ามีหรือไม่มี ตามมาตรฐานวารสารหรือการศึกษาจะต้องมีการประกาศเสมอ ปกติก็ไม่ใช่ข้อห้ามหากไม่ละเมิดลิขสิทธิ์หรือทำให้เสื่อมเสีย สำหรับผลประโยชน์ที่อาจจะได้รับจากการโฆษณา การเผยแพร่ซ้ำ บางครั้งผู้เสพสื่ออาจจะสับสนและเป็นการชี้นำ ผู้ผลิตสื่อควรใช้ความระมัดระวังและประกาศให้ชัดเจน
5. bully การเปิดสาธารณะเพื่อสื่อสารในวงกว้าง บางครั้งอาจจะมีการวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบที่เป็นอันอับอายกับเนื้อหาหรือบุคคลได้ ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ ที่เรียกกันในวงออนไลน์ว่า "ดราม่า" คนที่อ่านหรือคอมเม้นต์ต้องระวัง คนที่ผลิตหรือแอดมิน ต้องควบคุมอย่าให้เป็นประเด็นสังคม ประเด็นวิจารณ์เพราะผู้ที่ถูกวิจารณ์ย่อมไม่สนุก
สำหรับคนที่จะก้าวเข้ามาทำสื่อสังคมออนไลน์ทางการแพทย์ ผมแนะนำให้ใช้ data analysis วิเคราะห์กลุ่มคนที่อ่าน กลุ่มคนที่สื่อสาร ว่าเราจะผลิตเนื้อหาเพื่อกลุ่มใด แบ่งสัดส่วนเนื้อหาให้เหมาะสมกับคนฟัง ไม่ได้หมายความว่าจะทำเพื่อคนส่วนมากแล้วละเลยคนส่วนน้อย เพราะเมื่อเราใช้เนื้อหาเหมาะสมและเพิ่มจำนวนคนอ่านคนดู พลังแห่งการส่งต่อจะเพิ่มผู้เข้ามาอ่านมากขึ้น ๆ
เวลาที่เหมาะสมในการเผยแพร่ ชนิดของเนื้อหาที่ได้รับความสนใจ เพื่อได้ประสิทธิภาพการผลิตเต็มที่ จะได้ไม่เหนื่อยและมีกำลังใจทำต่อไป สามารถใช้เครื่องมือของ facebook, google analytics, twitter ในการวิเคราะห์หรือใช้ความสามารถส่วนตัวในการวิเคราะห์ จ้างนักวิจัยข้อมูล .... แต่ผมไม่ได้ทำนะครับ เพราะไม่ได้หวังยอดทางการค้าหรือยอดติดตามเผยแพร่ ทำตามใจคนเขียน อันนี้เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีนะครับ หากตั้งใจจะสื่อสารการแพทย์อย่างจริงจัง เรื่องนี้จำเป็น
นอกเหนือจาก ใจสู้ ความรู้ดี มีทีมงาน เชี่ยวชาญทำสื่อ ยังจะต้องรู้จักกฎหมายเบื้องต้นด้วย พรบ.คอมฯ กฎหมายแพ่งว่าด้วยการละเมิด กฎหมายลิขสิทธิ์ และข้อกำหนดพื้นฐานของแต่ละสื่อ เพราะเราเล่นเกมของเขา ต้องทำตามกติกาของเขา ไม่ว่าจะเป็น facebook หรือ ยูทูป
บริษัทสื่อเหล่านี้ตั้งขึ้นมาเพื่อหาผลกำไร จะพยายามผลักดันเนื้อหาที่มีประโยชน์ต่อยอดกำไรตัวเอง เนื้อหาทางการแพทย์จะได้รับความสนใจน้อยกว่า การเมือง ความขัดแย้ง ดราม่า หรือแบล็คพิ้งค์แน่นอน ความสำคัญที่สุดที่จะสามารถสื่อสารโดนใจ และอยู่ในระยะยาวได้คือ เนื้อหาที่ต้องโดนใจอย่างที่กล่าวไว้ 3c
"Correct, Concise, Cool"
เนื้อหาจากงานประชุมแพทยศาสตร์ศึกษาครั้งที่ 20

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม